โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๕. มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ - ๑๖ เมษายน ๒๔๗๖

 

 

          ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนเดียวกัน คือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน โปรดให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นอยู่กับสภากรรมการจัดการ พอถึงเดือนกันยายน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาปรีชานุสาสน์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

 

          เมื่อพระยาปรีชานุสาสน์มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ได้นำระบบโรงเรียนมัธยมกินนอน (Public School) ของอังกฤษมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากเท่าที่จะทำได้ในเมืองไทย กล่าวคือ เปิดเรียนตอนเช้า ตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. ถึง ๐๘.๐๐ น. แล้วจึงกลับไปรับประทานอาหารเช้า แล้วเรียนต่อไปจนถึง ๑๓.๐๐ น. จึงเลิกเรียนกลับไปรับประทานอาหารกลางวัน ดังเช่นโรงเรียนมัธยมกินนอนอังกฤษกระทำกันในฤดูร้อน

 

          กีฬาต่าง ๆ ที่นิยมเล่นกันในโรงเรียนอังกฤษ ก็ได้นำเข้ามาให้นักเรียนเล่นเกือบทุกประเภท และเมื่อถึงเวลาก็ได้จัดให้นักเรียนแต่ละคณะแข่งขันกันเองเพื่อชิงถ้วยพระราชทาน วชิราวุธวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่เริ่มเล่นรักบี้ฟุตบอล (Rugby Football) สควอช (Squash) และไฟวส์ (Five) เล่นกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอลแบบรักบี้ได้เล่นเรื่อยมาและเป็นผู้ชนะเลิศหลายปีติดต่อกัน

 

          นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดร.กมล (อ๊อด) ชาญเลขา ศิษย์คนหนึ่งของพระยาปรีชานุสาสน์ได้กล่าวถึง "ครูเจ้าคุณ" ของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไว้ว่า

 

 

          "เมื่อคุณครูเจ้าคุณปรีชาเข้ามาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ท่านได้ดำเนินการริเริ่มอย่างหนึ่งคือ จัดให้มีการประชุมอบรมนักเรียนทั้งโรงเรียนทุกบ่ายวันพฤหัสบดี การประชุมอบรมนี้ถือได้ว่าเป็นวานสร้างสรรค์โดยตัวของคุณครูแท้ๆ เพราะเริ่มมีขึ้นเมื่อคุณครูเข้ามาเป็นผู้บังคับการและเลิกไปเมื่อคุณครูออกจากโรงเรียนไปปฏิบัติราชการหน้าที่อื่น...

          การประชุมอบรมวันพฤหัสบดีที่แม้ก็คือการบรรยายพิเศษ มีรายการเน้นหนักไปทางเปิดหูเปิดตาขยายโลกทัศน์ของเด็กวัย ๙ - ๑๖ ปี ให้กว้างขวางออกไป บางทีก็มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เช่น "น.ม.ส."  [] และ "ครูเทพ"  [] มาเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้พวกเราฟัง บางทีก็มีอาคันตุกะผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก เช่น ท่านเซอร์ ระพินทรนาถ ตะกอร์   [] มาเป็นองค์ปาฐก แต่ส่วนมากคุณครูเป็นตัวยืนโรง"

 

 

          ในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น วชิราวุธวิทยาลัยมีห้องเรียนชั่วคราวสร้างด้วยไม้หลังคามุงจากอยู่ทางด้านทิศเหนือของคณะจิตรลดา ในเวลานั้นอาคารเรียนนั้นกำลังทรุดโทรมเพราะเป็นอาคารชั่วคราวที่ได้สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายโรงเรียนมาจากพระบรมมหาราชวัง พระยาปรีชานุสาสน์จึงได้พยายามเจียดงบประมาณของโรงเรียนรวมกับเงินทุนของโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ จัดสร้างตึกเรียนใหม่อันสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "ตึกวชิรมงกุฏ"

 

          เกี่ยวกับงานงบประมาณซึ่งแต่ละปีมีไม่มากพระยาปรีชานุสาสน์ได้ประหยัดรายจ่ายของโรงเรียนทุกวิถีทาง ยิ่งกว่านั้นพระยาปรีชานุสาสน์ยังแบ่งครูและอาจารย์ ออกเป็นสองพวก พวกอัตราเงินเดือนสูงและพวกอัตราเงินเดือนต่ำผลัดกันได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี พวกแรกได้เงินเดือนขึ้นแล้วพวกหลังก็ต้องรอไปจนถึงปีถัดไป ส่วนตัวพระยาปรีชานุสาสน์นั้นถือว่าได้รับเต็มอัตราแล้วจึงไม่มีการขึ้นเงินเดือนเลย

 

          ในตอนนี้ พระยาปรีชานุสาสน์ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีสติปัญญาหลักแหลมผู้หนึ่ง กล่าวคือ ท่านมีครูไทยที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ๓ คน มีอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ๑ คน และมีอาจารย์ชาวอังกฤษ ๔ คนอยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ท่านก็ปกครองครูและอาจารย์เหล่านั้นได้สบายและราบรื่น โดยมิได้มีความขุ่นข้องหมองใจกันแม้แต่เล็กน้อย

 

          เกียรติประวัติของพระยาปรีชานุสาสน์ที่สมควรบันทึกไว้อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อแรกที่พระยาปรีชานุสาสน์มารับหน้าที่ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ได้ตรวจพบนาฬิกาเรือนหนึ่งซึ่งเดิมเคยติดอยู่ที่หน้าจั่วของหอประชุมโรงเรียนราชวิทยาลัยที่บางขวาง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนราชวิทยาลัยในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่ได้ถอดนาฬิกาเรือนนี้พร้อมกับทรัพย์สินอื่นๆ มาเก็บไว้ที่วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อพระยาปรีชานุสาสน์ตรวจพบนาฬิกาเรือนดังกล่าวในคลังพัสดุของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ติดต่อขอให้บริษัท เอส.เอ.บี. จำกัด ผู้สั่งนาฬิกาเรือนนี้เข้ามาจำหน่ายให้ติดต่อผู้ผลิตในต่างประเทศแปลงหน้าปัทม์นาฬิกานี้เป็นสี่ด้าน และได้ขอให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) และหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สถาปนิกของกระทรวงธรรมการช่วยออกแบบหอนาฬิกาเพื่อนำนาฬิกาที่ดัดแปลงหน้าปัทม์แล้วขึ้นติดตั้ง ทั้งเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงโรงเรียนราชวิทยาลัยที่ได้ถูกยุบเลิกไป และในระหว่างที่คณะละครไทยเขษมกำลังเตรียมการที่จะจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเก็บเงินจัดสร้างหอนาฬิกานี้ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ได้เป็นผู้คิดพระราชสมัญญาภิไธย "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ขึ้น จึงกล่าวได้ว่า พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการถวายพระราชสมัญญาภิไธย "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ซึ่งมีความหมายว่า "มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์"

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกจำนวน ๗๐ คน เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยาปรีชานุสาสน์ก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนนั้นและมีหน้าที่เป็นกรรมการการศึกษา และกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ด้วย

 

          ต่อมาวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาปรีชานุสาสน์จากตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ไปดำรงตำแหน่งทำการแทนปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการประจำ

 

          พระยาปรีชานุสาสน์ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะที่มีอายุเพียง ๔๓ ปี จากนั้นได้ร่วมกับญาติมิตรก่อตั้งบริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด เพื่อออกหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ชื่อ "สยามครอนิเกิล" (Siam Chronicle) ออกวางตลาดฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ พระยาปรีชานุสาสน์เป็นประธานกรรมการของบริษัท และเป็นบรรณาธิการของสยามครอนิเกิลด้วยตนเอง เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทในการร่วมก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ กับได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นคนแรกด้วย

 

          กิจการด้านหนังสือพิมพ์ได้เจริญก้าวหน้าไปด้วยดี มีการพิมพ์หนังสือรายวันภาษาไทยออกจำหน่าย ฉบับแรกคือ "สยามนิกร" ชื่อนี้พระยาปรีชานุสาสน์คิดตั้งขึ้นเพื่อให้ฟังคล้ายเสียงสยามครอนิเกิล ต่อจากนั้นยังได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น พิมพ์ไทย ไทยเสรี ไทยสมิต สุภาพสตรี และแหลมทอง เป็นต้น ส่วนหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษก็คือ มอร์นิ่งเอ็กสเพรส (Morning Express) นอกจากนั้นยังพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนชื่อไทย "ฮั้วเซียงป่อ" ออกจำหน่ายด้วย

 

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง บริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด ได้ขายกิจการให้แก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ เมื่อขายกิจการหนังสือพิมพ์ไปหมดแล้ว พระยาปรีชานุสาสน์และญาติมิตรคณะเดิมได้เริ่มก่อตั้ง บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ขึ้น โดยตัวท่านรับตำแหน่งประธานกรรมการ

 

          พระยาปรีชานุสาสน์ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ รัฐบาลได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการวิสามัญไปรับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาการวัฒนธรรมประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนเป็นคนแรก และคงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ จนพ้นจากตำแหน่งทั้งสองเพราะเกษียณอายุราชการในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๓

 

          ในระหว่างที่รับราชการนั้น พระยาปรีชานุสาสน์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด รวมทั้งบำเหน็จความชอบในพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

 

               ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมพานทองเครื่องยศ

               ตริตาภรณ์ช้างเผือก

               ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

               วชิรมาลา

               เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๓

               เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

 

          ตนโดยมากขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว มักจะไม่ใคร่ใฝ่ใจเรื่องศาสนานัก แต่พระยาปรีชานุสาสน์หาเป็นเช่นนั้นไม่ คือ พระยาปรีชานุสาสน์มีอุปนิสัยใจบุญมาแต่วัยหนุ่มแล้ว ดังที่พระเทพมงคลปัญญาจารย์ วัดปทุมวนาราม ซึ่งเคยเป็นเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ ได้กล่าวถึงพระยาปรีชานุสาสน์ไว้ว่า "เจ้าคุณปรีชานุสาสน์เอาใจใส่ในพระพุทธศาสนามาก บำเพ็ญกุศลเสมอ ช่วยทำนุบำรุงวัดสระปทุมมาตลอดเวลา กับยังออกเงินเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นค่าภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรวัดสระปทุมอีกด้วย"

 

          พระยาปรีชานุสาสน์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับประทานสมณฉายาว่า สุปัญโญ จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหารถ้วนพรรษกาลแล้ว ลาสิกขาบทเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ในขณะที่เป็นพระภิกษุสอบไล่ได้เป็นนักธรรมตรี

 

          พระยาปรีชานุสาสน์ได้สมรสกับนางสาวปฤกษ์ โชติกเสถียร ธิดาพระยาทิพโกษา (โต) และคุณหญิงกุหลาบ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ชีวิตสมรสมีความราบรื่นเป็นอย่างดี ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอยู่ถึง ๖๐ ปีเศษ มีบุตร ๕ คน ธิดา ๗ คน ดังนี้

               ๑. พันตรีรักษ์ ปันยารชุน

               ๒. นางสุธีรา เกษมศรี

               ๓. นางปฤถา วัชราภัย

               ๔. นางกุนตี พิชเยนทรโยธิน

               ๕. นายกุศะ ปันยารชุน

               ๖. หม่อมจิตรา วรวรรณ

               ๗. นางดุษฎี โอสถานนท์

               ๘. พันตำรวจเอก ประสัตถ์ ปันยารชุน

               ๙. นางกรรถนา อิศรเสนา

             ๑๐. นางสุภาพรรณ ชุมพล

             ๑๑. นายชัช ปันยารชุน

             ๑๒. นายอานันท์ ปันยารชุน

 

          สุขภาพของพระยาปรีชานุสาสน์เริ่มน่าวิตกมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่ถึงกระนั้นกำลังใจยังดีเยี่ยม สติปัญญายังสมบูรณ์ และไม่ยอมพักรักษาตนอย่างจริงจัง ยังคงไปไหนโดยมีพยาบาลคอยช่วยพยุงเป็นปกติชะรอยจะเข้าใจว่า ถ้าพักผ่อนโดยนอนป่วยเมื่อใดคงจะลุกขึ้นมาใหม่อีกได้ยาก ต่อมาวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ อันเป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ ๘๒ ปี พระยาปรีชานุสาสน์ ซึ่งก่อนหน้านั้นสองสามวันรู้สึกไม่ค่อยสบายและได้พักผ่อนอยู่กับบ้านคงจะรู้สึกตัวว่า ตนเห็นจะต้องพักผ่อนอย่างจริงจังเสียทีแล้ว จึงได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ศกนั้น แล้วได้กลับมาพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านได้โดยมีพยาบาลดูแลอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่กลับมารักษาตนที่บ้านได้ประมาณเกือบหนึ่งปีครึ่ง พระยาปรีชานุสาสน์ก็ถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เวลา ๐๑.๔๕ น. สิริอายุ ๘๓ ปีเศษ

 

 
 

[ ]  พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ

[ ]  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

[ ]  Sir Rabindranath Tagore ปราชญ์ชาวอินเดีย และคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |