โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๖. โรงเรียนที่สวนกระจัง

 

          เมื่อเลือกได้ที่ดินที่สวนกระจังเพื่อเป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้หารือกับนายเอดเวิร์ด ฮัลี่ อาจารย์โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นสถาปนิกมาจากอังกฤษ และได้ร่วมกันวางผังโรงเรียน โดยกำหนดให้มีหอสวดหรือหอประชุมของโรงเรียนไว้ที่กึ่งกลางโรงเรียนเช่นเดียวกับ Church ของ Public School ในอังกฤษ

 

 

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

 

 

          เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ฉะนั้นในการวางผังโรงเรียน พระยาไพศาลศิลปสาตรจึงได้กำหนดให้หอสวดที่จะสร้างขึ้นนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทางแนวคลองเปรมประชากร ตามคติความเชื่อของการสร้างพระอุโบสถในพระบวรพุทธศาสนา ส่วนตึกครูและนักเรียนที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ตึกคณะ” นั้น กำหนดให้สร้างขึ้นไว้ที่สี่มุมโรงเรียน พร้อมกันนั้นก็ได้ขอต้นมะฮอกกานีที่พระยาบุรุษณัตนราชพัลลภได้เพาะชำไว้โดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว มาปลูกเป็นแนวที่สองข้างถนนที่ขนานกันไปกับคลองเปรมประชากร ที่กำหนดให้เป็นถนนหน้าโรงเรียน

 

          จากนั้นพระยาไพศาลศิลปสาตรได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลูกสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นก่อนในพื้นที่สวนกระจัง เพื่อจะย้ายนักเรียนจากโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมมหาราชวังมาเปิดสอนที่สวนกระจังต่อไปนั้น เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสิทธิ นายเวร (น้อย ศิลปี) [ ] โยธาวังเป็นแม่กองจัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นที่ด้านทิศใต้ของสถานที่ที่กะไว้เป็นที่ก่อสร้างหอสวดที่สวนกระจัง โดยเรือนไม้ที่ปลูกสร้างเป็นโรงเรียนชั่วคราวนั้น มีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง มุงหลังคาจากหลายหลัง จัดเป็นหมู่เรือนหมู่ใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่มุมคณะจิตรลดาด้านทิศตะวันตกในปัจจุบันยาวไปจนถึงริมสระน้ำตรงบริเวณโรงสควอช

 

 

ผังแสดงที่ตั้งโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจัง

 

          โรงเรียนชั่วคราวที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) และจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ได้กล่าวไว้ตรงกันว่า หมู่เรือนที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวนั้น เป็นอาคารหลังคาจาก แบ่งเป็นห้องเรียนอยู่กลุ่มหนึ่งที่สองฝั่งของสนามรูปไข่ทางตอนหน้า ถัดเข้ามาตอนในของสนามรูปไข่เป็นที่ตั้งหอประชุมของโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทาสีเขียวตั้งอยู่ระหว่างห้องเรียนทั้งสองฝั่ง ต่อจากหมู่เรือนที่เป็นหอประชุมและห้องเรียนไปทางทิศตะวันตก เป็นเรือนไม้ทาสีขาวสลับชมพูสลับกันจัดเป็นเรือนนอนนักเรียนพร้อมที่พักครูกำกับเรือน ซึ่งแบ่งเป็น ๕ เรือน คือ เรือน ก. เรือน ข. เรือน ค. เรือน ง. และเรือน จ. กับมีเรือนเด็กเล็กซึ่งมีหม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ เป็นครูแม่บ้านแยกไปเป็นอีกเรือนหนึ่งต่างหาก แต่ละเรือนมีห้องล้างหน้า ตู้เสื้อผ้า เตียงสปริงและที่นอนหมอนมุ้งพร้อมสรรพ ด้านหลังสุดแถวของห้องนอนจัดเป็นห้องน้ำและห้องส้วมแยกออกไปเป็น ๒ หมู่ ด้านหลังสุดของหมู่เรือนจัดเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ต่อเนื่องกับโรงครัว
การก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังนี้สิ้นพระราชทรัพย์ไปในการก่อสร้างอาคารรวมค่าขุดคูและสระน้ำทั้งสิ้น ๒๑๒,๓๑๗ บาท เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นโรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูปจากวัดเบญจมบพิตรมาเจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉันเพล เสร็จแล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงจากโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง และได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนใหม่นี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นต้นมา


          อนึ่งเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งในการเสด็จประพาสครั้งนั้นที่รู้จักกันในชื่อ “เที่ยวเมืองพระร่วง” นั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย และสวรรคโลกนั้นยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่มาก เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินที่เหลือจากการจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าจำนวนเกือบล้านบาทให้เป็นทุนในการจัดสร้างอาคารของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายอี. ฮีลี่ และนายคาร์ล ดอห์ริง ซึ่งจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นไปเที่ยวดูงานศิลปสถาปัตยกรรมที่เมืองกำแพงเพชร สุโขทัยและสวรรคโลก ด้วยทรงพระราชดำริว่า

 

 

“ในส่วนช่างของไทยเรา ซึ่งเวลานี้อยู่ข้างจะโทรมอยู่มากนั้น บางทีถ้าได้ดูรูปสถานที่และลวดลาย... จะเกิดรู้สึกขึ้นได้บ้าง ว่าฝีมือช่างไทยเราได้เคยดีมาแต่โบราณแล้ว หากมาทิ้งกันกันให้เลือนไปเองจึงได้โทรมหนัก และจึงได้พากันมัวหลงนึกไปเสียว่าวิช่างของเราเลวนัก ต้องใช้แบบฝรั่งจึงจะงาม ที่จริงฝีมือและความคิดของเขากับของเราก็งามด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่งามไปคนละทาง ถ้าแม้จะใช้ของเขาก็ใช้ให้ทั้งหมด ใช้ของเราก็เป็นของเราทั้งหมด ที่น่ารำคาญนั้นคือใช้ปนกันเปรอะ เช่นมุงหลังคาโบสถ์ด้วยกระเบื้องสิเมนต์เป็นต้น ถ้านึกว่าฝรั่งเขาเห็นงามแล้ว ต้องแปลว่าเข้าใจผิดโดยแท้”  [ ]

 

 

แบบอาคารโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ของนาย อี. ฮีลี่

 
 

แบบอาคารโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ของนายคาร์ล ดอห์ริง

 
 

          ภายหลังจากที่สถาปนิกทั้งสองรายได้เดินทางขึ้นไปศึกษารูปแบบงานศิลปสถาปัตยกรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นเวลานานกว่าสามเดือนแล้ว ก็ได้กลับลงมาออกแบบก่อสร้างอาคารโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่คาก่อสร้างของนายคาร์ล ดอห์ริงนั้นสูงกว่าของนาย อี. ฮีลี่ สุดท้ายนาย อี. ฮีลี่ จึงได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ส่วนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย อี. ฮีลี่ เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตศิลปิน) [ ]  หัวหน้าแผนกออกแบบของกรมศิลปากร แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างหอสวดและตึกครูนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๕๗ พร้อมกันกับการก่อสร้างอาคารของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เพื่อให้แล้วเสร็จทันเฉลิมพระราชศรัทธาในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา “๓ รอบ มโรงนักษัตร” เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๙

 

          เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนถาวรแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว เรือนไม้หลังคาจากที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวนั้นก็ได้ใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนต่อมา จนการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จึงได้รื้อเรือนไม้หลังคาจากซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลง และย้ายนักเรียนไปเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎแทน.

 

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง, หน้า จ.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาบรรดาศักดิ์เป็น พระยาจินดารังสรรค์

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |