โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๑. ดนตรีในวชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

          นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) และนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงชิวห์ บุนนาค อดีตพลแตรของกองลูกเสือหลวงเล่าไว้ตรงกันว่า ทุกเย็นวันจันทร์และวันศุกร์เมื่อรับประทานน้ำชาตอนบ่ายหลังเลิกเรียนแล้ว คุณครูหลวงหัดดรุณพล (จ้อย พลทา) ผู้กำกับจะเรียกแถวลูกเสือหลวง แล้วนำเดินออกจากโรงเรียนโดยมีพลแตรทั้งสี่ของกองลูกเสือหลวงทำหน้าที่เป่าเพลงเดิน ซึ่งท่านเรียกกันว่า “เพลงลอยลม” เพราะเป่ากันไปตามอารมณ์ของคนเป่า เมื่อแถวลูกเสือหลวงเดินมาถึงหน้าทิมดาบกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่ประจำอยู่ที่พระราชวังดุสิต คุณครูหลวงหัดดรุณพลห็จะสั่งให้แถวลูกเสือหลวงทำแลขวาคำนับธงไชยเฉลิมพลกรมทหารมหาดเล็กฯ ที่เชิญมาประจำอยู่ที่กองรักษาการ แล้วจึงไปตั้งแถวรอรับเสด็จพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สนามหน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิต และรอส่งเสด็จเมื่อเสร็จการเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิตเสร็จแล้ว
เพลงลอยลมของพลแตรล๔กเสือหลวงนั้นจะมีท่วงทำนองอย่างไรท่านทั้งสองมิได้เล่าไว้ เพียงแต่เล่าไว้ว่า เพลงลอยลมของลูกเสือหลวงนั้นคงจะไปสะดุดหูพลแตรของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ซึ่งประจำรักษาการณ์อยู่ที่พระราชวังดุสิต วันหนึ่งจึงมีนายทหารจากกรมทหารมหาดเล็กฯ ตามมาถึงโรงเรียนเพื่อขอต่อเพลงลอยลมไปใช้ในราชการด้วย

 

 

ท่านผู้บังคับการะยาภะรตราชา กับครูประดิษฐ์ คล่องสู้ศึก

และวงโยธวาทิตวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวงในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว ก็ยังไม่พบว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งแตรวงขึ้นในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง อาจจะเป็นเพราะในเวลานั้นนักเรียนทั้งโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๘ มีจำนวนราว ๑๕๐ คนเท่านั้น และคงจะไม่มีนักเรียนชั้นโตมากพอที่จะฝึกหัดเครื่องดนตรีและจัดรวมเป็นวงแตรวงได้ และแม้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วก็ตาม จำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นไม่มากนัก จึงไม่ปรากฏว่ามีการจัดตั้งวงดนตรีขึ้นในวชิราวุธวิทยาลัย ตราบจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดสอนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะวชิราวุธวิทยาลัยเป็นเพียง ๑ ใน ๒๐ กว่าโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมปลลาย ประกอบกับท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ตระหนักดีว่า ในการอบรมนักเรียนให้เป็นผู้ดี มีศาสนา และเป็นสุภาพบุรุษตามแนวพระบรมราโชบายของพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยทุกพระองค์นั้น จำจะต้องขัดเกลาจิตใจของนักเรียนให้อ่อนโยน ซึ่งการดนตรีนอกจากจะช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายจากการเรียนวิชาการในห้องเรียนแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกล่อมเกลาจิตใจของนักเรียนอีกทางหนึ่งด้วย

 

          ท่านผู้บังคับการจึงได้ขออนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนจัดหาเครื่องดนตรีสากล ทั้งเครื่องลมไม้ เครื่องทองเหลือง และเครื่องกระทบมาให้นักเรียนได้ฝึกหัดเครื่องดนตรีจริง โดยขอสิบเอก ประดิษฐ์ คล่องสู้ศึก (ยศในขณะนั้น) ครูดนดนตรีของกองดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ ๑ มาเป็นผู้ฝึกสอนนักเรียนในช่วงเวลาบ่ายหลังเลิกเรียน โดยมีนักเรียนเก่าพรานหลวง โฉลก เนตรสูตร หัวหน้าวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดีเป็นผู้ควบคุมการฝึกสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐

 

 

ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า

 

 

          ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบัญชาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชประเพณีการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ขึ้นมาอีกครั้ง คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้เสื่อมคลายก็ได้พร้อมกันไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ณ พระลานพระราชวังดุสิตเช่นที่เคยปฏิบัติมาในรัชกาลก่อนๆ รวมทั้งได้ไปถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งรัฐบาลจัดสร้างขึ้นใหม่ ณ พระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินีในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต โดยมีวงโยธวาทิต (Military Band) ในความควบคุมของครูประดิษฐ์ คล่องสู้ศึก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวงโยธวาทิตนักเรียนวงแรกของประเทศไทยเดินนำแถวนักเรียนทั้งโรงเรียนไปในการนั้นๆ

 

 

วงโยธวาทิตในงานและครูประดิษฐ์ คล่องสู้ศึก ที่สนามหน้า

 

 

          นอกจากวงโยธวาทิตวชิราวุธวิทยาลัยจะได้บรรเลงนำแถวนักเรียนไปถวายบังคมและไปในงานต่างๆ ของโรงเรียน ยังได้รับเชิญไปบรรเลงนำแถวลูกเสือโรงเรียนต่างๆ ที่มาร่วมสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ๑ กรกฎาคม และบรรเลงนำนักกีฬาชาติต่างๆ เข้าสู่สนามในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง และกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่จัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัยเป็นประจำแล้ว เมื่อโรงเรียนจัดให้นักเรียนฝึกหัดเครื่องสายสากล เช่น ไวโอวิน วิโอลา ดับเบิลเบส จนมีความสามารถแล้ว ก็ได้รวบรวมนักดนตรีประเภทเครื่องสายกับนักดนตรีบางส่วนจากวงโยธวาทิตจัดเป็นวงจุลดุริยางค์ (Symphony Orchestra) นักเรียนวงแรกของประเทศไทยด้วย

 

 

พระเจนดุริยางค์

(ปิติ วาทยกร)

พระยานรเทพปรีดา

(จำเริญ สวัสดิ์ - ชูโต)

 

 

          เมื่อแรกจัดตั้งวงจุลดุริยางค์ขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟฟ์) บุตรของยาคอบ ไฟท์ อดีตครูแตรวงทหารบกมาเป็นครูสอนดนตรีประจำวงจุลดุริยางค์ แต่พระเจนดุริยางค์ทนความดื้อและซุกซนของนักเรียนไม่ไหวจึงมาสอนได้ไม่นาน ท่านผู้บังคับการจึงได้เชิญพระยานรเทพปรีดา (จำเริญ สวัสดิ์ - ชูโต) อดีตเลขาธิการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักไวโอลินผู้มีความสามารถมาเป็นผู้ฝึกสอนแทน และได้จ้างครูดนดนตรีจากกองดุริยางค์ทหารบกมาช่วยสอนต่อๆ กันมา

 

 

วงจุลดุริยางค์บรรเลงในงานพิธีบนหอประชุม

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ทอดพระเนตรการบรรเลงดนตรีของวงจุลตุริยางค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปบรรเลงถวาย

ในงานวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกร บดินทรเทพยวรางกูร)

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

 

 

          วงจุลดุริยางค์นอกจากจะได้บรรเลงในการพิธีต่างๆ บนหอประชุมของโรงเรียน เช่น บรรเลงเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี และเพลงวรรเสริญบทพระสุบิน (สรรเสริญเสือป่า) ในเวลาเปิดและปิดพระวิสูตรพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวแล้ว ยังได้บรรเลงประกอบการขับร้องเพลงต่างๆ ของนักเรียน รวมทั้งรับเชิญไปบรรเลงทางสถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต และงานอื่นๆ ที่ได้รับเชิญเป็นประจำ

 

          เนื่องจากข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และราคาที่สูงมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องดนตรีที่โรงเรียนจัดหามาในยุคแรกตั้งวงโยธวาทิตนั้น จึงมีคุณภาพตามราคา เมือนักเรียนซึ่งเป็นนักดนตรีสมัครเล่นนำไปบรรเลงนำแถวนักเรียนจึงทำให้เสียงดนตรีมักจะผิดเพี้ยน จึงมักจะปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมราชูปถัมภก ทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระราชกระแสทรงทักท้วงให้ปรับแต่งเสียงเครื่องดนตรีอยู่เสมอๆ

 

 
 
 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |