โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๙. ชโย โห่ฮิ้ว

 

          "โห่ฮิ้ว" นั้นเป็นอาการแสดงความยินดีปรีดาของชาวไทยมาแต่โบราณ เวลาที่จะแสดงความยินดีกันนั้นจะมีต้นเสียงซึ่งมักจะเป็นผู้อาวุโส "โห่" ขึ้นก่อน แล้วผู้ที่ร่วมชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้นจึงรับ "ฮิ้ว" ขั้นพร้อมกัน จากนั้นต้นเสียงก็จะโห่และรับฮิ้วต่อกันไปจนครบ ๓ ครั้ง จึงมักจะเรียกรวมกันว่า "โห่ ๓ ลา"

 

 

เจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเสือป่าและลูกเสือไปบวงสรวงสังเวย

เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

          ส่วนคำว่า “ชโย” นั้น เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ทรงนำเสือป่าและลูกเสือเดินทางไกลไปบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

          มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทรงพระราชดำริคำว่า "ชโย" ขึ้นนั้น เริ่มขึ้นเมื่อประทับแรมที่กำแพงแสนในคืนวันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งเป็นคืนที่ ๒ นับแต่เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระราชวังสนามจันทร์ ทรงเรียกเสือป่าและลูกเสือมาประชุมพร้อมกันที่หน้าพลับพลาที่ประทับ แล้วเสด็จลงทรงจุดธูปเทียนบูชาระแล้วทรงนำสวดมนต์ เริ่มด้วย อรหํ สมฺมา ฯลฯ แล้วสวดอิติปิโสกับคำนมัสการคุณานุคุณคำไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสวดมนต์จบแล้ว เสือป่าร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรยาวคำนับเป็นจบการนมัสการ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือแยกย้ายกันไปพักผ่อน

 

          คงจะเป็นเพราะเสือป่าและลูกเสือต่างก็มีบทร้องต่างกันตามเหล่าของตน เมื่อมาร้องพร้อมๆ กันจึงเกิดลักลั่นกันจนฟังไม่ได้ศัพท์ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องสรรเสริญพระบารมีขึ้นใหม่ ดังที่ได้ใช้กันสืบมาจนถึงทุกวันนี้ เฉพาะอย่างยิ่งในวรรคท้ายของบทร้องสรรเสริญพระบารมีที่เดิมร้องกันว่า "ดจถวายไชย ฉะนี้" แต่ฟังไปฟังมากลับกลายเป็น "ดุจถวายไชย ชะนี" แทนนั้น ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์แก้เป็น "ดุจถวายไชย ชโย" คำว่า "ชโย" และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือที่ตามเสด็จไปในคราวนั้นร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบทที่ที่ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงกล่าวได้ว่า คำว่า "ชโย" ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในวันเดียวกันนั้น

 

 

พระไชยนวโลหะ

 

 

          อนึ่งเมื่อทรงนำเสือป่าและลูกเสือกระทำพิธีบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์ยุทธหัตถีในวันพุธที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เสร็จแล้ว ได้เสด็จขึ้นประทับบนเกยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือ กับทหารและตำรวจภูธรที่ได้ร่วมในพิธีบวงสรวงสังเวย เดินสวนสนามผ่านหน้าที่ประทับ รับพระราชทานน้ำมนต์ที่ได้จากน้ำทรงสรงพระไชยนวโลหะ ทรงประพระราชทานแล้ว เสือป่า ลูกเสือ ทหารและตำรวจภูธรต่างร้อง “ไชโย” เป็นคำอวยไชยแทนการโห่และรับฮิ้ว ๓ ลาอย่างแบบเดิม

 

          ต่อจากนั้นได้ทรงนำคำ "ชโย" นั้นมาใช้กับการแสดงโขน ซึ่งแต่เดิมมานั้นเวลายกทัพออกมานั้น เมื่อขึ้นเพลงกราวรำ แล้วทั้งทั้งสองฝ่ายจะโห่แล้วรับฮิ้วฝ่ายละสามลานั้น ได้ทรงแก้ไขใหม่เป็นว่า เมื่อต้นเสียงฝ่ายพระรามโห่ขึ้นแล้ว ให้พลลิงรับว่า "ชโย" แทน ส่วนฝ่ายทศกัณฑ์ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมนั้น คงโห่ แล้วรับฮิ้ว ๓ ลาตามเดิม คำว่า "ชโย โห่ฮิ้ว" จึงมีที่มาฉะนี้

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |