โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๑. โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (๒)

 

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูงนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

เสนาธิการทหารบก

 

 

          เมื่อนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก เสด็จตรวจราชการทหารในมณฑลภาคพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า กระทรวงธรรมการไม่สามารถจัดการศึกษาในมณฑลพายัพให้เป็นไปดังพระราชประสงค์ได้ จึงได้มีพระราชดำริที่จะแก้ไขข้อขัดข้องนั้นด้วยพระองค์เอง จากนั้นต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาได้โปรดเกล้าฯ ให้ มหาอำมาตย์ตรี พระยาไพศาลศิลปสาตร [] (รื่น ศยามานนท์) อธิบดีกรมศึกษาธิการ กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พร้อมด้วยหัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ [] (เสริญ ปันยารชุน) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กับอำมาตย์ตรี หลวงอุปกรศิลปสาตร [] (เจริญ อากาศวรรธนะ) พนักงานตรวจการศึกษา กรมศึกษาธิการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๓–๒๔๕๖ ตามเสด็จ นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช [] อุปราชมณฑลภาคพายัพ ขึ้นไปตรวจการศึกษาในมณฑลภาคพายัพและเลือกหาสถานที่ที่จะจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่

 

 

มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

เมื่อครั้งยังเป็น รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          ในการเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ครั้งนั้น รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ได้บันทึกไว้ว่า

 

          "เมื่อกราบถวายบังคมลาในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า "พระราชฯ ซึ่งจะไปรับราชการอยู่ในที่ห่างไกล ต้องตั้งใจทำการให้ดี ให้สมกับที่ข้าไว้วางใจ"

 

          รุ่งขึ้นก็ออกเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปพิษณุโลก ค้างหนึ่งคืน รุ่งขึ้นต่อรถไฟไปถึงลำปาง ค้างอีกหนึ่งคืน จากลำปางขึ้นรถงานไปถึงใกล้เขาขุนตาล แล้วขี่ม้าขึ้นภูเขานั้น แรมคืนบนยอดเขา รุ่งขึ้นขี่ม้าโดยตลอดอีก ๒ วันจนถึงลำพูน จากลำพูนนั่งรถยนตร์ไปจนถึงเชียงใหม่..."  []

 

 

สนามกีฬาและอาคารต่าง ๆ ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ที่เชิงดอยสุเทพ

 

 

          เมื่อพิจารณาเลือกสถานที่จัดตั้งโรงเรียนได้ที่เชิงดอยสุเทพ "...มีถนนติดต่อกับในเมืองจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๒๕ เส้น..."  [] แล้ว จึงได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ส่วนทางเชียงใหม่นั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้อุปราชมณฑลภาคพายัพทรงเป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นที่ตำบลห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ โดยใช้แรงงานนักโทษซึ่งแบ่งไปตั้งเป็นเรือนจำชั่วคราวขึ้นที่ห้วยแก้ว ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่ชั่วคราวตามแบบที่ได้กำหนดไว้ ประกอบไปด้วย "...สถานเล่าเรียน, บ้านสำหรับครูแลนักเรียนอยู่เปนคณะๆ รวม ๓ คณะ, สนามกีฬาโดยกว้างขวาง, แลมีเรือนพยาบาลประกอบด้วยยาแลเครื่องรักษาพยาบาลโดยบริบูรณ์. นอกจากนี้ยังมีเรือนสำหรับอาจรย์, ครู แลเจ้าน่าที่อยู่ทางด้านตวันตกเฉียงใต้โดยตลอด, เพื่อเปนการทดลองแล้วจึงจะได้ดำริการก่อสร้างโรงเรียนถาวรในภายหลัง..."  []

 

 

นายพลเสือป่า พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ)

ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ภ่ายภาพพร้อมด้วยครธครูและนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

 

 

          ครั้นการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวแล้วเสร็จลงในปลายปีเดียวกันนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชดรุณรักษ์ไปเป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พร้อมกับอาจารย์ปริญญาจากต่างประเทศ ครูประกาศนียบัตรในประเทศ และข้าราชการจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนพรานหลวงรวม ๑๒ คน ขึ้นไปรับราชการที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ แล้วเปิดการสอน "...ตั้งแต่ชั้นปฐมจนถึงชั้นมัธยมบริบูรณ์ตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงศึกษาธิการ. ..."  [] ดังที่ รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ [] ได้โทรเลขรายงานไปยังจางวางโท พระยาประสิทธิ์ศุภการ [๑๐] (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่กรุงเทพฯ ในวันเปิดโรงเรียน ดังนี้

 

          "เจ้าคุณประสิทธิ์ กรุงเทพ...โรงเรียนมหาดเล็กหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดในวันที่ ๑๕ มีนาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว มีนักเรียนเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ แต่น่านและเชียงรายยังมาไม่ถึง รวมประมาณ ๕๐ คน นับว่าได้นักเรียนจากทุกเมืองในมณฑลพายัพและมหาราษฎร มีลูกหลานเจ้าผู้ครองนครทุกนคร ส่งบัญชีรายชื่อตามมา...พระราชดรุณรักษ์" [๑๑]

 

          เมื่อแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เริ่มเปิดการสอนนั้น "...มีเจ้านายข้าราชการแลคหบดีชาวพื้นเมืองนั้นมีความนิยมนำบุตรหลานมาเข้าเล่าเรียนเปนอันมาก..."  [๑๒] ในเวลาเพียงปีเศษนับแต่เปิดโรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยคน โรงเรียนได้จัดแบ่งนักเรียนเข้าอยู่ตามคณะซึ่งเป็นเสมือนบ้านพักของนักเรียนเช่นเดียวกับที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ หากแต่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นี้จัดไว้เพียง ๓ คณะ เป็นคณะเด็กเล็ก ๑ คณะ และคณะเด็กโต ๒ คณะ มีชื่อเรียกตามนามครูผู้กำกับคณะคือ คณะเนติลักษณวิจารณ์ [๑๓] หรือเรียกย่อ ๆ ว่า "คณะเนฯ" คณะหนึ่ง และคณะประคองวิชาสมาน [๑๔] หรือเรียกอย่างย่อว่า "คณะประคอง" อีกคณะหนึ่ง แต่ละคณะสามารถอยู่ได้ ประมาณ ๑๐๐ คน คณะเด็กเล็กรับตั้งแต่ไม่รู้หนังสือ คล้าย ๆ ชั้นเตรียมหรือชั้นอนุบาล... มีเตรียม ๑ แล้วก็เตรียม ๒ เทียบเท่าจบชั้นประโยคประถม หรือประถมปีที่ ๓ แล้วจึงไปต่อคณะใหญ่ซึ่งจัดไว้สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งมีทั้งมัธยม ๑-๒-๓-๔-๕ จนถึงมัธยม ๖ เมื่อจบแล้วส่งไปเรียนต่อชั้นมัธยม ๗-๘ ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ

 

 

บ้านพักครู โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

 

 

          ในด้านอาคารสถานที่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ได้บรรยายไว้ในหนังสือ "ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕"ว่า "...มีบริเวณใหญ่โต ด้านตะวันตกมีดอยสุเทพ อีกสามด้านเปนป่าล้อม ตัวโรงเรียน เรือนนอนนักเรียน เรือนครู เรือนพยาบาล ฯลฯ พื้นไม้กระดาน ฝาขัดแตะ หลังคามุงแฝกทั้งสิ้น เปนที่เงียบห่างจากที่ประชุมชน ถ้าความไข้ไม่ชุมลมไม่จัด จะเปนที่ควรแก่ศึกษาสถานเช่นนั้นนักหนา..."  [๑๕] นอกจากนั้นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ จอมพลประภาส จารุเสถียร ยังได้กล่าวถึงอาคารคณะเด็กเล็กว่า ตั้งอยู่ที่เชิงเนินตรงกับช่องทางลม ใช้ฝา "ไม้บง" ซึ่งคงเป็นไม้รวกผ่าแล้วตีแผ่ออก แล้วเอามาขัดกันเป็นฟาก ทาด้วยน้ำมันยาง ประกบกัน ๒ แผ่น ขนาบด้วยไม้กระดานทาด้วยน้ำมันยาง หลังคามุงด้วยหญ้าคาเอามาทำเป็นตับแบบตับจากขนาบด้วยไม่ไผ่เพื่อสะดวกแก่การซ่อมแซมเวลามีพายุพัดหลังคาพัง ส่วนคณะใหญ่นั้นเป็นอาคารเครื่องไม้จริงทั้งหลัง หลังคามุงด้วยสังกะสี โรงเรียนชั้นล่างใช้เป็นที่เรียนและรับประทานอาหาร ชั้นบนใช้เป็นที่นอน เตียงวางเป็นแถว ส่วนบ้านครูอาจารย์อยู่อีกด้านหนึ่ง ตรงกลางขุดสระใหญ่ไว้กักน้ำฝน เวลาปกติก็ทำลำรางให้น้ำในห้วยแก้วไหลเข้าไปในสระนั้น

 

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น จางวางโท พระยาไพศาลศิลปสาตร ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์โท พระยาราชนกูล วิบุลยภักดี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น หัวหมื่น พระยาราชดรุณรักษ์ แล้วเลื่อนเป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น อำมาตย์โท พระอุปกรศิลปสาตร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

[ ]  มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน). หน้า ๔.

[ ]  ปัจจุบันเป็น ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่.

[ รายงานแสดงกิจการ ของ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์, หน้า ๑๙.

[ เรื่องดียวกัน, หน้า ๒๐

[ ]  ต่อมาเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชดรุณรักษ์กลับไปรับราชการในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จ่า หลวงวิเศษศุภวัตร (เทศสุนทร กาญจนศัพท์) ปลัดกรมเป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงสืบต่อมาตราบจนยุบเลิกโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๔๖๘

[ ๑๐ ]  ภายหลังได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ สมุหราชองครักษ์และผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก

[ ๑๑ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน), หน้า ๕.

[ ๑๒ ]  รายงานแสดงกิจการ ของ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์, หน้า ๒๐.

[ ๑๓ ]  หุ้มแพร หลวงเนติลักษณวิจารณ์ (สด บุพพเนติ)

[ ๑๔ ]  หุ้มแพร หลวงประคองวิชาสมาน (เทียบ สมุทประภูต)

[ ๑๕ ]  พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ). ระยะทางไปมณฑลพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕, หน้า ๔๗ - ๔๘.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |