โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๘. สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย (๕)

 

รายงานการประชุมกรรมการจัดการ

โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

 

*****************

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

 

พระยาไพศาล

หอสวดมนต์ของเราจะต้องจัดให้ดูเป็นที่ขลัง

   

พระราชดำรัส

ก็ควรจัดเช่นนั้น เดี๋ยวนี้เด็กใหม่ๆ สวดมนต์ไม่เป็น เพราะไม่ได้สอนกัน ขอชักชวน
ให้สอนศาสนา เดี๋ยวนี้เราแพ้ฝรั่งเขา ที่พูดมาทั้งหมดนี้ อยากจะทราบว่ากรรมการมี
ความเห็นอย่างไรที่จะแก้ไขให้เหมาะแก่คนไทย พระยาสุพรรณมีความเห็นอย่างไร

   

พระยาสุพรรณ

ตามที่ทรงพระราชดำริในทางดำเนินการนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า
สมควรแล้ว ถ้าจะมีแก้ไขอย่างไรต่อไป กรรมการจะได้กราบบังคมทูล

   

พระยาจินดา

ตามพระราชกระแส เห็นด้วยเกล้าฯว่า เป็นทางดำเนินที่ควรแล้ว การแยกเด็กเล็กกับเด็กใหญ่ยิ่งแยกเป็นคนละโรงเรียนได้ยิ่งดี ถ้าไม่เป็นการขัดข้อง

   

พระยามโนปกรณ์

แยกเป็นคนละโรงเรียนเปลืองเงินมาก

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ถ้าเช่นนั้นโรงเรียนวชิราวุธต้องเลิกด้วยเด็กใหญ่ไม่รับเลย ควรจัดทาง Public School เสียก่อน?

   

พระราชดำรัส

นั่นเป็นการลำบาก แต่ดีเหมือนกัน คือว่าแยกเป็นสองโรงเรียนเลย สำหรับโรงเรียนนี้ที่จริงเด็กใหญ่ก็มีสิทธิจะเข้าได้ ถ้าไม่ขัดกับทางของเรา ควรจัดชั้นไม่ให้เด็กมีอายุต่างกันมาก นักเรียนเก่าถ้าเข้าชั้นตามอายุก็ได้รับ เรื่องนี้รู้สึกเหมือนกันว่าตัดสิทธิเด็กใหญ่เสีย แล้วก็เลิกโรงเรียนราชวิทยาลัยเสียด้วย ข้อสำคัญเกี่ยวด้วยเรื่องเงินเท่านั้น

   

พระยาไพศาล

ตามสกีมที่กระทรวงธรรมการกะไว้ ต้องการเงินเพิ่มสามหมื่นบาทสำหรับจัดโรงเรียนราชวิทยาลัย โดยยกโรงเรียนบ้านสมเด็จไปรวม

   

พระราชดำรัส

จะแบ่งให้จัดเดี๋ยวนี้จะได้ไหม

   

พระยาไพศาล

ถ้าจะแบ่งจะต้องเลิกครูฝรั่งที่โรงเรียนนี้เสียบ้าง

   

พระราชดำรัส

ฉันจะเพิ่มเงินพระคลังข้างที่ให้บ้างก็ได้

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ครูฝรั่งที่นี่ไม่มากเกินไปหรือ

   

พระยาไพศาล

มาก แต่ก็แล้วแต่วิธีสอน เดี๋ยวนี้ใช้ครูฝรั่งสอนวิชาเป็นภาษาฝรั่ง

   

พระราชดำรัส

ถ้าสามารถจะจัดโรงเรียนราชวิทยาลัยโดยแบ่งเงินไปจากที่นี่บ้าง ถ้าขาดเหลือทางนี้ฉันจะให้ จะสามารถจัดหรือไม่ ถ้านักเรียนเก่าเข้าที่นี่ไม่ได้ ก็เข้าราชวิทยาลัย

   

พระยาไพศาล

พระยาไพศาล คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เดี๋ยวนี้นักเรียนเก่าคงไปเข้าโรงเรียนอื่นหมดแล้ว มีไปเข้าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนบ้านสมเด็จ

   

พระราชดำรัส

เดี๋ยวนี้มีคนบ่นมากที่เลิกโรงเรียนราชวิทยาลัย ถ้าตั้งขึ้นใหม่ก็จะดี แต่คลังไม่ยอมให้เงิน ลองคิดดูว่าในเก้าหมื่นบาทจะแบ่งคืนให้บ้างได้เท่าใด

   

พระยาไพศาล

พระยาไพศาล มีทางที่จะจัดได้ คือเงินเดือนนายโคลบีสำหรับศกหน้าเดือนละ ๙๐๐ บาท เป็นปีละ ๑๐,๘๐๐ บาท แต่งบประมาณโรงเรียนนี้กำหนดไว้ตายตัวไม่มีขึ้น มีหวังที่จะใช้เงินรายนายโคลบี้นี้ จะขยายตัวยาก มีทางที่ขยายได้คือเงินค่าเล่าเรียนเหลือจากค่าอาหาร ถ้ามีนักเรียน ๒๐๐ คน คิดถัวเงินค่าเล่าเรียนเหลือจากค่าอาหารคนละ ๕ บาท เป็นเงินเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท คิดเพียง ๘ เดือน เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

กะเสียให้เรียบร้อยดีกว่า ดูเสียก่อนว่าครูฝรั่งเดี่ยวนี้มากไปหรือน้อยไป

   

พระราชดำรัส

ยังไม่ตกลงว่าครูฝรั่งจะสอนอะไร นี่เป็นกิจการของกรรมการโดยแท้ ฉันจะยอมเพิ่มเงินให้โรงเรียนนี้อีก ถ้าตกลงตามความเห็นของฉัน

   

พระยาไพศาล

เรื่องการแยกเงินไปตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย จะได้รับพระราชทานไว้พิจารณาจัดการ

   

พระราชดำรัส

ถ้าตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ ตัดเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท คืนให้เขาบ้างได้จะดี

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ตามที่คิดเงินค่าเล่าเรียนเดี๋ยวนี้ ถึงนักเรียนจะมีมากขึ้น เงินก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

   

พระยาไพศาล

ได้เพิ่มขึ้น เช่น นักเรียนชั้นต่ำเก็บเดือนละ ๒๐ บาท เดี๋ยวนี้โรงเรียนใช้ค่าอาหารเสีย ๑๘ บาท ได้ ๒ บาท ขั้นกลางเก็บเดือนละ ๒๕ บาท ได้ ๗ บาท ชั้นสูงเก็บเดือนละ ๓๐ บาท ได้ ๑๒ บาท ถ้าถือนักเรียน ๒๐๐ คน คิดถัวเพียงคนละ ๕ บาท และคิดเพียง ๘ เดือนก็ได้เงินเหลือปีละ ๘,๐๐๐ บาท ครูเท่าที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ควรจะสอนนักเรียนได้จำนวนอีกเท่าตัว

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

เก็บเงินนักเรียนได้นิดหน่อย ชั้นต้นจะต้องรวบรวมเงินที่จะต้องจ่ายเป็นงบประมาณ

   

พระราชดำรัส

เดี๋ยวนี้เงินพระคลังข้างที่ให้ ๑๐,๐๐๐ บาท หรือ

   

พระยาบรินูรณ์

ให้ ๑๐,๐๐๐ บาท

   

พระราชดำรัส

 ฉันจะให้ได้อีก ๑๐,๐๐๐ บาท

   

พระยาไพศาล

เช่นนั้นควรตัดได้ ๒๘,๐๐๐ บาท คือถ้าเลิกครูฝรั่งเสียอีกคนหนึ่ง

   

พระราชดำรัส

ลองคิดดูว่าขาดเท่าไร ฉันจะให้ได้ทางพระคลังข้างที่ บางทีจะให้เงินสำหรับปีนี้ยาก ปีหน้าง่าย เมื่อตั้งแล้วจะมีนักเรียนเก่ากลับเข้ามาไหม โรงเรียนราชวิทยาลัยที่จะตั้งขึ้น ตั้งอย่างโรงเรียนบางขวางเดิม ถ้าจะตั้ง ตั้งศกใหม่

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ควรจะตั้งปลายปี

   

พระยาไพศาล

ปลายปีตั้งได้ เทอมใหม่

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

การสอบไล่ของกระทรวงธรรมการราวเดือนธันวาคม เพราะฉะนั้นการตั้งต้นของโรงเรียนอย่างของเราควรตั้งต้นราวนั้น

   

พระราชดำรัส

ถ้าอย่างนั้นโรงเรียนนั้นตกลงกระทรวงธรรมการจัดเป็นโรงเรียนบางขวางอย่างเก่า ไม่ควรเอาเข้ามาเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนบางขวาง แต่ก่อนเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท เขาทำกันมาได้ ต่อมาไม่พอต้องเพิ่มเงินพระคลังข้างที่

   

พระยาไพศาล

เพราะเก็บเงินค่าเล่าเรียนไม่ค่อยจะได้ ถ้าได้ก็พอเจือจาน

   

พระราชดำรัส

พอเจือจานได้

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ออกจะเป็นการใหญ่ แต่กระทรวงธรรมการคงจะเอาเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท

   

พระราชดำรัส

ปีหน้าว่ากันอีกที ลองคิดวางสกีมลดเงินทางนี้ไปให้ทางโน้น สำหรับโรงเรียนนี้จะวางสกีมอย่างไร ควรให้เป็นโรงเรียนไปรเวตแท้ๆ ส่วนหลักการให้เป็นไปทางคลองความมุ่งหมายทีเดียว หลักสำหรับโรงเรียนนี้ผิดกับโรงเรียนทั่วไป จะเอาอย่างเดียวกันไม่ได้ ความประสงค์ผิดกันเสียแล้ว

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

การเลือกนายกจะถือเอาหลักปีหนึ่งหรือสามปีเปลี่ยนหนหนึ่ง

   

พระราชดำรัส

หลักเลือกนายกจะเอาหรือไม่เอา

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

เห็นว่าดี

   

พระราชดำรัส

ฉันคิดว่าดี

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

เป็นแต่เพียงนายกในการดำเนินการประชุมเท่านั้น ถ้าจะว่าด้วยทำหน้าที่แล้วไม่เหมาะ เพราะการบังคับบัญชาอยู่ที่กรรมการ

   

พระยาไพศาล

ถ้าเช่นนั้นกรรมการก็ถือว่าบุคคลเป็น ไม่ใช่ตำแหน่ง

   

พระราชดำรัส

ไม่ใช่ตำแหน่ง

   

พระยามโนปกรณ์

เห็นจะต้องแก้ประกาศ

   

พระราชดำรัส

ต้องแก้ ฉันนึกว่าแก้เสียใหม่ดีกว่า

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

การบางอย่างควรให้เกี่ยวกับกระทรวงธรรมการ การได้กรรมการอยู่ในหน้าที่อื่นไม่ใช่ผู้ชำนาญต้องอาศัยเจ้าหน้าที่

   

พระราชดำรัส

หน้าที่ตรวจตราเกี่ยวกับการเรียน

   

พระยาไพศาล

ก็ไม่น่าจะขัดข้องทางกระทรวงธรรมการ กระทรวงธรรมการทำรายงานเสนอกรรมการ กรรมการเป็นผู้สั่ง

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ว่าด้วยการตรวจ คือต้องตรวจการเล่าเรียน การอยู่กินของนักเรียน การเล่น การเงินทองทั้งหมด ถ้าแม้ว่ากรรมการจะแบ่งรับเป็นอย่างๆ ไม่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่กระทรงธรรมการ กรรมการจะรับได้หรือไม่

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

จะแบ่งเห็นจะลำบาก

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

กระทรวงธรรมการมีผู้เป็นกรรมการอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่นายก

   

พระยาจินดา

เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ควรเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย

   

พระยามโนปกรณ์

เป็นบุคคลเช่นพระยาไพศาลหรือพระองค์ธานี [] กรรมการตรวจตราควรเป็นกรรมการซึ่งอยู่ในกระทรวงธรรมการ และการที่จะตรวจนั้นโดยคณะกรรมการ ขอให้ไปตรวจตามแต่โอกาส ไม่ใช่กรรมการผู้ที่อยู่ในกระทรวงธรรมการนึกจะตรวจเมื่อใดก็ไปตรวจเอาเอง

   

พระยาไพศาล

เมื่อกระทรวงธรรมการตรวจแล้ว เสนอรายงานต่อกรรมการ ถ้ามีข้อใดที่จะให้ตรวจโดยเฉพาะก็ให้ตรวจเป็นพิเศษได้

   

พระราชดำรัส

แปลว่าขอความช่วยเหลือกระทรวงธรรมการ เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นโดยตำแหน่ง ส่วนปลัดทูลฉลองคือพระยาไพศาลเป็นโดยบุคคล 

   
 

(ยังมีต่อ)

 
 

 
[ ]  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |