โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓. ระเบียบการวชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

 

ภาพหมู่คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สมัยพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นผู้บังคับการ

 

 

          "ค่าธรรมเนียมของโรงเรียน กำหนดดังนี้

               (ก) ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ลงมา เดือนละ ๒๐ บาท

               (ข) ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ เดือนละ ๒๕ บาท
               (ค) สูงกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๖ เดือนละ ๓๐ บาท

 

               ค่าธรรมเนียมเก็บเปนรายภาคโดยอัตราดังนี้

               ภาคต้น สำหรับตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ลงมา ๗๕ บาท ชั้นมัธยมปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ เก็บ ๙๓ บาท ๗๕ สตางค์ สูงกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๖ เก็บ ๑๑๒ บาท ๕๐ สตางค์

               ภาคกลาง อัตราเดียวกับภาคต้น

               ภาคปลาย สำหรับตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ลงมา ๕๕ บาท ชั้นมัธยมปีที่ ๔ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ เก็บ ๖๘ บาท ๗๕ สตางค์ สูงกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๖ เก็บ ๘๒ บาท ๕๐ สตางค์

               พี่น้องร่วมบิดา ถ้าเข้าเรียนตั้งแต่แผนกรุ่นเล็ก (คือภายในอายุที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ ก. และ ข.) ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ลดค่าเล่าเรียนคนหนึ่งร้อยละ ๑๐

               โดยเหตุที่โรงเรียนนี้หวังค่าธรรมเนียมสำหรับใช้จ่ายเปนค่าอยู่กินของนักเรียนเอง จึงจำต้องกำหนดให้ส่งล่วงหน้าเปนรายภาคก่อนนักเรียนเข้าเรียน เงินค่าธรรมเนียมนี้ แม้นักเรียนคนใดไม่มาในวันเปิดภาค หรือเรียนไม่เต็มภาคโดยเหตุใดๆ ก็ดี เปนอันต้องเสียค่าธรรมเนียมเต็มภาค

 

          ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด นอกจากค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วในข้อ ๕ ยังมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเล็กน้อยดังต่อไปนี้
               (ก) ค่าบำรุงห้องสมุดและการกีฬา ปีละ ๖ บาท ส่งเปนรายภาคๆ ละ ๒ บาท
               (ข) ค่าใช้จ่ายสำหรับตัว (Pocket Money) สำหรับนักเรียนรุ่นเล็ก สัปดาหละ ๕๐ สตางค์ สูงกว่านั้น สัปดาหละ ๗๕ สตางค์ ครูผู้กำกับคณะเปนผู้จ่ายให้

               (ค) ค่าซักฟอก ตามซักมากและน้อย

               (ง) ค่าเล่าเรียนพิเศษเฉภาะตัวนอกเวลาเรียน (Private Tuition) ในวิชชาที่อ่อน หรือวิชชาที่ต้องการเรียนเปนพิเศษ แล้วแต่จะตกลงกับผู้คับการ

               (จ) ค่าสมุดหนังสือ ตามที่จะใช้มากและน้อย

               (ฉ) ค่าเครื่องนุ่งห่ม เผื่อขาดเหลือตามที่จำเปน

               ด้วยเหตุที่มีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดดังนี้ เพื่อความสะดวก จึงกำหนดให้ผู้ปกครองมอบเงินไว้แก่โรงเรียนพร้อมกับค่าธรรมเนียมดังนี้

               สำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ลงมา ภาคต้น ๓๐ บาท ภาคกลาง ๓๐ บาท ภาคปลาย ๒๕ บาท

               สำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ขึ้นไป ภาคต้น ๔๐ บาท ภาคกลาง ๔๐ บาท ภาคปลาย ๓๐ บาท
การใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ เมื่อสิ้นภาคหนึ่งๆ โรงเรียนจะได้แสดงบัญชีใช้จ่าย ถ้าเหลือก็จะได้คืนให้ ถ้าไม่พอ โรงเรียนต้องทดรองไปก่อนเท่าไร ผู้ปกครองต้องส่งใช้ให้เร็วที่สุด อย่างช้าพร้อมกับเวลาส่งค่าธรรมเนียมภาคใหม่


          ทุนเล่าเรียน ในสัปดาหต้นของเดือนพฤษภาคม จะจัดให้มีการแข่งขันทุนเล่าเรียนของโรงเรียนทุกปี หลักสูตร์วิชชาสูงกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๖ ของกระทรวงธรรมการเล็กน้อย นักเรียนที่สมัคเข้าสอบ ต้องมีอายุนับถึงเข้าสอบในศกนั้นไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์ และสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ ของกระทรวงธรรมการมาแล้ว กับต้องยื่นใบสมัคต่อผู้บังคับการภายในวันที่ ๓๐ เมษายน ทุกปีไป แบบใบสมัคขอที่ผู้บังคับการ ผู้ที่สอบไล่ได้ที่ ๑ และที่ ๒ เปนอย่างเยี่ยม จะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมของโรงเรียน ผู้ที่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเช่นนี้ ถ้าปรากฏว่าเรียนไม่ดี กล่าวคือสอบเลื่อนชั้นไม่ได้ในปีหนึ่งๆ หรือประพฤติไม่ดี โรงเรียนจะงดการยกเว้นทุนเล่าเรียนของโรงเรียนเสีย

            นอกจากนี้ จะมีการสอบไล่แข่งขันสำหรับผู้ที่อยู่ในโรงเรียนแล้ว ผู้ที่สอบไล่ได้ที่ ๑ เปนอย่างเยี่ยมในชั้นหนึ่งๆ จะได้ลดค่าธรรมเนียมโรงเรียนเดือนละ ๕ บาท เฉภาะปีหนึ่ง

 

          เครื่องแต่งตัวของนักเรียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ดังนี้

               (ก) หมวกหนีบสักหลาดสีน้ำเงิน ตืดอุณาโลมพระมหามงกุฎเงินทางขวา และติดดุมพระมหามงกุฎเงินขนากเล็กที่หน้าหมวก ๒ ดุม

               (ข) แผ่นคอกำมะหยี่สีน้ำเงิน มีแถบเงินกว้าง ๑ เซนติเมตร พาดตามยาวของแผ่นคอ ๑ เส้น และติดอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. มีพระมหามงกุฎเงินกลางแผ่นคอ ทับแถบเงินทั้งสองข้าง

               (ค) เสื้อชั้นนอกขาวแบบราชการ ใช้ดุมพระมหามงกุฎเงิน

               (ง) กางเกงสีน้ำเงินขาสั้นเพียงกึ่งกลางเข่า

               (จ) ถุงเท้าดำยาว

               (ฉ) รองเท้าหุ้มส้นหนังดำ

 

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
นายกสภากรรมการจัดการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

 

 

          ภายหลังจากสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้ออกประกาศระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (สังเขป) เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ต่อมาวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ออกประกาศระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (สังเขป) แก้ไขเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง มีความดังนี้

 

 

"ประกาศระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (สังเขป)
แก้ไขเพิ่มเติม
 

-------------------------

 

          ด้วยบัดนี้สภากรรมการจัดการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๓ แห่งประกาศระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (สังเขป) ลงวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งว่าด้วยเกณฑ์ที่จะรับนักเรียนนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สมความมุ่งหมายยิ่งขึ้น จึงให้ยกเลิกข้อ ๓ ที่ว่านั้น และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
          "๓ เกณฑ์ที่จะรับนักเรียนเข้าเรียนนั้น คือ

               (ก) รับเด็กตั้งแต่อายุ ๑๒ ปีบริบูรณ์ ถึง ๑๔ ปีบริบูรณ์ ซึ่งสอบวิชชาชั้นต้นของโรงเรียนได้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีบริบูรณ์ ไม่รับอีกต่อไป

               (ข) นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนราชวิทยาลัย แม้มีอายุเกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์ แต่มีความรู้สมแก่อายุตามเกณฑ์ของโรงเรียนก็รับ

 

 

นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ คณะปรีชานุสาสน์ (ผู้บังคับการ) พ.ศ. ๒๔๗๔
(จากซ้าย) ๑. ม.ร.ว.ศุภผล นันทวัน ๒. วิวรรธน์ ณ ป้อมเพ็ชร ๓. บุญยง ศิริจรรยา ๔. ทน จารุศร
๕. ม.ล.เจตน์ สุทัศน์ ๖. เล็ก อเนกบุญ ๗. จินดา เกตุปัญญา ๘. สาโรช สุวรรณสุทธิ

 

 

          เกณฑ์ความรู้ที่โรงเรียนถือว่าสมแก่อายุนั้นคือ

               อายุเกิน ๘ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๙ ปีบริบูรณ์ ต้องได้อยู่ในชั้นประถมปีที่ ๒ เปนอย่างต่ำ

               อายุเกิน ๙ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๑๐ ปีบริบูรณ์ ต้องได้อยู่ในชั้นประถมปีที่ ๓ เปนอย่างต่ำ

               อายุเกิน ๑๐ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๑๑ ปีบริบูรณ์ ต้องได้อยู่ในชั้นมัธยมปีที่ ๑ เปนอย่างต่ำ

               และเปนลำดับขึ้นไปจนถึงอายุเกิน ๑๗ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๑๘ ปีบริบูรณ์ ต้องได้อยู่ในชั้นมัธยมปีที่ ๘

 

               นักเรียนที่ไม่มีความรู้สมแก่อายุตามเกณฑ์ที่กล่าวมานี้ จะเข้าหรือจะอยู่ต่อไปในโรงเรียนไม่ได้ นอกจากผู้บังคับการเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็อนุญาตให้ผู้บังคับการเขยิบเขตต์อายุขึ้นได้ปีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ไม่อนุญาตให้นักเรียนคนใดอยู่ในโรงเรียนจนอายุเกิน ๑๙ ปีบริบูรณ์เปนอันขาด

               เขตต์อายุนับถึงวันที่ ๑ มกราคม

               การสอบไล่วิชชาชั้นต้นของโรงเรียนนั้น จะสอบที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในเดือนธันวาคม จะเริ่มสอบวันเวลาใดจะประกาศให้ทราบเปนปีๆ ไป ผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะส่งนักเรียนเข้าสอบไล่ ต้องส่งใบแจ้งความให้ผู้บังคับการทราบล่วงหน้าก่อนวันกำหนดสอบไล่ ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน

               นักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่หัวเมือง ถ้าไม่สะดวกที่จะมาสอบไล่ที่โรงเรียน ยอมผ่อนผันให้สอบ ณ จังหวัดที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ได้ แต่ผู้ปกครองต้องแสดงความประสงค์ให้ ผู้บังคับการทราบ พร้อมกับใบแจ้งความบอกล่วงหน้าที่จะส่งนักเรียนเข้าสอบไล่ ผู้บังคับการจะได้ส่งข้อสอบไปขอให้เจ้าหน้าที่ศึกษา ณ จังหวัดนั้นๆ ช่วยจัดการสอบแทนโรงเรียน แต่การตัดสินใจโรงเรียนเปนผู้ตัดสินเอง

               ผู้ที่ขอสอบ ณ จังหวัดที่ตนตั้งภูมิลำเนาอยู่ ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้โรงเรียน ๑๐ บาท และส่งพร้อมกับใบแจ้งความที่ว่าข้างต้น

               วิชชาชั้นต้นที่จะสอบนั้น เพียงให้พื้นความรู้เสมอการสอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของกระทรวงธรรมการ นักเรียนที่สอบไล่ได้จะได้เข้าชั้นมัธยมปีที่ ๔ ของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทีเดียว

               อนึ่งด้วยเหตุที่นักเรียนสมัคสอบวิชชาชั้นต้น คงมีอายุและความรู้ต่างกัน จึงจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความรู้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อมีหวังที่จะได้เข้าชั้นสูงๆ โดยวิธีดังนี้ คือ กระดาษข้อสอบวิชชาหนึ่งๆ จะให้มีข้อสอบสูงกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๓ จำนวนราวครึ่งหนึ่ง และมีกระดาษข้อสอบพิเศษในวิชชาพีชคณิต, ยีออเมตรี, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทยอีกด้วย แต่ว่าจำนวนข้อสอบในวิชชาหนึ่งๆ เพียงพื้นความรู้ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ก็มีจำนวนพอที่นักเรียนจะสอบไล่ได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเปนต้องทำหมดทุกข้อ และข้อสอบพิเศษ ก็ไม่จำเปนต้องทำนอกจากตนสมัค ในการตัดสินจะได้เอาอายุเข้าพิจารณาด้วย

                กำหนดรับนักเรียนเข้าใหม่ ภาคมาฆะบูชาซึ่งนับเปนภาคต้นปีของโรงเรียน"

 

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๙

มหาเสวกโท พระยาไพศาลศิลปสาตร์

ลงนามแทนนายกกรรมการจัดการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" 

 

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |