โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๖. มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

๑ มกราคม ๒๔๘๖ - ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๘

 

 

          พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นบุตรของหลวงราชดรุณรักษ์ (ม.ร.ว.กระจ่าง อิศรเสนา) โอรสหม่อมเจ้าจันตรี ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๒ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ) กับนางราชราชดรุณรักษ์ (เอี่ยม อิศรเสนา) เกิดที่บ้านถนนพระสุเมรุ ตำบลผ่านฟ้าลีลาศ อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร (ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารกรุงเทพจำกัด(มหาชน) สาขาสะพานผ่านฟ้า) เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๙ ค่ำ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๙

 

          เมื่อเยาว์วัยได้เล่าเรียนหนังสือไทยที่บ้านโดยมีพระยาเกษตร์หิรัญรักษ์ (อุ่ม คุวานเสน) น้าชายเป็นผู้สอน เมื่ออายุ ๘ ขวบได้เข้าเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกเข้าเรียนทางโรงเรียนจัดให้เข้าเรียนชั้น “กอ, ขอ, นอโม” ซึ่งเป็นชั้นเรียนเริ่มแรกของโรงเรียน แต่เนื่องจากได้เรียนหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” จบเล่มมาจากที่บ้านแล้ว พอสิ้นปีจึงได้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประโยคหนึ่ง ซึ่งต้องเรียนเลขเป็นวิธีที่ยากขึ้น และต้องใช้หนังสือ "วาหนิตินิกร" และ "อักษรประโยค" เป็นแบบเรียน เรียนชั้นนี้อยู่ ๑ ปี ก็สามารถสอบประโยค ๑ ได้ และควรจะต้องเลื่อนขึ้นไปเรียนประโยคสอง แต่ในปีนั้นกระทรวงธรรมการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพิ่มวิชาใหม่ๆ เข้ามา การเรียนประโยค ๑ และ ๒ จึงต้องขยายเวลาเล่าเรียนเป็นประโยคละ ๓ ปี เรียกว่า ประโยคหนึ่ง ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม กับประโยคสอง ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม

 

          ด้วยเหตุที่มีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาเป็นเช่นที่กล่าวมา ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา จึงต้องเรียนต่อในประโยคสอง ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสามตามลำดับ ในระหว่างที่กำลังเรียนประโยคชั้นสองชั้นหนึ่งอยู่นั้น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบต้องย้ายแผนกภาษาอังกฤษไปเปิดสอนที่ตึกแม้นนฤมิตร วัดเทพศิรินทราวาส เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบ (ตัดคำว่าพระตำหนักออก) ส่วนแผนกไทยย้ายไปเปิดสอนที่ศาลารายวัดมหาธาตุ ได้เรียนที่โรงเรียนวัดมหาธาตุจนจบประโยคสอง ชั้นสาม ขณะมีอายุเพียง ๑๔ ปี ก็ประจวบกับทางราชการได้เพิ่มหลักสูตรประโยคสาม ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสามขึ้นอีก จึงได้เรียนต่อประโยคสาม ชั้นหนึ่ง และในปีเดียวกันนี้ได้สมัครสอบแก้ปัญหาธรรม ณ มหามกุฏราชวิทยาลัย (วัดบวรนิเวศวิหาร) สามารถสอบไล่ได้ตั้งแต่ชั้น ๓ เรื่อยมาจนถึงชั้น ๑ อันเป็นชั้นสูงสุดในรวดเดียว

 

          เมื่อสอบประโยคสาม ชั้นหนึ่งได้แล้ว อยากจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงลาออกจากโรงเรียนวัดมหาธาตุไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่โดยที่หลักสูตรภาษาอังกฤษจัดการเล่าเรียนไม่เหมือนหลักสูตรภาษาไทย เรียกชั้นสูงสุดว่า "ชั้นหก" ภาษาอังกฤษที่เรียนมาในประโยคสาม ชั้นหนึ่ง รวมทั้งที่เรียนพิเศษในเวลากลางคืนมานั้น มีความรู้พอเข้าเรียนชั้น ๕ ในโรงเรียนราชวิทยาลัย จึงต้องเรียนต่อจนสอบไล่ได้ชั้น ๖ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี

 

          เนื่องจากระบบการศึกษาในสมัยนั้น ผู้ที่สอบชั้น ๖ อังกฤษ ได้คะแนนตั้งแต่อันดับที่ ๑ ถึงที่ ๕ จะได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่ได้ที่ ๑ และ ๒ สามารถเลือกไปเรียนวิชาอะไรก็ได้ตามใจชอบ เวลาที่เรียนสำเร็จกลับมาแล้วจะรับราชการหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ที่สอบไล่ได้ในลำดับที่ ๓ ถึง ๕ ต้องเรียนวิชาตามที่กระทรวงธรรมการกำหนด และจะต้องกลับมาเป็นครูเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยเหตุที่หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา สอบไล่ได้เป็นที่ ๓ จึงต้องไปศึกษาวิชาครูตามต้องการของกระทรวงธรรมการ ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ และพระยาศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๖

 

          แรกเดินทางถึงประเทศอังกฤษ ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา ได้เข้าศึกษาต่อที่พับลิคสกูลชื่อ เอาน์เดิล (Oundle) เป็นเวลา ๓ ปี สอบไล่ได้ School Certificate ตามหลักสูตรร่วมของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford University) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และ Matriculation ของมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) แล้ว จึงได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอนในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชา Pure Mathematics, Applied Mathematics, Chemistry ควบไปกับวิชาการศึกษา (Education) ตามหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะต้องเรียน ๓ ปีจึงจะได้ปริญญา B.Sc. แต่เมื่อเรียนจบ ๒ ปีแล้วจะต้องสอบไล่เสียตอนหนึ่งก่อน ผู้ที่สอบไล่ได้ในตอนนี้หากประสงค์จะออกไปเป็นครู ทางมหาวิทยาลัยจะออก Diploma รับรองคุณวุฒิให้ แต่ถ้าประสงค์จะรับปริญญาต้องเรียนเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก ๓ ภาคเรียนหรือ ๑ ปี

 

          เมื่อสำเร็จการศึกษาในปีที่สองและสอบไล่ได้ Diploma โดยได้รับเกียรติชั้นที่ ๑ แล้ว หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ได้สมัครเรียนต่อในชั้นปริญญา แต่เรียนไปได้เพียง ๒ ภาค เหลืออีกเพียงภาคเรียนเดียวจะได้รับปริญญาก็ถูกทางราชการเรียกตัวกลับเข้ารับราชการ เพราะมีการเปิดหลักสูตรการศึกษาใหม่ และครูที่จะสอนในชั้น ๗ และ ๘ มีไม่พอ จึงต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสกลับจากการศึกษาต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต

 

          ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นอาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเมื่อโรงเรียนเลิกในตอนบ่ายแล้วยังได้ไปทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเวลานั้นเปิดสอนอยู่ที่สายสวลีสัณฐาคาร (โรงเลี้ยงเด็ก) จนโรงเรียนราชวิทยาลัยย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และย้ายไปเปิดสอนที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี จึงย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พร้อมกับทำหน้าที่เลขานุการสามัคยาจารย์สมาคมต่อมาอีก ๔ ปี จนได้รับเหรียญทองลงยาของสมาคม

 

          ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในชั้นต้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเลยทีเดียว แต่มีพระราชดำริว่า "ม.ล.ทศทิศนั้นมีบกพร่องข้อใหญ่อยู่ข้อหนึ่งคือเรื่องอายุยังอ่อนอยู่มาก เกรงว่าจะไม่เป็นผู้ใหญ่พอแก่หน้าที่"  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา และพระราชทานยศมหาดเล็กให้เป็น รองหุ้มแพร (เทียบเท่านายร้อยโท) ในระหว่างนี้ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ม.ล.ทศทิศก็ได้สมัครเข้าเป็นเสือป่า ได้รับพระราชทานยศเป็น นายหมู่ตรีและนายหมู่โทตามลำดับ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ กับได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นหุ้มแพร (เทียบเท่านายร้อยเอก)

 

 

นายหมู่เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.มศทิศ อิศรเสนา) ถ่ายภาพพร้อมด้วย

พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ตรวจการลูกเสือ

นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

แลพกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) ที่หน้าท้องพระโรงวังวรดิศ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือกองแรกของประเทศขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นหนึ่งในสามผู้กำกับลูกเสือชุดแรกของประเทศ [] กองลูกเสือกองแรกนี้ได้ทำพิธีเข้าประจำกองเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สนามหน้าสโมสรสถานเสือป่า พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ว่า "กองลูกเสือหลวง"

 

          ต่อมาในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง ย้ายการบังคับบัญชาไปขึ้นแก่เสนาธิการเสือป่า หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์จึงได้รับพระราชทานยศเสือป่าเป็นนายหมวดตรี และเลื่อนเป็นนายหมวดโทในปีเดียวกัน

 

          ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ กระทรวงธรรมการขาดเจ้าหน้าที่บริหาร จึงได้ขอตัว จ่า หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ กลับไปรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกระทรวงธรรมการ ขาดจากราชการทางกรมมหาดเล็กจึงได้รับพระราชทานเปลี่ยนไปใช้ยศ อำมาตย์ตรีตรี ทางข้าราชการพลเรือน และรับพระราชทานเปลี่ยนราชทินนามเป็นหลวงประพนธ์เนติประวัติ ในปลายปีเดียวกันนั้นได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นอำมาตย์โท เปลี่ยนตำแหน่งเป็นพนักงานจัดการโรงเรียนจังหวัดพระนครกลาง กับเป็นปลัดกรม กรมสามัญศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง ในส่วนราชการเสือป่าได้เป็นรองผู้ตรวจการลูกเสือกรุงเทพฯ แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายหมวดเอกสังกัดกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ และเป็นราชองครักษ์เสือป่าตามลำดับ

 

 

คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ชุด พ.ศ. ๒๔๕๙

ถ่ายภาพพร้อมด้วย พระปรีชานุสาสน์ (ม.ล.ทศิศ อิศรเสนา) ผูกรรมการกำกับเส้น ที่สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต

 

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระปรีชานุศาสน์ และได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการกรรมการฟุตบอลแห่งสยาม (เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์) เป็นคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นอำมาตย์เอก และปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งเครื่องยศมหาดเล็กชั้นรองหัวหมื่น (เทียบเท่านายพันโท) เป็นพิเศษ แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนยศเสือป่าเป็นนายกองตรี ราชองครักษ์เสือป่าต่อไป ถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รั้งเจ้ากรม กรมการสอบไล่อีกตำแหน่งหนึ่ง และยังคงต้องทำหน้าที่พนักงานตรวจการโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย อนึ่ง ในปีเดียวกันนี้เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทศทิศอิศรเสนา แต่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม จึงทรงคิดราชทินนามให้ใหม่ว่า “พระยาภะรตราชา” เป็นบรรดาศักดิ์พิเศษในทำเนียบของพระราชสำนัก

 

 

 

[ ]  ผู้กำกับลูกเสือชุดแรก ๓ คน ประกอบด้วย ๑) พระยาบริหารรมานพ (ศร ศรเกตุ) ๒) พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อศรเสนา) ๓) หลวงหัดดรุณพล (จ้อย พลทา)

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |