โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๔. พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานในวันงานประจำปี ของวชิราวุธวิทยาลัย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๒
ว่าด้วยเด็กในโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลกันเองเพียงไร

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องปกติขาว
จอมพล ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย (ไม่ทราบปี)

 
 

          ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาในการกีฬาของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และได้มาให้รางวัลและประกาศนียบัตรเป็นครั้งที่ ๒ ในคราวนี้ เมื่อได้ฟังรายงานที่อ่านมาแล้ว กระทำให้รู้สึกว่าโรงเรียนนี้คงเป็นที่นิยมของชนทั่วไปมากขึ้น จึงได้มีนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้น ทำใหรู้สึกมีความยินดีเป็นอันมาก ในคราวก่อนนี้ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นว่ามีพระราชประสงค์อย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องอธิบายละเอียดอีกทีหนึ่ง แต่จะขออธิบายซ้ำและย้ำสักข้อหนึ่งในคราวนี้ คือในเรื่องที่เราจะต้องพยายามอบรมเด็กให้สามารถปกครองกันเองได้ ให้รู้จักบังคับบัญชากันเอง เพราะการอบรมอย่างนี้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนกินนอนโดยตรงทีเดียว การอบรมอย่างนี้ทำที่บ้านไม่ได้ ทำที่โรงเรียนชั่วแต่เช้ามาเย็นกลับก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะทำได้อย่างดีแต่ฉะเพาะในโรงเรียนกินนอนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่สำคัญส่วนหนึ่งของโรงเรียนนี้ ที่จะต้องพยายามทำให้ได้ การอบรมเช่นนั้นจะสำเร็จได้ย่อมอยู่ที่ครูเป็นส่วนใหญ่ ครูต้องสมารถเลือกดูเด็กที่มีอุปนิสสัยมีคุณวุฒิเหมาะที่จะบังคับบัญชาเด็กอื่นๆ ได้ และฝึกหัดสั่งสอนอบรมให้รู้จักความรับผิดชอบ แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญเหมือนกัน อยู่ที่ตัวเด็กเอง ต้องรู้สึกว่าการอบรมอย่างนั้นสำคัญเพียงไร ที่จริงการอบรมอย่างนั้นเป็นของสำคัญมากในชีวิตต่อไป แต่เมืองไทยเรายังไม่ใคร่ได้ทำกัน เพราะมีโรงเรียนกินนอนน้อย แต่เป็นวิธีฝึกหัดตัวที่สำคัญมากในการภายหน้าเมื่อจะทำการใหญ่โต ย่อมต้องมีหน้าที่บังคับบัญชาคนอื่น แม้เราจะมีความฉลาดมีวิชชาสูงสักเพียงไร ถ้าไม่สามารถจะบังคับคนอื่นได้ ไม่สามารถชวนใจคนอื่นให้ทำงานได้แล้ว เราก็ทำการไม่สำเร็จเป็นหัวหน้าเขาไม่ได้ ผู้มีวิชชาอย่างเดียวไม่สามารถบังคับบัญชาคน มักจะได้ทำงานแต่ในหน้าที่รองๆ ต่อเมื่อมีนิสสัยดี สามารถปกครองคนอื่นได้ จึงจะขึ้นสูงถึงกับบังคับบัญชาคนใหญ่โตต่อไป เพราะฉะนั้นการการอบรมอย่างนี้จึงเป็นของต้องการทั้งทางรัฐบาลและพณิชยการด้วย เพราะฉะนั้นขอให้ครูในโรงเรียนนี้ถือว่าการอบรมอย่างนั้นสำคัญมาก ส่วนนักเรียนก็ต้องตั้งใจพยายามที่จะทำอย่างนั้นให้สำเร็จจงได้

 
 

 
 

          ธรรมดาการปกครองคนนั้น มักจะบกพร่องอยู่ ๒ ทาง คือทางหนึ่งอ่อนแอเกินไป นึกเสียว่าแต่จะให้คนในบังคับบัญชารักตัวถ่ายเดียว เลยตามใจหมดทุกอย่าง ไม่ทำโทษไม่ว่ากล่าวตามใจตะบันไป นั่นเป็นความบกพร่องอย่างหนึ่ง มีผลตรงข้ากับที่ประสงค์ คือเขาอาจจะชอบเราจริง แต่ลงท้ายเห็นว่าเป็นผู้ที่อ่อนแอเอาไว้ไม่อยู่ เลยดูถูก ภายหลังเราจะให้ทำอะไรก็ไม่สำเร็จเหมือนกัน เป็นอันว่าการปกครองอย่างหย่อนเกินไปไปมีผลดีแน่ อีกอย่างหนึ่งที่มักบกพร่องและผิดบ่อยๆ คือตรงกันข้ามทีเดียว แข็งเกินไป ดุดันเกินไป ไม่แต่เท่านั้นกลับกดขี่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่เป็นเรื่อง การที่จะเคี่ยวเข็ญเกินไปจนถึงกดขี่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชานั้น กลับมีผลกลายเป็นเท่ากับอ่อนเกินไปเหมือนกัน ทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไม่ทำอะไรจริง ทำเพราะกลัว แต่ไม่ตั้งใจทำให้ดีจริงๆ ถ้าจะให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำอะไรดีจริงๆ แล้ว เราต้องทำให้เขานับถือ นั่นเป็นของสำคัญต้องให้รักโดยนับถือไม่ใช่อย่างอื่น ต้องให้ผู้ใต้บังคับบัญชานับถือว่ามีความยุติธรรมจริง เมื่อถึงเวลาควรหย่อนก็หย่อน ถึงเวลาตึงก็ตึง เช่นนั้นจะทำให้การปกครองสำเร็จดี สำหรับเด็กที่จะเป็นผู้ใหญี่ขึ้นจงระลึกถึงความบกพร่องที่กล่าวมานี้อย่าให้พลาดใน ๒ ทางนั้นได้ ส่วนเด็กเล็กที่เวลานี้ยังเล็กอยู่ อย่าลืมว่าต่อไปเมื่อตัวโตขึ้นจะต้องบังคับบัญชาคนอื่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้มีหน้าที่จะช่วยผู้บังคับบัญชาที่เป็นเด็กชั้นใหญ่ ช่วยให้การปกครองง่าย อย่างแกล้งต่างๆ นานา จนไม่เป็นเรื่อง เพราะว่าต่อไปเราจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาเขาเหมือนกัน ต้องตั้งใจปฏิบัติการโดยสุจริตเสมอ ให้การบังคับบัญชาเป็นไปโดยเรียบร้อย ถ้ตั้งใจด้วยกันอย่างนี้ทั้งหมด จะได้ผลดีในทางนี้เป็นแน่แท้

 

          ในประเทศอังกฤษเขามักกล่าวกันว่านักเรียนในปับลิคสกูลมักจะมีคุณวุฒิดีแปลกกว่าคนอื่น จนสำหรับการงานต่างๆ เขามักจะชอบเลือกปับลิคสกูลแมน เพราะมีความอบรมอะไรอย่างหนึ่งที่ผิดกับคนอื่น ข้าพเจ้าเชื่อว่าการอบรมที่พูดนั้น คือความสามารถปกครองคน เพราะพวกที่ออกจากปับลิคสกูลไปแล้วนั้น เคยปกครองกันเองมาก่อนแล้ว ไปปกครองคนอื่นก็ง่ายและเดป็นผลดีอย่างหนึ่ง ต่อไปในประเทศสยามนี้หวังว่า จะมีคนพูดว่าเด็กที่ไปจากโรงเรียนวชิราวุธคงมีจะมีคุณวุฒิพิเศษได้เหมือนกัน ถ้าสำเร็จอย่างนี้จะเป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง

 

          ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอให้พรแก่โรงเรียนนี้ ขอให้มีชื่อเสียงดียิ่งขึ้นต่อไป ขอให้บรรดาครูและนักเรียนเก่าตลอดจนนักเรียนใหม่ จงมีความสุขความเจริญปราศจากโรคภัยทั้งปวง ให้มีวิชชาความสามารถดีเพื่อทำการงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศบ้านเมืองของเราต่อไปในภายหน้า.

 

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |