โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๔. ครูแม่บ้านและครูสตรี (๑)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองประเทศจากระบบเสนาบดีจตุสดมภ์มาเป็นระบบกระทรวงเสนาบดีเช่นเดียวกับนานาแรยประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แล้ว ก็ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า การบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถออกรับราชการให้ทันกับการพัฒนาประเทศนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น นอกจากจะทรงดำเนินพระราชกรณียกิจทางการทูตเพื่อทรงแสวงหาการยอมรับเอกราชของชาติสยามขากชาติมหาอำนาจยุโรปแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรการจัดการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว จึงทรงอาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส [] เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา ทรงเป็นประธาน “จัดวัดเป็นโรงเรียนทั่วพระราชอาณาเขต ยกแต่เมืองมลายู  [] หวังใจว่าจะเป็นการสำเร็จได้ โดยอาศัยประเพณีโบราณและความนิยมของไทย โรงเรียนคงจะเกิดขึ้นได้ปีละหลายๆ ร้อยโดยไม่สู้ต้องเสียอะไรมาก”  [] เพราะระบบการศึกษาไทยแต่โบราณมา กุลบุตรได้อาศัยเล่าเรียนอยู่กับวัดโดยมีพระภิกษุเป็นผู้สั่งสอนสืบต่อกันมา ส่วนกุลสตรีนั้นถูกจำกัดให้อยู่กับเหย้าเรือนจึงได้เรียนรู้แต่วิชางานบ้านงานเรือนกันเป็นพื้น จนมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อสนับสนุนการสอนศาสนา คณะมิชชันนารีจึงได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรและกุลสตรีขึ้นในประเทศไทยก่อน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แต่นักเรียนในโรงเรียนนี้ก็ล้วนเป็นพระบรมวงศ์และบุตรขุนนางเป็นพื้น กส่วนกุลบุตรชาวไทยทั่วไปก็ยังคงอาศัยเล่าเรียนอยู่ตามวัดตามขนบโบราณต่อมา

 

          ต่อมาวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออก “ประกาศพระราชดำริในการจัดการศึกษา” โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีสาระที่สำคัญคือ ทรงอาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงเป็นพระธุระอำนวยการให้พระภิกษุสงฆ์จัดการเล่าเรียนในวัดตามหัวเมืองทุกพระอารามทั่วพระราชอาณาจักรยกเว้นหัวเมืองมลายูที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กับได้โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ [] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ทำนุบำรุงอุดหนุนในกิจที่ฝ่ายฆราวาสพึงกระทำให้การเล่าเรียนในหัวเมืองให้ดำเนินไปโดยสะดวก

 

          เมื่อทรงอาราธนาคณะสงฆ์ให้จัดโรงเรียนจัดขึ้นในวัดทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนราชินี และในเวลาเดียวกันกระทรวงธรรมการก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสตรีวิทยาเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทยสำหรับกุลสตรี

 

          เนื่องจากค่านิยมของสังคมไทยในยุคนั้น ที่เห็นว่าการที่ปล่อยให้นักเรียนชายหญิงเรียนในโรงเรียนเดียวกันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาชู้สาวก่อนวัยอันควร การจัดการเรียนการสอนสำหรับกุลบุตรและกุลสตรีจึงแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เป็นโรงเรียนชายล้วนมีครูชายล้วนเป็นผู้สอน ส่วนโรงเรียนสตรีสำหรับกุลสตรีก็มีเฉพาะครูสตรีเท่านั้น ต่อมาเมื่อกระทรวงธรรมการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ กำหนดโครงสร้างการศึกษาไทยเป็น ประถม มัธยม และอุดมศึกษาแล้ว กระทรวงธรรมการจึงยินยอมให้นักเรียนสตรีเข้าเรียนในโรงเรียนประถมร่วมกับนักเรียนชาย โดยมีครูเป็นสตรีเป็นหลัก มีครูชายมาสอนในบางวิชา เมื่อนักเรียนนั้นเลื่อนขึ้นไปเรียนในชั้นมัธยมต้องแยกนักเรียนชายไปเรียนโรงเรียนชาย ส่วนนักเรียนสตรีก็ให้แยกไปเรียนในโรงเรียนสตรี

 

          แต่สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นโรงเรียนนักเรียนอยู่ประจำกินนอน รับนักเรียนเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นมูล (ประถม) ไปจนถึงชั้นมัธยมนั้น ผู้เขียนเคยเห็นภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เชิงบันไดหอประชุม โดยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งนั่งอยู่ในหมู่คณาจารย์ของโรงเรียนด้วย

 

          การที่มีสุภาพสตรีซึ่งในชั้นต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นครูท่านหนึ่งของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ก็ออกจะเป็นเรื่องแปลกเพราะโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเป็นส่วนราชการฝ่ายหน้าในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแยกข้าราชการฝ่ายหน้าคือผู้ชาย กับข้าราชการฝ่ายในคือผู้หญิง ออกจากกันโดยเด็ดขาด

 

          เรื่องดังกล่าวติดค้างอยู่ในใจของผู้เขียนมาตลอด จบกระทั่งจบการศึกษาจากโรงเรียนและได้ไปร่วมรับประทานหารกลางวันในวันเสาร์ต้นเดือนร่วมกับนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท่านนัดชุมนุมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่โรงแรมราชศุภมิตร ถนนหลานหลวง (ปัจจุบันเป็นโรงแรมรอแยลปรินเซส) จึงได้นำภาพภ่ายนั้นไปเรียนขอความรู้จากท่านผู้อาวุโสที่มาร่วมชุมนุม ซึ่งนอกจากท่านจะกรุณาระบุนามคุณครูหลายท่านที่ปรากฏในภาพให้ทราบแล้ว สำหรับสุภาพสตรีคนเดียวที่ปรากฏในภาพนั้น ทุกท่านระบุว่าเป็นหม่อมพยอม แม่บ้านคณะเด็กเล็ก แต่ไม่มีท่านใดทราบว่าหม่อมพยอมเป็นหม่อมของท่านผู้ใด แม้แต่พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่องสาคริก) จมื่น อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) จ่าดำริงานประจง (ประจวบ จันทนะเสวี) พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ซึ่งจัดว่าเป็นนักเรียนรุ่นโตที่จบออกจากโรงเรียนไปตั้งแต่กลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบางท่านได้รับราชการในราชสำนักต่อเนื่องมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไม่มีท่านใดทราบแถมท่านเหล่านั้นยังสั่งเสียให้ผู้เขียนให้ไปสืบหาแล้วนำไปเรียนให้ท่านทราบด้วย

 

 

ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและคณะครูอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ราว พ.ศ. ๒๔๖๑

แถวนั่งจากซ้าย ๑) มร.สิเวล ครูชาวอังกฤษ
๒) หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์) ปลัดกรมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๓) พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๔) พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) เจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
๕) พระยาประสิทธิ๋ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
๖) พระยาไชยนันทน์นิพัทธพงศ์ (เชย ไชยนันทน์) อาจารย์วิชามหาดเล็ก
๗) หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (เพียร ไตติลานนท์ - พระราชธรรมนิเทศ) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๘) หม่อมพยอม

 

 

          ข้อมูลอีกประการที่ได้รับทราบจากท่านผู้อาวุโสนั้นคือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นโรงเรียนประจำรับนักเรียนเข้าเรียนและอยู่กินนอนในโรงเรียน มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นมูลหรือชั้นประถมไปจนถึงมัธยมบริบูรณ์หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เพราะนักเรียนชั้นประถมนั้นยังเล็กเกินกว่าที่จะดูแลตนเองได้ เมื่อย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนราชกุมารเก่า ริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจัง ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของวชิราวุธวิทยาลัยในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแยกนักเรียนชั้นประถมออกเป็นนักเรียนเด็กเล็กออกจากนักเรียนชั้นโต จัดให้มีเรือนที่พักเป็นเอกเทศจากนักเรียนชั้นโต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอตัวหม่อมพยอมจากโรงเรียนราชแพทยาลัยมาทำหน้าที่แม่บ้านคณะเด็กเล็ก มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนชั้นเล็กนี้ประดูจเป็นมารดาของนักเรียน จึงนับว่าหม่อมพยอมเป็นครูสตรีคนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและน่าจะเป็นครูสตรีคนแรกในโรงเรียนชายในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย

 

 

ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี (ทางขวาของภาพ) ที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อแรกสถาปนาใน พ.ศ. ๒๔๕๓

 

 

 

คณะบรมบาทบำรุง ซึ่งจัดเป็นคณะเด็กเล็กของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อการก่อสร้างตึกครูและนักเรียนหรือปัจจุบันเรียกว่าตึกคณะที่มุมโรงเรียนทั้ง ๔ มุมแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๐ โรงเรียนก็ได้จัดให้คณะตะวันคกด้านเหนือ (ปัจจุบันเป็นคณะผู้บังคับการ) เป็นคณะเด็กเล็ก คงมีหม่อมพยอมเป็นแม่บ้านต่อมา

 

 
 
 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาวโรรส และเลื่อนเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในรัชกาลที่ ๖

[ ]  บริเวณที่ต่อมาเรียกกันว่ามณฑลปัตตานี

[ ]  พระราชหัตถเลขาและหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี แต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมนตรีพจนกิจและพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ร.ศ. ๑๑๓ - ๑๑๘, หน้า ๒๙๘.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |