โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๘. รักบี้ฟุตบอลประเพณี
วชิราวุธวิทยาลัย - เดอะ มาเลย์คอเลจ

 

         กีฬารักบี้ฟุตบอล (Rugby Football) เป็นกีฬาประเภททีมชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากกีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอล (Association Football) ซึ่งคนไทยรู้จักกันในชื่อกีฬาฟุตบอล แรกเริ่มของกีฬาชนิดนี้กล่าวกันว่า มีขึ้นครั้งแรกในระหว่างการแข่งขันแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลที่โรงเรียนรักบี้ (Rugby School) ซึ่งเป็นพับลิคสกูลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ เมื่อคริสต์ศักราช ๑๘๒๓ (พ.ศ. ๒๓๖๖) โดยระหว่างการแข่งขันวิลเลียม เวบบ์ เอลลิส (William Webb Ellis) ได้คว้าลูกฟุตบอลไว้ในอ้อมแขนของตัวเขา แล้วออกวิ่งไปข้างหน้าโดยไม่ใส่ใจต่อกฎกติกาการแข่งขันฟุตบอล กีฬาชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า รักบี้ฟุตบอล ตามชื่อโรงเรียนที่เป็นต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้

 

         ต่อมาในคริสต์ศักราช ๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘) นักเรียนโรงเรียนรักบี้จึงได้ช่วยกันร่างกฎกติกาการเล่นกีฬาชนิดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วจึงได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์กีฬารักบี้ฟุตบอล (Rugby Football Union) เป็นองค์กรกลางของกีฬาชนิดนี้

 

         อนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นพื้นแล้ว ยังมีนักเรียนไทยทั้งที่ได้รับพระราช-ทานทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของครอบครัวออกไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก นักเรียนไทยเหล่านั้นบางส่วนได้เข้าเรียนในพับลิตสกูลซึ่งมีการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอล และได้เล่นกีฬาชนิดนี้ต่อเนื่องกันมาในระหว่างที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ

 

         นอกจากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการและประกอบการค้าในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ได้นำกีฬาชนิดต่างๆ ที่นิยมเล่นกันในยุโรปรวมทั้งกีฬารักบี้ฟุตบอลเข้ามาเล่นกันเองที่ราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sport club) โดยมีบันทึกว่า ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอล ชิงถ้วย Hampshine ระหว่างสมาชิกของราชกรีฑาสโมสรซึ่งล้วนเป็นชาวต่างประเทศ โดยมีชุดเข้าแข่งขัน ๓ ทีม คือ England, Scotland และ The Rest

 

         ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๓ นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และได้เคยเล่นรักบี้ฟุตบอลระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อาทิ คุณล้วน ณ ระนอง ซึ่งเคยเป็นนักรักบี้ฟุตบอลของ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ถึงชั้นได้เสื้อสามารถ (Grey hound) เป็นเกียรติยศ รวมทั้งหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธ์ หม่อมเจ้าประสพศรี จิรประวัติ และพระสุทัศน์ พงศ์พิสุทธิ์ (ม.ล.กิ่ง สุทัศน์) ซึ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากประเทศอังกฤษได้ไปร่วมเล่นกีฬาชนิดนี้ที่ราชกรีฑาสโมสร แล้วจึงได้ร่วมกันฝึกหัดคนไทยให้รู้จักการเล่นกีฬาชนิดนี้

 

         แต่ด้วยเหตุที่เมื่อมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นต้นมา มักจะมีข่าววิวาทกันในระหว่างการแข่งขันฟุตบอล ทั้งในระหว่างคู่แข่งขันและในระหว่างผู้ชมด้วยกันจนถึงมีการแทงกันตาย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักกีฬาโรงเรียนทหารถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งกรุงสยาม (ปัจจุบันคือ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)มาจนถึงบัดนี้ ในเมื่อกีฬาฟุตบอลซึ่งไม่มีการปะทะกันหนักๆ เช่นกีฬารักบี้ฟุตบอลยังมีการวิวาทกันในสนามกีฬาอยู่เนืองๆ ในเวลานั้นจึงเชื่อกันว่า “ไทยเราเล่นไม่ได้ เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย”  [] ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ ๔ โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนพรานหลวง เล่นแต่กีฬาแอสโซซิอเอชั่นฟุตบอล

 

         ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ในช่วงแรกนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยยังคงเล่นกีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลเป็นพื้นต่อมา

 

         ราว พ.ศ. ๒๔๗๓ ในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนโชรส์เบอรี่ (Sherwsbury School) พับลิคสฏุลชั้นนำของประเทศอังกฤษแห่งหนึ่ง ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น กล่าวกันว่า หม่อมเจ้าประสพศรี จิรประวัติ และพระสุทัศน์ พงศ์พิสุทธิ์ ได้เข้ามาแนะนำและฝึกสอนนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้รู้จักการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอล จนสามารถจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานประจำปีของโรงเรียน ที่สนามวชิราวุธวิทยาลัย (สนามหน้า) เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในระหว่างชุดนักเรียนเก่าและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ในเวลานั้น นับเป็นครั้งแรกทึคนไทยได้แข่งขันรักบี้ฟุตบอลกันเองโดยไม่มีชาวต่างชาติร่วมทีมเลย ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า “วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนไทยเล่นฟุตบอลล์รักบี้ ฟุตบอลอย่างนี้เคยมีคนพูดกันว่า ไทยเราเล่นไม่ได้ เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย แต่วันนี้ก็เห็นเล่นได้โดยเรียบร้อย ซึ่งแปลว่า โรงเรียนนี้ สามารถฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ได้จริง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มมาก”

 

         ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมกีฬาชนิดนี้ และได้มีการเรียกประชุมผู้สนใจเป็นครั้งแรกที่ราชกรีฑาสโมสร มีชาวต่างประเทศเข้าประชุมหลายท่าน ส่วนคนไทยก็มีผู้แทนของราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนกองทัพอากาศ และผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ นายอาร์ ดับเบิลยู ดีน (E.W. Dean) หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี หม่อมเจ้าประสพศรี จิระประวัติ เป็นต้น ที่ประชุมได้ลงมติให้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมขึ้นโดยมี พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นนายกสมาคมฯ พระองค์แรกของสมาคม และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในปี พ.ศ. ๒๔๘๒

 

 

โล่อุปนายกกิตติมศักดิ์ ของ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐมนูธรรม สำหรับการแขงขันรักบี้ฟุตบอลรุ่นเยาว์ (ประเภทโรงเรียน)
ตามระเบียบของไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนี่ยน (สมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)

 

 

         เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยขึ้นแล้ว นอกจากสมาคมฯ จะได้จัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเภทสโมสรชิงถ้วย British Council เป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศประเมศไทยแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ สมาคมฯ ยังได้ส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลในระดับเยาวชน โดยจัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลชิงโล่อุปนายกกิตติมศักดิ์ของ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐมนูธรรม สำหรับการแจ่งขันรุ่นเยาว์ ตามระเบียบของไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนี่ยน ในระหว่างโรงเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ โรงเรียนเตรียมแพทย์ ฯลฯ ขึ้นก่อน ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโรงเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาถูกยุบเลิกไป คงเหลือแต่เพียงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้อนุญาตให้โรงเรียนสามัญ.งเคยเปิดสอนชั้นมัธยมปลายมาก่อนกลับมาเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาแทน วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งได้กลับมาเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาใน พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้ส่งนักกีฬารักบี้ฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเภทโรงเรียนชิงโล่ของแปนายกกิตติมศักดิ์ ไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนียนมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยมี นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ดนัย บุนนาค (น.พ.ดนัย บุนนาค) เป็นหัวหน้าชุดคนแรก และวชิราวุธวิทยาลัยได้ครองโล่รักบี่ยูเนียนของสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ และได้ครองโล่นี้ต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี จนสื่อมวลชนขนานนามว่า วชิราวุธวิทยาลัย แชมรักบี้ตลอดกาล

 

         จากการที่วชิราวุธวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลมาเป็นลำดับ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนอาวน์เดิล (Oundel School) พับลิตสกูลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษ ได้เดินทางไปพบผู้บริหารโรงเรียนมาเลย์คอลเลจ (The Malay College) ซึ่งเป็นพับลิคสกูลชั้นนำของสหพันธรัฐมลายู ที่ได้ชื่อว่าโรงเรียนอีตัน (Ton College) แห่งเอเชียอาคเนย์ และเป็นโรงเรียนที่มีอายุของโรงเรียนใกล้เคียงกับวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อชักชวนให้มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีระหว่างนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กับเดอเะมาเลย์คอลเลจ

 

 

นักกีฬารักบี้ฟุตบอลเดอะมาย์คอลเลจ
ซึ่งมาแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าตุกพยาบาล (ปัจจุบันคือ หอประวัติ) ซึ่งจัดเป็นที่พักรับรอง

 

 

         เมื่อกลงกันได้แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยเดอะมาเลย์คอลเลจได้มาเป็นแขกของวชิราวุธวิทยาลัย และปีถัดมาวชิราวุธวิทยาลัยได้เดินทางไปแข่งขันกับเดอะมาเลย์คอลเลจ ที่กรุงกัวลากังสา (Kuala Kangsar) รัฐเปรัค (Perak) สหพันธรัฐมลายู และได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน โดยเว้นว่างไป ๒ ปีใน พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๑๔ เพราะผู้บริหารเดอะมาเลย์คอลเลจในเวลานั้นไม่สนับสนุนกีฬาชนิดนี้

 

 

นักกีฬารักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยชุดที่ลงแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณี กับเดอะมาเลย์คอลเลจ
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

(แถวหลังจากซ้าย) สมพงศ์  แสงศิริ (ผู้กำกับเส้น), สมบัติ  ณ นครพนม, ณรงค์  ไหลมา, สหัส  กงษ์เหิร, เสน่ห์  ชัยนิยม, สมกัยรติ  ตันติผลาผล,
สมทบ  ลีสวรรค์, ประยุตติ  ปริกสุวรรณ, ม.ร.ว.จิริเดชา  กิติยากร
(แถวหน้าจากซ้าย) จิราคม  ขจัดสรรพโรค (หัวหน้าชุด), อุดมเดช  ชาญชยศึก, เชิดศักดิ์  ธีระบุตร, ภิญโญ  จริโมภาส, จักร  จักษุรักษ์,
ประทักษ์  ประทีปะเสน, ศรศิลป์  จักษุรักษ์

 

 

         ในการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจในระยะแรกนั้น เมื่อเดอะมาเลย์คอลเลจเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้ทีมเดอะมาเลย์คอลเลจลงแข่งขันกับทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนชั้นนำของไทย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนเตรียมทหารด่อน แล้วจึงแข่งขันประเพณีกันในนัดที่สาม ส่วนทีมวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อเดินทางไปแข่งขันกับทีมเดอะมาเลย์คอลเลจ ทางเดอะมาเลย์คอลเลจก็ได้จัดให้ทีมวชิราวุธวิทยาลัยได้ลงแข่งขันอุ่นเครื่องกับทีมโรงเรียนชั้นนำของมลายู ๒ ครั้ง ก่อนที่จะแข่งขันประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจเช่นเดียวกัน

 

         แม้การแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจ วชิราวุธวิทยาลัยจะเป็นผู้ชนะมาเกือบจะตลอดทุกครั้งก็ตาม แต่ด้วยน้ำใจของนักกีฬาทั้งสองทีมนั้นคงฝังรากลึกกันมาตลอด แม้ต่างก็จบการศึกษาเข้าสู่วัยทำงานกันแล้ว มิตรภาพของนักเรียนทั้งสองโรงเรียนก็ยังคงแน่นแฟ้น มีการพบปะสังสรรค์และและประสานประโยชน์ทั้งทางราชการและธุรกิจในความรับผิดชอบของกันและกันมาด้วยดีตลอดมาถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

[ ]  พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๑๔๗๕.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |