โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๔๐. โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (๑)

 

          ก่อนที่จะเล่าเรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ขอเท้าความเดิมไว้เป็นเกร็ดความรู้สักนิดว่า ราว พ.ศ. ๒๕๒๑ เจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่ ผู้สืบสกุลจากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ ๘ ได้มีหนังสือกราบทูล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ขอให้นำความกราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ให้ทรงรับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยได้กล่าวพาดพิงถึงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ไว้ในหนังสือกราบทูลนั้นว่า "...โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเชียงใหม่ เดิมเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตั้งขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แต่สถานที่เรียนไม่เป็นหลักแหล่งที่แน่นอน จากเชิงดอยสุเทพ มาอยู่ที่โรงลครหลวงของพ่อเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7) เมื่อ พ.ศ. 2443"  []

 

          ต่อมาในการเสวนาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนา จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อหลายปีก่อน ผู้ดำเนินการเสวนาได้กล่าวถึงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ว่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในวันนั้นผู้เขียนได้ทักท้วงว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่กับโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นคนละโรงเรียนกัน โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้นเป็นโรงเรียนราษฎร์ลงทะเบียนเป็นหมายเลข ๑ ของมณฑลพายัพ ส่วนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยนั้นเป็นโรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

 

          ผลของการทักท้วงนั้นคือ ผู้เขียนถูกผู้ดำเนินการเสวนาซึ่งเป็นนักเรียนเก่ายุพราชวิทยาลัยตำหนิเอาว่า "คุณไม่ใช่นักเรียนยุพราช คุณจะไปรู้เรื่องอไร?" แล้วสำทับด้วยกวีซีไรท์เป็นถึงผู้ร่วมการเสวนาในวันนั้นให้ผู้เขียนเชื่อตามที่ผู้ดำเนินการเสวนากล่าว จึงได้รับปากกับที่ประชุมเสวนาครั้งนั้นว่าจะค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ออกเผยแพร่ เพื่อมิให้คามเข้าใจผิดนั้นขยายวงกว้างออกไป

 

          ชื่อของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้น บ่งยอกชัดว่าโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งฝึกหัดนักเรียนออกรับราชการเป็นมหาดเล็กในสังกัดกรมมหาดเล็กหลวงเป็นพื้น

 

          คำว่า "มหาดเล็ก" นั้น หมายรวมทั้งผู้รับใช้พระราชาและเจ้านาย "...มหาดเล็กต่างจากข้าราชการและข้าในกรมอื่นๆ คือ เป็นผู้รับใช้อยู่ใกล้พระองค์เจ้านายของตนยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เป็นมหาดเล็กจึงจำต้องเลือกสรรผู้ที่ไว้วางใจพระราชหฤทัยแห่งเจ้าได้... มหาดเล็กนั้นท่านประสงค์ผู้ที่ยังเยาว์ เพื่อจะได้ใช้คล่องแคล่ว... เพราะฉะนั้น ท่านจึงคิดผ่อนผันไปทางเลือกสรรบุตรผู้ดีมีตระกูล..."  []ละการที่ผู้ดีมีตระกูลนิยมนำบุตรหลานของตนไปถวายเป็นมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่ "...กระทำการซึ่งดูคล้าย ๆ กับการของบ่าว.."  [] นั้น ก็เพราะการที่ได้อยู่ใกล้ชิดเจ้านายนั้นย่อมมีโอกาสได้เรียนรู้การงานต่างๆ ซึ่งมิอาจเรียนรู้จากที่อื่นได้ และเมื่อคำนึงถึงในสมัยที่ยังไม่มีโรงเรียนให้ศึกษาเล่าเรียนได้นั้น การเป็นมหาดเล็กจึงเป็นช่องทางที่มหาดเล็กจะได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติราชการจากประสบการณ์จริง อันจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในยามที่เติบใหญ่ต่อไป

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าดสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

เมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จนิวัติพระนคร

วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษและเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๔๕ แล้ว

 

          "...บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลาย... ต่างได้พากันนำบุตรหลานมาถวายเปน มหาดเล็กตามนิติธรรมโบราณราชประเพณีเพื่อจะได้รับราชการสืบวงศ์ตระกูลของตนในภายหน้า เมื่อได้ทรงรับกุลบุตร์ไว้ในราชสำนักมากขึ้น, ก็ทรงพระราชปรารภถึงทางวิทยาการที่จะให้กุลบุตร์เหล่านั้นได้ศึกษาพร้อมด้วยคุณสมบัติ, เพื่อเปนทางเจริญของตนในภายหน้า จึงได้ทรงจัดการศึกษาขึ้นด้วยพระองค์เองที่พระราชวังสราญรมย์, ฉะเภาะแต่มหาดเล็กข้าในกรม..."  []

 

 

พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์)

 

 

          โรงเรียนที่ทรงตั้งขึ้นในพระราชวังสราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้น "...มิได้มีการสอนตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการ แต่มีสอนการฉะเพาะวิชาพิเศษเป็นบางวิชาเท่านั้น เช่น กฎหมาย การทหาร การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์สากล ประวัติศาสตร์สากลฯ และภาษาอังกฤษ พระองค์  [] ทรงเป็นอาจารย์สอนหลายวิชา พระยาสุรินทราชา [] เป็นอาจารย์ผู้ช่วย และได้เชิญผู้ที่ทรงคุณวุฒิภายนอกบางท่านมาเป็นอาจารย์สอนในบางวิชาด้วย..."  []

 

          ครั้นได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจแรกในรัชกาล โดยโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง [] ขึ้นในรูปแบบพับลิคสกูล (Public School) ของอังกฤษแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจากโรงเรียนพระราชวังสราญรมย์ไปเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง เปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการเป็นวันแรกที่โรงเรียนราชกุมารเก่า ริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๕๓ เนื่องในวันวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาลซึ่งตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๓ [] แล้ว จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์บริเวณสวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียน และได้โปรดให้ย้ายนักเรียนไปเปิดการเรียนการสอน ณ สถานที่ที่ได้พระราชทานให้ใหม่เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๔

 

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

ผู้รับสนองพระราชพระบรมราชโองการในการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ แต่ครั้งยังเป็นพระยาไพศาลศิลปสาตร เจ้ากรม กรมตรวจ กระทรวงธรรมการ เป็นกรรมการจัดการ ร่วมกับสภาจางวางมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการในกรมมหาดเล็กและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงธรรมการ กิจการของโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับสมดังพระบรมราชปณิธาน

 

          ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งเป็นปีที่จะทรงเจริญพระชนมายุครบ "๓ รอบ มโรงนักษัตร" นั้น ได้ทรงพระราชดำริถึงการศึกษาของกุลบุตรในมณฑลพายัพ ซึ่งได้เคยเสด็จประพาสมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และได้โปรดพระราชทานนามโรงเรียนของมิชชันนารีอเมริกันว่า "Tkr Prince Royal’s College" ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลให้เป็นคู่กันว่า "โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย" เพื่อเป็นเครื่องชักนำให้กุลบุตรในมณฑลนั้นตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาภาษาและหนังสือไทย จักได้ "...รู้สึกตนว่าเปนส่วนหนึ่งแห่งชาติไทยอันเดียวกัน เลิกการที่เปน ประเทศราชเท่ากับโคโลนีของฝรั่งนั้นเสีย..."  [๑๐] แต่การหาได้เป็นไปดังพระราชประสงค์ไม่ เนื่องด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือรวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพ่อค้าวาณิชย์ในมณฑลพายัพต่างก็ไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กลับส่งไปเรียนที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนของมิชชันนารีอเมริกันเพราะ

 

"...เขาอนุโลมสอนตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการทุกประการ ตลอดจนการสั่งสอนวิชาลูกเสือ มิได้ย่อหย่อนเลย เติมของเขาเองแต่เรื่องสาสนาเท่านั้น แต่นอกจากการสอนหนังสือ เขาสอนให้นักเรียนปลูกผัก, ทำนา, ก่อตึก, ฟอกหนัง สอนเอาจริงๆ จัง จนทำได้ แปลว่านักเรียนออกจากโรงเรียนแล้วก็มีทางหากินของตนเองได้โดยแน่นอน ฝ่ายโรงเรียนของเราสอนแต่หนังสือเท่านั้น นักเรียนออกจากโรงเรียนจะทำอะไรอื่นไม่ได้นอกจากเปนเสมียน ช่างผิดกันเสียจริงๆ ความพยายามของพวกมิชันเนรีอเมริกันเหล่านี้ เปนที่น่าพิศวงมาก ไม่ใช่ชาติใช่บ้านเมืองอะไรของเขาเลย เขาได้ผลชั่วแต่การโน้มไปถือลัทธิความเชื่ออย่างของเขาเท่านั้น เขาก็อุส่าห์สั่งสอนเด็กชาติเราให้มีความรู้ตั้งตนทำมาหากินได้ ซ้ำอบรมปลูกฝังให้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ให้รักชาติบ้านเกิดเมืองบิดร ครูของเราชาติเดียวกันแท้ๆ ไม่เห็นมีความพยายามอย่างเขาเลย ทำการต่อให้เสร็จไปครั้งหนึ่งๆ และนึกแต่ว่าเมื่อไรจะหลุดพ้นไปจากที่ที่ไกลจากกรุงเทพฯ เช่นนั้น เมื่อไรจะได้กลับกรุงเทพฯ..."  [๑๑]

 

 
 

 

[ ]  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่. หนังสือจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ชม. ๒๓/๑๖๙๕๙ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เรื่อง ขอพระมหากรุณาให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย.

[ ]  มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "พระบรมราโชวาท เรื่องมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์", เรื่องมหาดเล็กของกรมศิลปากร. หน้า ๙๐ - ๙๑.

[ ]  เรื่องเดิม, หน้า ๙๑.

[ ]  กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์. "พระราชปรารภแลประวัติการโดยสังเขปของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์". รายงานแสดงกิจการ ของ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์. หน้า ๒

[ ]  หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

[ ]  นามเดิม นกยูง วิเศษกุล

[ ] พระยาสุนทรพิพิธ. "สวนอนุสรณ์", วชิราวุธานุสรณ์ ๒๕๑๐. หน้า ๒๓๔

[ ต่อมาวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กลวงและได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

[ ]  เนื่องจากวันเฉลิมพระชนม์พรรษาตรงกับวันอาทิตย์จึงเลื่อนไปเปิดในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีซึ่งเป็น "วันครู"

[ ๑๐ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๐๐๑/๑๕, "ลายพระหัตถ์สมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๘".

[ ๑๑ ]  เรื่องเดิม.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |