โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๔.  มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหวงเชียงใหม่

๔ ธันวาคม ๒๔๕๙ - ๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๑

ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย

๕ มีนาคม ๒๔๖๑ - ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๑

 

 

          มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นบุตรพระยาเทพประชุน (ปั้น) ราชปลัดทูลฉลองกรมพระกะลาโหม (ปัจจุบันคือ ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) และองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณหญิงจัน เป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๓ ที่บ้านคลองบางหลวง ตรงข้ามวัดหงส์ ธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียว คือ ท่านผู้หญิงสงัด ภรรยาพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เมื่อพระยาเทพประชุนถึงอนิจกรรมแล้ว คุณหญิงจันได้พาย้ายมาอยู่ที่บ้านริมถนนเจริญกรุง ตรงข้ามตรอกกัปตันบุช ซึ่งขณะนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท เวิลทราเวลเซอร์วิส จำกัด (World Travel Service Co.,,Ltd.)

 

          เมื่ออายุ ๘ ปีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เรียนตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดจนกระทั่งสอบไล่ได้ชั้น ๔ เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ที่สายสวลีสันฐาคาร (โรงเลี้ยงเด็ก) ถนนบำรุงเมือง ต่อมาโรงเรียนย้ายไปเปิดสอนที่ตึกสุนันทาลัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนราชินี) แต่เรียนอยู่ได้เพียง ๒ เทอม นายสไปวี่ ครูใหญ่ชาวอังกฤษให้ข้ามชั้นขึ้นไปเรียนชั้น ๖ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด เมื่อสอบไล่ได้ชั้น ๖ ก็สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้เป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนพับลิคสกูล โชสบรี (Shrewsbury School) ถัดจากนั้นอีก ๒ ปี จึงเข้าศึกษาวิชาครูรวมทั้งวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester)

 

          ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษได้กล่าวไว้ในรายงานการศึกษาของพระยาปรีชานุสาสน์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "มีความจำดีเป็นพิเศษและมีความสามารถสูง ข้าเพจ้ากล้าพิจารณาอนาคตของเขาด้วยความมั่นใจ" พระยาปรีชานุสาสน์เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้วได้เริ่มชีวิตราชการด้วยการเป็นครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๗ ที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ต่อมาวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ย้ายไปเป็นครูประจำชั้นมัธยมสูงที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ศกเดียวกัน ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้รับพระราชทานยศชั้นต้นเป็นมหาดเล็กวิเศษ ถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นหุ้มแพรและรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชดรุณรักษ์ วันที่ ๑๐ มกราคม ศกเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

 

          พระยาปรีชานุสาสน์เป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพียงสามปีครึ่งก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง และรักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาได้รับพระราชทานยศเป็นรองหัวหมื่นและบรรดาศักดิ์เป็นพระราชดรุณรักษ์
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ มีพระราชดำริที่จะจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาปรีชานุสาสน์ซึ่งเวลานั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระราชดรุณรักษ์ ตามเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเสด็จขึ้นไปประจำรับราชการในตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคพายัพที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปเลือกหาสถานที่ที่จะจัดตั้งโรงเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเลือกสถานที่ได้ที่ห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพในตอนปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชมณฑลภาคพายัพจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้นที่ห้วยแก้ว แล้วย้ายนักโทษที่ต้องจองจำจากเรือนจำมณฑลภาคพายัพไปดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนจนแล้วเสร็จ

 

 

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ที่ห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยงานขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมจังหวัดเชียงใหม่

 

 

          อนึ่ง ในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปรีชานุสาสน์ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เมื่อพระยาปรีชานุสาสน์ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาเพื่อเดินทางขึ้นไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสสั่งเป็นการเฉพาะว่า "พระราชฯ ซึ่งจะไปรับราชการอยู่ห่างไกล ต้องตั้งใจทำกิจการให้ดี ให้สมที่ข้าไว้วางใจ"

 

          วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตของพระยาปรีชานุสาสน์ เพราะเป็นวันเริ่มงานใหม่ ที่ต้องกระทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณด้วยความหนักใจเป็นอย่างยิ่ง คือการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยนำครูบาอาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน และครอบครัว รวมทั้งหมด ๖๘ คนเพื่อไปเปิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ การเดินทางครั้งกระนั้นต้องโดยสารรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปค้างคืนที่พิษณุโลก รุ่งขึ้น ๐๖.๐๐ น. จึงขึ้นรถไฟต่อไปถึงลำปาง ค้างที่ลำปางอีกหนึ่งคืน จากลำปางขึ้นรถงานไปถึงตำบลห้างฉัตรใกล้เขาขุนตาลเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ที่ตำบลนี้เป็นป่าดงพงพีที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ผู้หญิงบางคนที่เดินทางไปด้วยถึงกับนั่งร้องไห้ ตอนนี้ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมง เพราะต้องแบ่งสันปันส่วนข้าวของให้เหมาะสมกับกำลังแรงของคนที่ทางราชการเกณฑ์มาช่วยหาบหาม พวกผู้ชายก็ขึ้นม้าขึ้นจักรยานออกเดินทางไป ส่วนผู้หญิงและลูกเด็กเล็กแดงขึ้นแคร่ให้คนหามตามไปกว่าจะถึงเขาขุนตาลก็เป็นเวลาพลบค่ำ แรมคืนบนยอดเขาเช้ามืดวันรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางต่อไปข้ามลำธารตื้นๆ และเขาเล็กอีกลูกหนึ่งจึงถึงลำพูน ค้างที่ลำพูนอีกคืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงนั่งเกวียนต่อไปจนถึงห้วยแก้วซึ่งอยู่เชิงดอยสุเทพ นอกตัวเมืองเชียงใหม่

 

 

กรรมการ ผู้บังคับการ อาจารย์ ครู และพนักงาน

ถ่ายภาพพร้อมด้วยนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

(นั่งแถวบน)

๔. พระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน – ต่อมาเป็นพระยาปรีชานุสาสน์) ผู้บังคับการ

 

๕. พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - ต่อมาเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

๖. หลวงวิเศษศุภวัตร์ (เทศสุนทร กาญจนะศัพท์ - ต่อมาเป็นพระยาวิเศษศุภวัตร์) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง

 

๗. หลวงประทัตสุนทรสาร (เหล่ง บุณยัษฐล - ต่อมาเป็นพระประทัตสุนทรสาร) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา

 

 

          วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นวันแรกที่โรงเรียนเปิดรับนักเรียน ผู้ปกครองนำนักเรียนไปเข้าอยู่ประจำในคณะวิเศษศุภวัตร์ ๑๙ คน และในคณะประทัตสุนทรสาร ๑๘ คน รวมทั้งสิ้น ๓๗ คน ต่อมาอีกปีกว่าๆ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึงกว่า ๑๐๐ คน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องจากความปรีชาสามารถและเป็นสัตบุรุษของพระยาปรีชานุสาสน์ผู้ที่วางตัวเข้ากับคนทุกชนทุกเหล่าได้โดยไม่มีใครรังเกียจเดียดฉันท์ โรงเรียนจึงเป็นที่นิยมของผู้ปกครองมากขึ้นทุกที

 

          พอถึงกลาง พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายรองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ลงมากรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็นหัวหมื่น พระยาราชดรุณรักษ์ และทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ดูแลควบคุมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนาพรานหลวง ให้ดำเนินกิจการไปตามพระบรมราโชบาย

 

          ต่อจากนั้นมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากตำแหน่งเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ถึงวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          พระยาราชดรุณรักษ์รับราชการอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกือบ ๗ ปี ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ คือเป็นกรรมการดำเนินการปกครองนิสสิตแผนกปทุมวัน เป็นอาจารย์ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นอาจารย์ในคณะวิทยาศาสตร์ เป็นบรรณารักษ์หอสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอธิการหอวัง เป็นต้น ในระหว่างนั้นได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |