โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๘. จากจิตรลดาธนาคาร

สู่ ๑๐๐ ปี ธนาคารออมสิน

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทนพระราชวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับ แต่เมื่อต้องใช้พระราชวังสราญรมย์เป็นที่รับรองพระราชวงศ์ต่างประเทศซึ่งเข้ามาเยี่ยมพระนคร ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดา ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานที่มุมพระลานพระราชวังดุสิต

 

 

พระตำหนักจิตรลดา

 

 

          ในระหว่างที่ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดานั้น ได้ทรงตั้งสโมสรขึ้นแห่งหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า “สโมสรลีฟอเทีย” ชื่อสโมสรนี้กล่าวกันว่า เป็นพระนามและนามย่อของบุคคล ๓ คน คือ “ลี” นั้นมีท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นภาษาจีน แปลว่า ใหญ่ ซึ่งพ้องกับพระนาม “โต” แต่มีบางท่านออกความเห็นว่า คำว่าลีนี้เทียบได้กับตำแหน่งไทจือ หรือพระรัชทายาท ส่วนคำว่า "ฟอ" นั้นท่านว่ามาจากนาม “เฟื้อ” คือ เจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ หัวหน้ามหาดเล็กห้องพระบรรทม และ “เทีย” มาจากนาม “เทียบ” คือ พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทรยบ อัศววรักษ์) ซึ่งเวลานั้นยังเป็นนายวรการบัญชา

 

          สโมสรลีฟอเทียนี้ตั้งอยู่หลังพระตำหนักจิตรลดา เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวกว้างยาวประมาณ ๒๐ x ๓๐ เมตร พื้นและประตูหน้าต่างปรุงด้วยไม้สัก เสาและเครื่องบนเป็นไม้เต็ง ฝากรุด้วยเสื่อลำแพนชนิดแข็ง (คือสานด้วยผิวไม้ไผ่ขัดกันไว้ทางตั้ง ไม่ใช่ด้านแบน) ทาสีน้ำมันเป็นสีนวล หลังคามุงจากมีไม้ลวกทั้งลำผูกทับกันลมตี เพดานใส่ฝ้ากระเบื้องกระดาษทาสีนวลเช่นเดียวกับฝาผนัง ด้านหน้ามีประตู ๒ประตู ด้านหลังมีประตูเดียว ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๘ บาน ด้านหลังอีก ๒ บาท มีโต๊ะบิลเลียด ๒ โต๊ะตั้งชิดมาข้างหน้า ถัดจากโต๊ะบิลเลียดเข้าไปตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นที่นั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม มีเคาน์เตอร์กั้นเป็นคอกสำหรับจำหน่ายเครื่องดื่ม บุหรี่ และขนม อยู่ทางด้านหลังฝั่งทิศเหนือ

 

          สโมสรนี้ทรงตั้งขึ้นเพื่อให้หม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กซึ่งมีอยู่ราว ๒๕ คน และต่างก็มีอายุยังน้อยกันอยู่ ได้ใช้สถานที่นี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยมิต้องออกไปเที่ยวภายนอกพระราชฐานที่ประทับ ทั้งยัง "ได้โปรดพระราชทานเงินเบี้ยเลี้ยงประจำทุกเดือน เครื่องนุ่งห่มพอสมควรแก่บรรดาศักดิ์ และพระราชทานสิ่งของต่างๆ เปนรางวัลพิเศษบ้าง ตามกาลสมัยอันควร เช่น ในงานวันประสูตร์และปีใหม่เปนต้น"  []

 

          เนื่องจากทรงสังเกตเห็นว่า ลูกผู้ดีที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์บางคนที่มีอายุเจริญวัยหรือเรียกตามศัพท์สามัญว่าเป็นหนุ่มนั้น เกิดรู้สึกตนขึ้นว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วลอบหนีออกจากวังไปเที่ยวคบผู้หญิงซึ่งเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชนิยม เพราะ

 

          "ทรงสังเกตอยู่ว่า การประพฤติเปนนักเลงสุรายาเมา ๑ การเปนนักเลงเล่นการพนันต่างๆ ๑ การเปนนักเลงคบผู้หญิง ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้โดยมาก มักจะนำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวผู้ประพฤติฐาน ๑ เสียหายถึงเจ้าขุนมูลนายผู้ปกครองฐาน ๑ ผู้ที่พอใจประพฤติตนเปนนักเลงทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวมาแล้วนี้ โดยมากมักเริ่มเมื่อเปนผู้มีอายุน้อยไม่มีปัญญารอบรู้พอที่จะแลเห็นได้ว่า สิ่งไรจะให้ผลดีฤาชั่วเพียงไร ฤาถึงมีปัญญาแล้วก็มักไม่มีสติพอที่จะใช้ปัญญานั้น และยังไม่รู้จักทรมานจิตรของตนให้ปกครองมนายัตนะ มนายัตนะนั้นจึงพาให้ความคิดดำเนินไปในทางที่จะหาเพลิดเพลินต่างๆ เปนธรรมดาอยู่ดังนี้

 

          เมื่อทรงทราบอยู่ว่า สติอันเปนเครื่องยึดเหนี่ยวใจยังมิใคร่จะมีบริบูรณอยู่ในที่ผู้มีอายุน้อย จึงได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงช่วยอนุเคราะห์แก่เหล่ากุลบุตร์ที่ได้มาพึ่งพระบารมี"

 

          ครั้นความทราบทราบฝ่าละอองพระบาทว่า ถึงจะทรงชี้แจงและสั่งสอนให้เข้าใจในพระราชดำริแล้ว ก็ยังคงมีมหาดเล็กหนุ่มๆ บางคนยังคงนิยมที่จะประพฤติตนเป็นนักเลงผู้หญิง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มหาดเล็กไปเที่ยวเล่นผู้หญิงอันไม่เป็นที่ต้องด้วยพระราชนิยม ทั้งเพื่อจะมิให้ต้อง "ทรงเปนผู้ออกพระราชทรัพย์ ในการอุดหนุนผู้หญิงนครโสเภณี"  [] ซึ่งทรงพระราชดำริว่า "อยู่ข้างจะเปนการเหลือเกินอยู่สักหน่อย"  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “จิตรลดาธนาคาร” ขึ้นที่พระตำหนักจิตรลดา แล้ว

 
 

หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล)

ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

 
 

โปรดให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล)  [] ราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ปกครองมหาดเล็กข้าในพระองค์เป็นผู้รับเงินเบี้ยเลี้ยงประจำเดือนของมหาดเล็กเด็กๆ ซึ่งพระราชทานให้เป็นเสมือนเงินติดกระเป๋า (Pocket Money) เป็นรายเดือนคนละ ๕ บาทบ้าง ๑๐ บาทบ้าง แล้วโปรดให้นำเงินนั้นไปฝากไว้ในจิตรลดาธนาคาร "โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะมิให้ถอนไปใช้จ่ายได้นอกจากที่ได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนเปนอันขาด"  [] ทั้งยังได้มีพระราชบัณฑูรย์สั่งห้ามจิตรลดาธนาคารมิให้จ่ายเงินแก่มหาดเล็กผู้เป็นเจ้าของเงินฝาก หรือให้ผู้นั้นกู้ยืมเงินก่อนที่จะได้รับพระราชานุญาตโดยเด็ดขาด กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์แจ้งความไปยังบิดามารดาญาติพี่น้องของบรรดามหาดเล็กข้าในพระองค์ให้ทราบว่า

 

          "ถ้าบิดามารดาพี่น้องยังมีความรักใคร่บุตรฤาญาติของตนแล้ว ขออย่าได้ให้เงินฤาทรัพย์สิ่งของอันใดแก่ผู้นั้นๆ โดยตรง ถ้าแม้ว่าประสงค์จะอุดหนุนอย่างใด ก็ขอให้ส่งมายังผู้ปกครอง ถ้าบิดามารดาญาติพี่น้องผู้ใดไม่กระทำตามที่ทรงขอนี้ จะต้องเข้าพระราชหฤทัยว่า ผู้นั้นๆ ไม่มีความรักและหวังประโยชน์แก่เด็กจริงๆ และไม่นับถือพระองค์ผู้ทรงปกครอง"   []

 

 

ธนบัตรลีฟอเทีย ซึ่งทรงกำหนดให้ใช้ที่สโมสรลีฟอเทีย

 
 

          ในเมื่อทรงวางระเบียบมิให้มหาดเล็กข้าในพระองค์ถือเงินสดไว้ในมือเช่นนั้นแล้ว จึงได้ทรงคิดธนบัตร “ลีฟอเทีย” ขึ้น แล้วพระราชทานให้เด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้นั้นถือธนบัตรลีฟอเทียยนี้ไว้จับจ่ายใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ในสโมสรลีฟอเทีย เช่น ซื้อขนมหรือเครื่องใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อย เพราะการอยู่ในรั้ววังนั้นได้รับพระราชทานทั้งอาหารและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว

 

          จิตรลดาธนาคารจะเปิดดำเนินการตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ แล้ว ก็มิได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสโมสรลีฟอเทียไปด้วย และเมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติก็ไม่มีการกล่าวถึงจิตรลดาธนาคารอีกเลย ตราบจนมีพระราชดำริที่จะเลิกการพนันบ่อนเบี้ย เพราะเป็นหนทางเป็นทางให้เกิดการลักเล็กขโมยน้อย ไม่ตั้งใจปฏิบัติการงาน ทำให้บังเกิดผลร้ายแก่ตนเองต้องได้รับความทุกข์ ทั้งในส่วนกาย คือต้องรับทัณฑกรรมและลงอาญา ทั้งในส่วนใจ คือจะต้องเสียใจในการที่ไม่ได้มีความสุขเหมือนผู้อื่นๆ บิดามารดาหรือญาติพี่น้องก็จะพลอยรับความทุกข์โทมนัสและอับอาย เพราะจะต้องถูกติเตียนว่าเลี้ยงบุตรหลานไม่ดี ไม่สั่งสอนให้เดินไปในทางอันดีอันชอบ ผู้ที่เป็นเจ้าขุนมูลนายย่อมจะต้องพลอยถูกติเตียนด้วยว่าปกครองคณะไม่ดี จึงได้มีผู้ที่ประพฤติตนชั่วช้า เป็นผู้ที่ฉ้อโกงลักขโมย หรือเป็นนักเลงต่างๆ เป็นต้น จึงได้ทรงนำแนวพระราชดำริที่ได้ทรงทดลองจัดจิตรลดาธนาคารในการควบคุมการใช้จ่ายของมหาดเล็กในพระองค์มาเป็นแนวทางในการจัดตั้ง “คลังออมสิน” หรือธนาคารออมสินปัจจุบัน ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสตอบเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ว่า

 

          " รื่องคลังออมสินนี้ เราได้คิดมานานแล้ว แต่หากยังมีข้อขัดข้องบางอย่าง ซึ่งในเวลานั้นจะยังจัดไม่ได้ จึงได้พึ่งมาสำเร็จ และได้ออกพระราชบัญญัติในต้นศกนี้"   []

 

          เมื่อแรกโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคลังออมสินเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นและเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ฝากเงิน และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ประชาชนยังไม่กล้าไปฝากเงินไว้กับคลังออมสิน เพราะเกรงว่าเมื่อนำเงินไปฝากแล้วจะถอนเงินออกมาไม่ได้ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับคลังออมสินกว่า ๑๐๐ บัญชีเป็นตัวอย่าง เมื่อประชาชนได้เห็นตัวอย่างที่นักเรียนมหาดเล็กหลวงไปฝากเงินไว้กับคลังออมสินแล้วได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก จึงมีผู้สนใจมาฝากเงินกับคลังออมสินเมขึ้นเป็นลำดับ จนมีจำนวนบัญชีเงินฝากเกินกว่า ๑๐,๐๐๐ บัญชี ในตอนปลายรัชกาล

 

          อนึ่ง ในตอนปลายรัชกาลยังได้มีพระราชดำริที่จะส่งเสริมการออมของเยาวชน จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

 

          " ..ลูกเสือที่จะนับว่าเปนลูกเสือเอก นอกจากมีความรู้สอบไล่ได้วิชาลูกเสือเอกตามข้อ ๕๘ ต้องแสดงว่าเปนผู้รู้จักการออมถนอมทรัพย์จนเก็บไว้ในคลังออมสินได้ตามที่สภานายกกรรมการจัดการลูกเสือมณฑลกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่า ๕ บาท และเงินที่ฝากไว้ในคลังออมสินจะถือว่าถูกต้องตามข้อบังคับ ต้องมีผู้ควรเชื่อรับรองว่า เปนเงินที่หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือประหยัดไว้ได้จริงๆ มีบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายประกอบ..."   []

 

          นับได้ว่า แนวพระราชดำริในการจัดตั้งจิตรลดาธนาคาร ได้ขยายผลมาเป็นคลังออมสิน และพัฒนามาเป็นธนาคารออมสิน ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาด้วยความมั่นคงกว่า ๑๐๐ ปี รวมทั้งได้เป็นแนวทางในการปลูกฝังการออมของเยาวชนไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 


 

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. "ประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่อง เปนลูกผู้ชาย", วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗), หน้า ๑๒ - ๑๕.

[ ที่เดียวกัน.

[ ที่เดียวกัน.

[ ที่เดียวกัน.

[ ที่เดียวกัน.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบรมราโชวาทกับวชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๗๒.

[ "ประกาศเพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑", ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๘ ตุลาคม ๒๔๖๕), หน้า ๑๖๓ - ๑๖๕.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |