โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๙. ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

๓๐  มิถุนายน  ๒๕๓๙ - ๓๐  มิถุนายน  ๒๕๕๐

 

 

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นบุตรของ พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช โดยสกุล "สมุทวณิช" นี้เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๑๙๐๓ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มการศึกษาครั้งแรกที่บ้านกับคุณย่าเมื่ออายุ ๔ ปี แล้วจึงมาเข้าโรงเรียนประจำ "บ้านป้าครู" หรือครูเนี้ยน สโรชมาน ผู้เป็นญาติทางมารดา ที่บ้านพักครูบริเวณสนามหลังวชิราวุธวิทยาลัย ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งตึกอัศวพาหุ (เดิมเป็นอาคารสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยมีเพื่อนสนิทชื่อ จักรพันธ์ โปษยกฤต

 

          เนื่องจากได้เคยศึกษาวิชาชั้นต้นมาบ้างแล้ว เมื่อเข้าศึกษาต่อในวชิราวุธวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เลยทีเดียว และได้เป็นนักเรียนรุ่นแรกของคณะเด็กเล็ก ๓ (ปัจจุบันคือ คณะสราญรมย์) มีเพื่อนร่วมคณะเด็กเล็กราว ๓๐ คน อาทิ ดำรงพันธุ์ พูนวัตถุ เมื่อเรียนชั้นมัธยมได้ย้ายฟากไปอยู่ที่คณะพญาไท ในสมัยที่หลวงโศภณคณาภรณ์ (ม.ล.อุไร อิศรเสนา) เป็นผู้กำกับคณะ จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้วได้เดินทางไปศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่ โรงเรียนเซนต์ออกุสตีน (St.Augustine) เมืองดาร์จีลิง (Darjeeling) ประเทศอินเดีย แต่ไปเรียนได้ไม่นานก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานขึ้น จึงต้องเดินทางกลับมาศึกษาต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมศึกษาตอนปลาย) ที่วชิราวุธวิทยาลัย

 

          เนื่องจากในช่วงเวลานั้นวชิราวุธวิทยาลัย เปิดสอนเฉพาะชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ แต่เพราะความรักเพื่อนและโรงเรียน ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงไม่ยอมย้ายไปเรียนแผนกอักษรศาสตร์ในโรงเรียนอื่น ต้องทนเรียนวิชาที่ไม่ถนัดจนจบหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกวิทยาศาสตร์ และสอบไล่ชั้นประโยคเตรียมอุดมศึกษาได้เพียง ๕๗.๓% แต่สามารถทำคะแนนสอบเข้าศึกษาต่อในแผนกวิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นที่ ๒ และสอบขึ้นชั้นปีที่ ๒ ได้เป็นที่ ๑ ของรุ่น
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพียงปีเศษ ก็สอบชิงทุนโคลัมโบได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย (Victoria University of Wellington) ประเทศนิวซีแลนด์ และในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นิวซีแลนด์นั้นได้ร่วมกับเพื่อนๆ นักเรียนไทยในนิวซีแลนด์จัดตั้งสมาคมนักเรียนไทยในนิวซีแลนด์และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในนิวซีแลนด์เป็นคนแรก

 

          เมื่อศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญา Bachelor of Arts (B.A.) จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียและเดินทางกลับถึงประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ แล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างประจำที่กรมวิเทศสหการ สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งวิทยากรโทเป็นเวลา ๑ ปี แต่เพราะทางราชการลืมบรรจุเข้าเป็นข้าราชการประจำ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ นายผิว พูนสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมวิเทศสหการจึงได้จัดหาทุน USAID ให้ไปศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) สหรัฐอเมริกา

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้เวลาศึกษาเพียง ๑ ปี ก็สามารถเรียนจบชั้นปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แล้วได้ขออนุญาตศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดิมโดยใช้ทุนเดิม จนสำเร็จการศึกษาเป็น Doctor of Philosophy เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และรางวัลนักศึกษาเก่าดีเด่นจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินด้วย

 

          อนึ่ง ในระหว่างเสนอหัวข้อและเตรียมจัดทำวิทยานิพนธ์นั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ และบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โทประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) แล้วจึงโอนย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์ระดับ ๑๐ และระดับ ๑๑ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ และ พ.ศ. ๒๕๒๗ ตามลำดับ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ยังได้รับเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของสภาวิจัยแห่งชาติในสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

 

          นอกจากราชการประจำดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ยังได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตประจำสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วได้รับเลือกเป็นเป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสถานคนที่ ๑ ในสมัยที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็น นายกราชบัณฑิตยสถาน แล้วได้รับเลือกเป็นนายกราชบัณฑิตยสถานรวม ๒ สมัย ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๒

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ๑๐๐ คนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ จากนั้นได้ร่วมกับเพื่อนอาจารย์และนักวิชาการก่อตั้งพรรคพลังใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อจากนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองไทยมาโดยตลอด ได้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลายสมัย

 

          ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วเป็นสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๐ กับได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ได้ดำรงตำแหน่งนี้ในระหว่างวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ - ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ แล้วเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ - ๒๕๕๑

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และเมื่อครบวาระครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ดำรงตำแหน่งต่อมาอีก ๑ สมัย ครั้นครบวาระที่ ๒ แล้ว ในระหว่างที่คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยกำลังสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมารับตำแหน่งแทน ก็ได้ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งผู้บังคับการต่อไปอีก ๑ ปี จึงได้พ้นจากตำแน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

 

          ในระหว่างเวลา ๑๑ ปีที่ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยโดยเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยคนแรกที่ได้กลับมาเป็นผู้บังคับการนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ริเริ่มนำทฤษฎีการศึกษา ที่สนับสนุนให้เด็กได้แสวงหาความรู้อย่างมีความสุขอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงมาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยมีความเชื่อว่า "การเล่น เพื่อรู้เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาเด็ก โดยได้คิดบัญญัติศัพท์ Plearn ซึ่งมาจากคำว่า play + learn เป็นการเปลี่ยนการเรียนตลอดชีวิต ให้เป็นการเพลินตลอดชีวิต"

 

          แนวทางการจัดการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นั้น นอกจากจะดำเนินรอยตามพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ว่า "ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งเพลิดเพลินสำหรับเด็ก" แล้ว ยังเผอิญไปสอดคล้องกับแนวความคิดในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทั้งที่วชิราวุธวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการจัดการศึกษาในระบบใหม่นี้มาแล้วหลายปี ก่อนจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว และก่อนที่โรงเรียนทั่วไปจะเริ่มจัดให้มีการพัฒนาบุคลากร พัฒนาหลักสูตร เพื่อให้สัมฤทธิผลตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในปี ๒๕๔๕

 

          นอกจากนั้นในช่วงแรกที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ยังได้จัดให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครู และบุคลากรทั้งหมด โดยได้นำทฤษฎี Constructivism ซึ่งเป็นทฤษฎีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดย Seymour Papert แห่งสถาบันสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซุเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) มาปรับใช้ โดยทฤษฎีนี้เชื่อมั่นว่า ความรู้เกิดจากการสร้างขึ้นโดยตัวเด็ก การศึกษาจะประกอบด้วยการจัดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ การคิดของเด็กสอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการ และความเป็นไปได้ในปัจจุบันของพวกเขา การให้การศึกษาแก่เด็ก จึงต้องคำนึงถึงการคิดของเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนของ การพัฒนาความรู้ และโลกของเด็ก จะถูกสร้างขึ้น และสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ ตาม ประสบการณ์ส่วนตัวของเขา และทฤษฎี Learning to Learn อันเป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่โดย Christine Ward ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์ มาจัดการอบรม และแนะนำการสอนแก่ครู อาจารย์ ของวชิราวุธวิทยาลัย

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ว่า เมื่อเด็กๆ แปรสภาพเป็นผู้ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นผู้รับความรู้จากการสอนแบบเดิม ซึ่งทำให้เกิดการแปลกแยกจากระบบการเรียนเดิมมากขึ้น สิ่งที่เด็กเรียนเองมีมากขึ้น หากเขามีทักษะและมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือสามารถเช่าเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ตได้ หากโรงเรียนและครูไม่ปรับปรุงกระบวนการเรียนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เป็นไปได้ว่าครูและโรงเรียนจะกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่จะถูกข้ามไป ฉะนั้นโรงเรียนจึงมีหน้าที่จะต้องสนับสนุนให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ไปพร้อมๆ กัน

 

          ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ก็ได้ มีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาต่างประเทศพร้อมกันไปในทันที โดยมีเป้าหมายไว้ว่า เด็กจะต้องมีการสื่อสารจริงกับชาวต่างประเทศจากปี ๒๕๓๙ ซึ่งวชิราวุธมีครูชาวต่างประเทศน้อยมาก ก็มีการทยอยรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๕ วชิราวุธวิทยาลัยมีครูชาว อังกฤษ อเมริกัน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ถึง ๒๐ คน

 

          แม้กระนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังมีความเชื่อว่า นักเรียนทุกคนแม้ได้รับความเอาใจใส่ทางการศึกษาเท่ากัน แต่พัฒนาการของแต่ละคนไม่เท่ากัน นักเรียนที่มีทั้งความสามารถ และกระตือรือร้นไม่ควรถูกหยุดยั้งสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ โดยเรียนไปพร้อมๆ คนอื่น จึงได้วางแผนส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ โดยจัดกลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าลู่ที่เรียกว่า Fast Track โดยเน้นให้มีความรู้ภาษาอังกฤษขั้นสูง และสามารถเรียนบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งสามารถใช้อินเตอร์เน็ต ในการค้นหาข้อมูลได้อย่างแคล่วคล่อง

 

          ในปีการศึกษา๒๕๔๐ ได้เริ่มจัดให้มีการสอนวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ทั้งระดับประถมและมัธยม และได้จัดให้มีการก่อสร้างตึกเวสสุกรรมสถิตเป็นอาคาร Art & Design Technology ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งโครงการนี้ไว้ว่า "ผมก็มองว่าถ้าจะมีการลงทุน ผมจะลงทุนในเรื่องอะไร ผมคิดว่าเวลานี้ เป็นสังคมความรู้ สังคมความรู้คือ ความคิด ความคิดขึ้นอยู่กับโนว์ฮาว และ ความคล่องแคล่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็กำหนดวชิราวุธว่า เราอาจจะแข่งขันกับโลกนี้ไม่ได้ในเรื่องของสังคมทั้งหมด แต่เราน่าจะแข่งกันได้ในเรื่องของความสามารถเฉพาะตัว ในเรื่องของความคิดต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมก็เลยมุ่งไปยังเรื่องศิลปะการออกแบบ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน"

 

          ส่วนเรื่องของการแสดง ซึ่งจัดอยู่ในแผนการศึกษาแผนใหม่ของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ได้แสดงแนวความคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้าเรามาดูพระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๖ ที่มาเล่นเป็นบทละครในสมัยของท่าน จะเห็นได้ว่า ท่านต้องการให้การเรียนรู้ ต้องการสอนให้ข้าราชบริพารและพ่อค้าวาณิช ในเรื่องคุณค่าของความเป็นตะวันตก แต่ที่สำคัญท่านไม่ได้บอกว่าเอาไปตามนั้นเลย เพราะท่านเป็นคนแรกที่พูดถึงลัทธิเอาอย่าง ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่พยายามที่จะรับกับกระแสตะวันตก ละครของท่านหลายเรื่องเป็นการเล่นเพื่อสอน เช่น เรื่องกลแตก ที่ให้เน้นเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ท่านจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทั้งๆ ที่ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่ ที่จะทำตรงนั้นได้ท่านจะทำอย่างไร"  วชิราวุธวิทยาลัยในสมัยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้บังคับการ จึงได้เจริญรอยพระยุคลบาทโดยจัดให้มีการดัดแปลงอาคารในโรงเรียนเป็นโรงละคร มีการรับครูการละครเพิ่มเติม รวมทั้งจัดให้ครูภาษาอังกฤษมาเป็นครูการแสดง ๑ คน แล้วได้จัดให้นักเรียนแสดงละครพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นลำดับมาทุกปี

 

          เนื่องจากในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการปรับเปลี่ยนวันกลับบ้านของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจากเดิมกลับบ้านเดือนละครั้งเมื่อเลิกเรียนในบ่ายวันเสาร์ และกลับเข้าโรงเรียนในตอนเช้าวันจันทร์ มาเป็นกลับบ้านทุกบ่ายวันศุกร์เว้นศุกร์ และกลับเข้าโรงเรียนในเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งการที่นักเรียนกลับบ้านทุกวันศุกร์เว้นศุกร์นี้ทำให้การเรียนในวันเสาร์ไม่เป็นไปโดยต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงได้ปรับการเรียนในวันเสาร์ที่นักเรียนอยู่โรงเรียนเป็นการปฏิบัติกิจกรรมกรรมวันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งนี้ท่านผู้บังคับการได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการสอดแทรกความรู้ไปในกิจกรรมสันเสาร์นี้ไว้ว่า

 

 

          "ผมเลิกเรียนวันเสาร์มา ๓ ปี ทดลองดูว่าให้เด็กเลือก ใครอยากทำอะไรในโลกนี้ ใครอยากจะเรียนขี่ม้า หรือใครอยากนอนไม่อยากทำอะไรเลย ก็นอนไป แล้วแทนที่จะมีโปรแกรมว่าศิลปคำนวณ ศิลปฝรั่งเศส เราเปิดทางเลือกให้วันเสาร์ไม่มีเรียน แต่ให้ครูกับเด็กมาร่วมกันศึกษาวัฒนธรรม และภาษาจีนแมนดาริน วัฒนธรรม และภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมและภาษาเยอรมัน ก็มีเด็กกับครูเรียน เพราะฉะนั้น หลังจาก ๓ - ๔ ปีนี้เราน่าจะมองได้ว่าวิชาใดน่าจะเป็นวิชาเลือกให้เขาเรียน แต่ถ้าเราบอกว่าเป็นวิชาเลือกมันกลายเป็นวิชาไปแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่ากิจกรรมวันเสาร์ไม่ต้องเรียน ใครสนใจก็ไปทีนี้พวกที่สนใจจะไปเอง"

 

 

          กิจกรรมพิเศษวันเสาร์เพื่อพัฒนาให้เป็นวิชาที่เปิดสอนในหลักสูตรใหม่ มีกิจกรรมและชมรมทั้งหมด ๒๘ ประเภท เช่น กิจกรรม ดราม่าและฟิล์ม กิจกรรมดนตรี ค่ายธรรมชาติ กิจกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์ กิจกรรมขี่ม้า กิจกรรม Homepage ชมรม Art & Design ชมรมตัวโน้ต ชมรมหนอนหนังสือ และสิ่งใหม่ในวงการศึกษาที่เริ่มเกิดขึ้นที่วชิราวุธวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๔๓ คือเปิดให้มีหลักสูตรอีก ๑ ปีสำหรับเด็กอายุ ๑๙ ปี ซึ่งผ่านการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ไปแล้ว เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเปิดเป็นโรงเรียนไปกลับและสหศึกษาจำนวน ๑๐๐ คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิงและชายฝ่ายละเท่าๆ กัน จุดประสงค์ในเรื่องนี้ก็คือ ช่วยให้เด็กมีความพร้อมในระดับมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานสากล และเป็นการเปิดโอกาสครั้งใหญ่ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาสัมผัสชีวิตในวชิราวุธมากขึ้น

 

          นอกเหนือจากการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่เดิมแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ยังได้สรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาวางแผน และจัดการศึกษาในส่วนต่างๆ ได้แก่โครงการ Educational Multimedia Project โครงการ Quality of Life ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารโรงเรียน โครงการเรียนรู้แบบ Learning to Learn โครงการพัฒนาการดนตรี ทักษะวิชา Design and Technology และ Drama เป็นต้น

 

          อนึ่ง การที่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแรกของประเทศไทยที่มีคณะกรรมการบริหารและ คณะกรรมการอำนวยการร่วมกันบริหารโรงเรียน แต่เดิมมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นนายกกรรมการ และยังมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการกับอธิบดีกรมต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการอีก 4 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง แค่ด้วยเหตุที่ข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านั้นล้วนมีราชการรัดตัว ไม่สามารถจะปลีกเวลามาร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง และมักจะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเป็นประจำ ในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยพิจารณาปรับเปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการอำนวยการเสียใหม่ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการโดยตำแหน่งใหม่ ให้คงมีกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ราชเลขาธิการ เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ และผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ส่วนที่เหลืออีก ๑๓ ตำแหน่งนั้นกำหนดให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคัดสรรจากนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเองเป็นนายกกรรมการคนหนึ่ง

 

          ในขณะที่วชิราวุธวิทยาลัยได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ในเรื่องดนตรีและกีฬาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากๆ สิ่งที่โรงเรียนอื่นทำ เช่น เรื่องดนตรี และกีฬา อาจจะถือว่าเป็นเรื่องพิเศษ แต่ที่วชิราวุธวิทยาลัยมิได้ถือว่าเป็นเรื่องพิเศษเลย หากแต่ถือว่าเป็น Way of Life "เด็กที่นี่ บ่ายโมงครึ่ง เขาเลิกเรียนด้านวิชาการ การเรียนดนตรีเขามีทางเลือก มีดนตรีหลายอย่างให้เลือก พอถึง ๔ โมงเขาจะเล่นกีฬา จะเล่นไปจนถึง ๖ โมง เพราะฉะนั้นเขาจะใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมงในการเล่นกีฬา แล้วเขาเรียนรู้หลายอย่างจากกีฬา เช่น การเป็นทีมเวิร์ก การเป็นสุภาพบุรุษ การเล่นรักบี้เป็นการเล่นที่ร่างกายต้องปะทะกันสูงสุด เขาจะได้เรียนรู้ว่าชีวิตของมนุษย์ต่อไป คือ การกระแทกกระทั้นแบบนี้ ถ้าเราเล่นในกติกาแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งบางครั้งคนข้างนอกก็อาจไม่เข้าใจ"

 

          นอกจากกีฬาและดนตรี ศาสนาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง กิจกรรมทางศาสนาที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยต้องถือปฏิบัติ คือ การสวดมนต์เช้า เย็น เป็นจริยธรรมที่ปฏิบัติจริงเพราะเป็นโรงเรียนประจำ เป็นทั้งบ้าน วัด และโรงเรียนอยู่ด้วยกัน ในวันอาทิตย์นักเรียนจะต้องฟังพระธรรมเทศนา รวมทั้งจะต้องเรียนรู้เรื่องราชาศัพท์และฝึกปฏิบัติวิชามหาดเล็กเพราะนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีโอกาสเฝ้าแหนและรับพระบรมวงศ์ชั้นสูงเป็นเนืองนิจ และแม้นจะถูกมองว่า วิถีวชิราวุธที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นำมาปลูกฝังแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยตลอด ๑๑ ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยว่า "เป็นการมาซุ่มทำการเมือง"  ก็ตาม แต่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอนในวชิราวุธวิทยาลัยตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดมา ดังบทสัมภาษณ์ในนิตยสารผู้จัดการที่ว่า "ที่วชิราวุธเราเน้นการสอน ที่ไม่ได้สอนให้จำ แต่สอนให้ทำ นำให้คิด เป็นแนวทางง่ายๆ ที่มีมากับวชิราวุธมานานแล้ว ดังนั้น ภูมิปัญญาไทยคือ ที่นี่เราไม่ได้ลอกฝรั่งมาทั้งหมด หน้าที่ของผมอย่างหนึ่งก็คือ ให้คนเห็นว่าวชิราวุธ เป็นอย่างนี้"

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ดังนี้

 

               มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

               มหาวชิรมงกุฎ

               เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

 

          ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมรสกับ นางสุภาธร สมุทวณิช (สกุลเดิม สาครบุตร) มีบุตรธิดา ๓ คน คือ
พชร สมุทวณิช และพลอย จริยะเวช (คู่แฝด) กับนายพลาย สมุทวณิช

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |