โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๗. พระมนูแถลงสาร (๒)

 

          ตราพระมนูแถลงสารนี้นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่แล้ว ยังพบว่า มีการใช้ตราพระมนูแถลงสารในเอกสารต่างๆ ของโรงเรียน เช่น เป็นตราหัวกระดาษ หรือแม้ในบัตรเชิญงานโรงเรียนก็ปรากฏตราพระมนูแถลงสารในบัตรนั้นด้วย

 

 

 

 

          นอกจากนั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฤดูหนาวที่สนามเสือป่าและวัดเบญจมบพิตรเพื่อเก็บเงินบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จางวางกรมช่างมหาดเล็กผู้รับผิดชอบจัดสร้างธงและรูปหล่อพระมนูแถลงสาร วาดรูปพระมนูอนุโมทนาพร้อมพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ “พระมะนูอนุโมทนา” ไปลงพิมพ์เผยแพร่ในดุสิตสมิต ฉบับที่ ๕ เป็นการทรงอนุโมทนาในนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

 

 

 

          นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตราประจำชาดเป็นตราสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมช่างมหาดเล็กจัดสร้างธงรูปพระมนูแถลงสาร เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำ ขนาด ๕๐ x ๕๒ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปพระมนูในเครื่องนุ่งห่มผ้าสีขาว มือถือใบลานนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงพระมนูแถลงสารนี้ให้เป็นธงประจำกองลูกเสือหลวงและเป็นธงประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ และในปีเดียวกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก ปั้นหล่อรูปพระมนูแถลงสารด้วยโลหะ พระราชทานให้มาประดิษฐานที่หอประชุมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งในเวลานั้นยังเป็นเรือนไม้หลังคาจาก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคณะจิตรลดาในปัจจุบัน

 

 

รูปหล่อพระมนูแถลงสารประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วที่ผนังกลางตึกวชิรมงกุฎ

 

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดและตึกครูตึกนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำซุ้มเรือนแก้วสำหรับประดิษฐานรูปหล่อพระมนูแถลงสารไว้ที่ใต้ถุนหอประชุมด้านทิศตะวันตก เหนือสถานที่ที่กำหนดให้เป็นที่ฝังศิลาพระฤกษ์โรงเรียน แต่จะได้เชิญรูปหล่อพระมนูแถลงสารไปประดิษฐานที่ซุ้มใต้ถุนหอประชุมนั้นหรือไม่ ในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัด คงมีแต่คำบอกเล่าของนักเรียนเก่าอาวุโส อาทิ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัย เรือเอก โรจน์ (บุญโรจน์) ไกรฤกษ์ ร.น. ซึ่งเล่าว่า ในสมัยที่ท่านเป็นนักเรียนนั้นรูปหล่อพระมนูแถลงสารประดิษฐานอยู่ที่ระเบียงชั้นบนหอประชุมด้านทิศตะวันออก (ฝั่งตรงข้ามพระวิสูตร) แล้วจึงย้ายไปประดิษฐานในซุ้มกลางตึกวชิรมงกุฎเมื่อก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งคงประดิษฐานอยู่ที่ตึกวชิรมงกุฎมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ตราพระมนูแถลงสารของวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          อนึ่ง แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้เจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงพร้อมกับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วก็ตาม วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงใช้ตรารูปพระมนูแถลงสารเป็นตราโรงเรียนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

พิมพ์เขียวเรือนพักเสือป่าและ “เรือนพระมนู” ที่พระราชวังสนามจันทร์

 

 

          นอกจากเรื่องของพระมนูแถลงสารดังได้กล่าวแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เรือนพระมนู” เป็นเรือนยาวชั้นเดียวปลูกสร้างด้วยไม้เป็นที่พักลูกเสือหลวงและนักเรียนเสือป่าหลวงในระหว่างตามเสด็จไปซ้อมรบที่พระราชวังสนามจันทร์ โดยเรือนพระมนูนี้ตั้งอยู่ริมถนนเส้นที่ตัดตรงจากสถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์ไปยังพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เมื่อก้าวเข้าสู่เขตพระราชวังสนามจันทร์ก็จะถึงเรือนนี้ทางฝั่งซ้ายของถนน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเรือนพักเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์บางหลัง รวมทั้งเรือนพระมนู เพื่อนำไม้ไปใช้ในการก่อสร้างวังไกลกังวล และในสมัยที่พระยาภะรตราชาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้สร้างศาลาไว้ที่ริมรั้วคณะเด็กเล็ก ๓ (คณะสราญรมย์) ติดกับที่ว่าการอำเภอดุสิต (สำนักงานเขตดุสิต) เป็นที่ฝึกซ้อมของวงเมโลดิก้า เรียกชื่อศาลานี้ว่า “เรือนพระมนู ๒”

 

          ต่อมาในสมัยที่คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติให้โรงเรียนจัดระเบียบสีประจำคณะที่ยังลักลั่นให้ลงระเบียบเมื่อตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นก็ได้จัดสร้างธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาบ ลายกลางเขียนสีเป็นรูปพระมนูแถลงสารเป็นธงประจำโรงเรียนด้วย

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |