โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๕. ครูแม่บ้านและครูสตรี (๒)

 

          สำหรับประเด็นที่ว่า หม่อมพยอมเป็นหม่อมของท่านผู้ใด ผู้เขียนใช้เวลาสืบหาอยู่หลายปี แม้แต่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังเคยปรารภกับผู้เขียนว่า ต้นพบหรือยังว่า หม่อมพยอมเป็นหม่อมของท่านผู้ใด ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่กราบเรียนว่า พยายามค้นแล้วยังไม่พบ จนท่านถึงอสัญกรรมไปแล้วหลายปีจึงมีโอกาสได้พบความในเอกสารจดหมายเหตุชุดสรุปคำพิพากษาของศาลรับสั่งกระทรวงวัง (เป็นศาลพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่พระบรมวงศ์และข้าราชสำนักประพฤติผิดกฎมณเฑียรบาล) ซึ่งในย่อคำพิพากษานั้นมีคดีหนึ่งระบุว่า หม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลวรวิลาศ (พระโอรสกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) เป็นโจทก์ฟ้องลูกจ้างในคดีลักทรัพย์นายจ้างคือ หม่อมพยอม เหตุเกิดที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระราชสำนัก ในชั้นนี้จึงยืนยันได้ว่า หม่อมพยอมนั้นเป็นหม่อมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไชวรวิลาศ

 

          แต่เมื่อได้คำตอบว่า หม่อมพยอมท่านนี้เป็นหม่อมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศนั้น ท่านผู้อาวุโสที่เคยมอบหมายให้ผู้เขียนไปสืบค้นนั้นท่านก็ไม่อยู่รอฟังคำตอบแล้ว เวลานั้นคงเหลืออบยู่แต่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงบัว ศจิเสวี มหาดเล็กรุ่นจิ๋วในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพันเอก เรวัต เตมียบุตร ซึ่งในตอนยุบรวมโรงเรียนเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านทั้งสองยังเป็นนักเรียนชั้นประถม แต่ผู้เขียนก็ไม่อาจรายงานผลการสืบหาให้ท่านทั้งสองทราบได้ เพราะเวลานั้นทั้งสองท่านต่างก็ชราภาพและป่วยเจ็บจนเกินกว่าที่จะสนทนากันกันได้ จึงต้องขอบันทึกเรื่องหม่อมพยอมไว้ ณ ที่นี้
สำหรับเกียรติคุณของหม่อมพยอมที่ทำหน้าที่แม่บ้านคณะเด็กเล็กนั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงบัว ศจิเสวี ได้บันทึกไว้ใน “พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ นายบัว ศจิเสวี” ความตอนหนึ่งว่า

 

“เข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้ผมรอดเป็นตัวเป็นตนมาจนบัดนี้ก็คือ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ผมไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยเป็นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกประการ ในสมัยนั้นนักเรียนที่โรงเรียนนี้แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ พระราชทานทุกอย่างหมด ค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแต่งตัว ฯลฯ อย่างเช่นผมเป็นตัวอย่าง เวลานั้นผมไม่ได้นึกถึงอะไร ทราบแต่ว่าเป็นโรงเรียนของในหลวง ประเภทที่สอง คือ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเฉพาะค่าเล่าเรียนและค่าอาหารกินอยู่หลับนอนที่โรงเรียน ส่วนค่าหนังสือและค่าแต่งกายผู้ปกครองออกเอง และประเภทที่สาม คือ โปรดเกล้า ฯ ให้เข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้เท่านั้น ค่าใช้จ่ายทุกประการผู้ปกครองต้องออกเอง

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(จากซ้าย) เจ้าพระยารามราฆพ หรือที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เด็กชายบัว ศจิเวี ออกนามว่า “เจ้าคุณปู่”

เด็กชายบัว ศจิเสวี และคุณอรุณธดี วิเศษกุล (คุณหญิงอรุณธดี จารุดุล)

 

 

          ก่อนที่ผมจะเล่าถึงชีวิตและความประทับใจในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๖ มาไว้ ณ ที่นี้

 

          “เจ้าเหล่านี้ ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหลประพฤติแต่ความเสื่อมเสีย พ่อก็โทมนัส ลูกคนใดที่ประพฤติตนเลวทรามต่ำช้า เป็นเหตุให้พ่อได้ความโทมนัส ลูกคนนั้นเป็นลูกเนรคุณพ่อ"

 

          พระบรมราโชวาทนี้จารึกไว้ใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เตือนใจให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทนี้อยู่เสมอ
ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ เช้าวันจันทร์ก็มีรถยนต์หลวงรับผมจากพระราชวังพญาไทไปส่งที่โรงเรียน พอเที่ยงวันเสาร์ก็มีรถยนต์หลวงรับจากโรงเรียนกลับมาที่พระราชวังพญาไท ตามทะเบียนผมเข้าเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับเลขประจำตัว ๔๘๔...

 

 

กิจวัตรของนักเรียน

 

          ขอเล่าความทรงจำในชีวิตที่เป็นนักเรียนมหาดเล็กไว้สักเล็กน้อย โรงเรียนนี้ชาวบ้านนอกเดินผ่านก็ลงนั่งยอง ๆ ประนมมือไหว้ นึกว่าวัด เพราะหอประชุมใหญ่และตึกคณะทรงไทยรูปร่างคล้ายกุฏิพระ เครื่องแบบก็โก้ เสื้อนอกขาวคอปิดแบบราชการ กระดุมทั้ง ๕ เม็ด ตลอดทั้งขอคออีก ๒ ต้องกลัดให้ครบ มีแผงบังคับให้คอแข็งตั้งตรงเป็นสง่า หมวกหนีบสีน้ำเงิน สวมเพล่ก็ไม่ได้ กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินกรมท่าเหมือนหมวก รับกับถุงเท้ารองเท้าหนังสีดำ ทำให้นักเรียนผู้สวมรู้สึกมีเกียรติและรักษาระเบียบอันเคร่งครัดของโรงเรียน อันเริ่มจากตื่นแต่เช้าตามระฆังปลุก ทำที่นอนให้เรียบร้อยแล้วเข้าแถวไปล้างหน้าอาบน้ำ กลับมาแต่งตัวเข้าแถวไปรับประทานอาหารเช้า มีข้าวต้มเป็นส่วนใหญ่ พักสักครู่เข้าแถวไปเข้าห้องเรียน ตอนกลางวันเข้าแถวไปรับประทานอาหารกลางวัน เสร็จแล้วพักพอสมควร บ่ายเข้าแถวเข้าห้องเรียน บ่าย ๓ โมงเลิกเรียน ต่อไปเป็นเวลาของกีฬา จนเย็นจึงเข้าแถวจะต้องไปอาบน้ำตอนนี้มีครูมาตรวจร่างกาย ให้แลบลิ้น ถามว่าถ่ายอุจจาระหรือเปล่า กี่ครั้ง จะโดนกินยาก็ตอนนี้ แล้วเข้าห้องอาบน้ำ ห้องน้ำมิดชิดใหญ่พอที่จะอาบน้ำพร้อม ๆ กันได้สัก ๕๐ คน เพราะมีถังน้ำก่อด้วยซีเมนต์สูงแค่หน้าอกใส่น้ำเต็ม ทุกคนแก้ผ้าใช้ขันตักอาบน้ำ มีสบู่ ขัน แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ของตนเองแต่ละคน เสร็จแล้วเข้าห้องแต่งตัว ตอนเย็นเป็นชุดกางเกงจีนผ้าขาว เสื้อขาวบางคอกลม เข้าแถวไปห้องรับประทานอาหาร โต๊ะอาหารเป็นโต๊ะยาว โต๊ะละประมาณ ๑๒ คน แก้วน้ำและกับข้าววางอยู่พร้อม นักเรียนต้องตักข้าวเองและเลื่อนหม้อข้าวส่งต่อๆ กันไป ใครเคยนั่งที่ไหนก็ต้องนั่งที่นั้น เสร็จแล้วพักพอสมควร แล้วเข้าห้องทำการบ้าน จนถึงเวลานอนจึงเข้าห้องสวดมนต์ สวดมนต์เสร็จเข้าแถวเข้าห้องนอน ต่างคนต่างนอนคนละเตียงประจำที่ของตน พอล้มตัวลงนอนครูจะดับไฟ นักเรียนจะต้องท่องข้อความว่า “ข้าดียิ่ง ๆ ขึ้นทุก ๆวัน เป็นลำดับไป” คนละ ๒๐ ครั้ง แต่โดยมากพอท่องไปได้สัก ๑๐ ครั้ง คำว่า “เป็นลำดับไป” ก็จะค่อย ๆ กลายเป็น “หลับไป” และนักเรียนก็หลับจริง ๆ ยานอนหลับขนานนี้ผมยังจำไว้ใช้จนบัดนี้ แต่ตอนที่อายุมาก ๆ ความชรามันแก่กล้าขึ้น บางทีท่องตั้ง ๑๐๐ ครั้งก็ยังไม่หลับ ใครที่นอนไม่หลับยากจะนำไปใช้ก็เชิญ ไม่สงวนลิขสิทธิ์”

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ ต่อมา ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก โดยยุบรวมกรมมหาดเล็กซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนราชการอิสระเทียบท่ากระทรวง ลงเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงวัง ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกส่วนราชการในสังกัดกรมมหาดเล็กบางหน่วยลงด้วย กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ได้ถูกยุบเลิกไปในคราวนั้น รวมทั้งโรงเรียนพรานหลวง ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙

 

          การยุบกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และควบรวมโรงเรียนในคราวนั้น เป็นเหตุให้สภาจางวางมหาดเล็กซึ่งเป็นกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และคุณครูของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์หลายท่าน ถูกปลดออกจากราชการรวมทั้งหม่อมพยอมก็พ้นจากการเป็นครูแม่บ้านคณะเด็กเล็กไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย

 

          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นสภากรรมการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย แต่เพราะสภากรรมการฯ ได้พิจารณาหารือกันแล้วเห็นว่า โดยหลักการพับลิคสกูลของอังกฤษนั้น รับเด็กนักเรียนอายุ ๑๒ ปีเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๔ แต่พระยาบรมบาทบำรุง (พิฯ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนในเวลานั้นเห็นแย้งว่า การที่รับนักเรียนเข้าเรียนเมื่ออายุ ๑๒ ปีนั้นยากแก่การจัดการอบรม ในเมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันเช่นนี้ และสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยคงยืนยันมติให้ยุบชั้นเด็กเล็กคือ ชั้นประถมและมัธยม ๑ - ๓ คงเหลือแต่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๔ - ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแทน

 

 

คณะเด็กเล็ก (ปัจจุบันคือ คณะสนามจันทร์)

 

 

          ต่อมาในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้มีการทบทวนมติเรื่องการรับนักเรียนเข้าเรียน และมีมติให้เปิดคณะเด็กเล็กรับนักเรียนสำหรับนัก้รียนชั้นประถมในที่ดินพระราชทานให้เป็นบ้านพักครูชาวต่างประเทศที่ริมถนนสุโขทัยฝั่งทิศเหนือ ซึ่งอยู่ตงข้ามโรงเรียนเดิม พร้อมกับทรงพระทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุง ย้ายกลับมาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแทนพระยาปรีชานุสาสน์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |