โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๐. ดนตรีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          “ชนใดไม่มีดนตรีกาล

ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ

เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์

ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก

มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี

อีกดวงใจย่อมดำสกปรก

ราวนรกเช่นกล่าวมานี่

ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้

เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ”

 

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เวนิสวานิช

 

 

          ในประเทศไทยพบหลักฐานว่า มีการขับลำนำ และร้องเล่น วรรณคดีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในขณะที่ "ไตรภูมิพระร่วง" ได้กล่าวถึงวงดนตรีไทยว่า ประกอบไปด้วย ฆ้อง กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอ ปี่ไฉน ระฆัง กรับ และกังสดาล ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงพบหลักฐานว่า วงปี่พาทย์ที่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้าเหมือนเช่นสมัยกรุงสุโขทัย แต่เพิ่มระนาดเอกเข้าไป นับแต่นั้นวงปี่พาทย์จึงประกอบด้วย ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนวงมโหรีพัฒนาจากวงมโหรีเครื่องสี่ เป็นมโหรีเครื่องหก เพิ่มขลุ่ย และรำมะนา รวมเป็นมี ซอสามสาย กระจับปี่ ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง เป็นพื้น

 

 

แตรฝรั่งในการพระราชพิธี

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เครื่องดนตรีสากลหรือ “แตรฝรั่ง” จึงได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในกรุงศริยุธยาเป็นครั้งแรก ดังที่วิศิษฎฺ จิตรรังสรรค์ [] ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ประวัติกำเนิดแตรเดี่ยว และการใช้ประโยชน์ในกรุงสยาม” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “แตรวง” ว่า

 

“แตรฝรั่งเข้ามาสู่สยามตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช .ศ. ๒๓๙๙ - ๒๒๓๑) มีการพบบันทึกการเรียกชื่อแตรฝรั่งที่ใช้ในพระราชพิธีของราชสำนักไทยในตอนนั้นว่า “แตรวิลันดา” (สุกรี เจริญสุข ๒๕๓๐)... แตรฝรั่งในยุคนั้นจะเป็น Natural Trumpet ในสมัยนั้นผู้เล่นทรัมเป็ตจะเป็นนักดนตรีในราชสำนัก แบ่งออกเป็นสองพวก คือ พวกนักดนตรีกับพวกที่ไม่ใช่นักดนตรี พวกนักดนตรีจะเล่นเพลงที่มีโน๊ตและเข้าร่วมในวงดนตรี

 

 

พลแตรเป่าแตรสัญญาณ

 

 

ส่วนที่ไม่ใช่นักดนตรีจะเล่นแตรสัญญาณ คนเป่าแตรสัญญาณในสนามรบจะอยู่ใกล้ผู้บัญชาการรบ เพื่อรับคำสั่งให้เป่าสัญญาณให้ทหารทำตาม (Tarr 1988)”  []”

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเครื่องดนตรีแตรวงไว้ชุดหนึ่ง แต่ไม่มีการใช้งาน จน Frederich Albrech zu Eullenberg ราชทูตปรัสเซียเข้ามา
เจริญทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. ๒๔๐๕ พร้อมด้วยแตรวงทหารเรือปรัสเซียที่มาพร้อมกับเรือรบ ซึ่งได้มีโอกาสแสดงถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง

 

 

ยาคอบ ไฟฟ์

 

 

          ในระหว่างที่กองแตรวงทหารเรือปรัสเซียคงพำนักอยู่ในกรุงสยามนั้น นายฟริส (Feiez) ครูแตรวงได้อาสาฝึกสอนทหารไทยให้เป่าแตรด้วยเพลงของเยอรมันได้ถึง ๓ เพลง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๙ นายยาคอบ ไฟท์ (Jacob Veit) ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันได้เข้ามารับราชการเป็นครูแตรทหารวังหน้า ได้ฝึกสอนนายทหารไทยให้มีความรู้ความสามารถในการเป่าแตรสัญญาณและบรรเลงแตรวงขนาดย่อม โดยมีศิษย์ที่ปรากฏชื่อในสาส์นสมเด็จ คือ ครูตั้ง ครูกรอบ ครูเลิงเชิง และหม่อมราชวงศ์ชิต เสนีวงศ์ เป็นศิษย์เอกที่สามารถเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี เขียนโน๊ตสากลได้อย่างคล่องแคล่ว และปฏิบัติงานแตรได้เป็นเลิศ

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ขึ้นในปีเดียวกันนั้น โดยทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ผู้บังคับการกรมทหารนั้นด้วยพระองค์เอง จนมีพระราชกิจน้อยใหญ่มากขึ้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ดำรงจำแหน่งผู้บังคับการกรมแทนพระองค์ แต่คงทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษของกรมทหารนี้ต่อมาจนสิ้นรัชกาล

 

 

นายพันโท พระวาทิตบรเทศ (ม.ร.ว.ชิต เสนีวงศ์)

นายแตรวงกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

 

 

          ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “แตรวง” [] ขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลภรักษาพระองค์ [] โปรดเกล้าฯ ให้นายร้อยตรี พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร [] เป็นผู้บังคับกองแตรวงเป็นพระองค์แรก และจ่านายสิบ ม.ร.ว.ชิต เสนีวงษ์  [] เป็นนายแตรวง แตรวงทหารมหาดเล็กราชวัลลถรักษาพระองค์นี้คงมีหน้าที่บรรเลงนำแถวทหารและบรรเลงรับเสด็จในโอกาสต่างๆ จนเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงโอนย้ายไปสังกัดจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ แล้วพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นกองดุริยางค์ทหารบกและกรมดุริยางค์ทหารบกในปัจจุบัน

 

 

แตรวงกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ในงานสวนสนามถวายชัยมงคลของลูกเสือและนักเรียนเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

ณ ท้องสนามหลวง วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากองเสือป่าและลูกเสือเป็นกองกำลังสำรองของชาติขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม และ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพลแตรประจำในกองร้อยเสือป่าและลูกเสือ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการกรมมหรสพซึ่งเป็นเสือป่าฝึกหัดเครื่องดนตรีสากลจนจัดเป็นแตรวงกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ ทำหน้าที่บรรเลงนำแถวเสือป่าและลูกเสือและบรรเลงเพลงเคารพในโอกาสสำคัญต่างๆ มาเป็นลำดับ

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กองลูกเสือหลวงที่หน้าท้องพระโรงวังวรดิศ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖

(แถวหน้า)

๑. ครูหลวงหัดดรุณพล (จ้อย พลทา) ครูวิชาทหารและผู้ช่วยผู้กำกับลูกเสือ

  ๔. พระยาโอวาทวรกิจ (ศร ศรเกตุ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีเข้าประจำกองเป็นกองขึ้นสมทบในกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศกองลูกเสือกองแรกของประเทศสยามนี้เป็น “กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์)” เฉกเช่นกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกรมทหารบกกรมแรกของประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อแตรเดี่ยว ๔ คัน พระราชทานแก่กองลูกเสือหลวง นับเป็นเครื่องดนตรีสากลชุดแรกของโรงเรียน

 

 
 
 

 

[ ]  นักศึกษาหลักสูตรดุษฎีบะณฑิตศึกษา สาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิล) มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ประจำสาขาดนตรีศึกษาและการสอน วิทยาลัยดุริยางคศิล) มหาวิทยาลัยมหิดล

[ ]  วิศิษฎฺ จิตรรังสรรค์. “ประวัติกำเนิดแตรเดี่ยว และการใช้ประโยชน์ในกรุงสยาม”, แตรวง, หน้า ๒๗.

[ ]  วงดนตรีซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่าทองเหลืองจำพวกแตร และเครื่องตี เช่น กลอง

[ ]  ปัจจุบันคือ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

[ ]  ต่อมาได้ระบพระราชทานเฉลิมพระยศฌป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานถภาพ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพันตรี พระวาทิตบรเทศ

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |