โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๖๐. หน้าที่และความรับผิดชอบ

ของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๓)

 

 

 

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกการกรีฑา

 

*******************

 

          ๑. จัดให้มีการเล่นที่สมควรขึ้นในโรงเรียน ออกระเบียบแบบแผนและข้อบังคับการเล่นนั้นๆ

 

          ๒. กะและวางรูปที่เล่นให้พอแก่การ อะไรที่พะแนกพนักงานและสถานที่จะต้องทำให้เช่นปราบและแต่งสนามเล่น ก็ขอให้พะแนกนั้นทำให้

 

          ๓. จัดหาเครื่องเล่นให้ครบ และรักษาเครื่องเล่นนั้นๆ ให้ใช้ได้ถาวร สิ่งใดจะต้องซื้อก็ขออนุญาตเงิน ต้องมีบาญชีพัสดุเครื่องเล่นและรักษาไว้โดยเรียบร้อย ให้มอบพะแนกสมุห์บาญชีทำบาญชีให้

 

          ๔. แบ่งปันเวรให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมการเล่นทั่วกัน และให้ทุกๆคนได้เล่นพอแก่ความต้องการแห่งพละศึกษา จะเลือกใหใครได้เล่นมากในทางไหนซึ่งแล้วแต่เหมาะแก่วิสัยของเขา เพื่อเปนการบำรุงความสามารถในการเล่นฉะเภาะสิ่งฉะเภาะอย่างให้เปนชื่อเสียงแก่โรงเรียนและบุคคลผู้เล่นก็ได้

 

          ๕. ฝึกสอนนักเรียนให้เกิดความรู้ความสามารถในการเล่น และปลูกนิสัยสันดานให้เกิดคุณสมบัติอันจะพึงได้จากการเล่น

 

          ๖. กำหนดการแข่งขันและเวลาแข่งขันกันเองภายในโรงเรียนหรือเชื้อเชิญชักชวนนัดหมายการแข่งขันกับโรงเรียนอื่นๆ

 

          ๗. กำกับและตัดสินการฝึกซ้อมและการแข่งขันทุกอย่างไป

 

          ๘. เจ้าหน้าที่รับผิดชอบพะแนกการกรีธานี้ เรียกว่าหัวหน้าพะแนกกรีฑา มีกรรมการเปนที่ปฤกษาและช่วยเหลือการงาน ซึ่งหัวหน้าเปนผู้ขอเลือกเอง และอาจารย์ใหญ่เปนผู้ประกาศตั้ง หัวหน้าพะแนกกรีฑาเปนนายก หัวหน้าพะแนกปกครองเปนอุปนายกของกรรมการตามหน้าที่ กรรมการที่ปฤกษานั้น ให้เลือกครูบ้างนักเรียนบ้าง รวมให้ไม่น้อยกว่า ๕ คน และไม่ให้มากกว่า ๑๒ คน

 

 

 

หมวดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้กำกับลูกเสือ

 

*******************

 

          ๑. รับและจำหน่ายลูกเสือในกองของตนโดยอนุมัติของอาจารย์ใหญ่

 

          ๒. ฝึกสอนลูกเสือในกองของตนให้ได้ตามข้อพระราชประสงค์ ซึ่งปรากฏในปลุกใจเสือป่าและมีอยู่ในเบื้องต้นของสมุดข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือ กับรักษาระเบียบในกองลูกเสือซึ่งตนเปนผู้บังคับให้เปนไปตามข้อบังคับนั้น

 

          ๓. ฝึกหัดวิชาลูกเสือให้ได้ความรู้ความชำนาญตามแบบสั่งสอนเสือป่าและลูกเสือที่ลงพิมพ์แล้ว และแบบอื่นๆ ตามแต่จะมี การฝึกหัดอันใดที่เกี่ยวข้องด้วยหน้าที่พะแนกอื่นช่วยทำอยู่แล้ว เช่นพะแนกกรีฑา พะแนกวิชา พะแนกปกครอง เปนต้น ก็ให้อุดหนุนให้ได้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของพะแนกนั้นโดยเต็ม

 

          ๔. ชมเชยหรือติโทษลูกเสือตามสมควรแก่ความชอบและความผิด มีเอาชื่อขึ้นแผ่นทองหรือหนังสุวานและฆ่าชื่อออกจากเปนลูกเสือเปนที่สุด

 

          ๕. รายงานความเปนไปในกองของตน และทำการติดต่อกับผู้ตรวจการลูกเสือ ในข้อที่เกี่ยวข้องด้วยการโรงเรียนต้องทำด้วยความรู้เห็นของอาจารย์ใหญ่

 

          ๖. รักษาทะเบียนบาญชีต่างๆ ตามระเบียบการปกครองลูกเสือ ทะเบียนบาญชีเหล่านี้ ให้มอบพะแนกสมุห์บาญชีทำให้ตามความประสงค์

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กองลูกเสือหลวงที่หน้าท้องพระโรงวังวรดิศ

(ยืนแถวหน้า) ๑. นายหมู่ตรี ขุนหัดดรุณพล (จ้อย พลทา) ครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงผู้กำกับลูกเสือ

(ยืนแถวที่ ๒ จากซ้าย) ๒. นายหมู่ตรี พ้อง รจนานนท์ – พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์) ครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้กำกับลูกเสือ ... ๔. นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้กำกับลูกเสือ ๕. พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้ตรวจการลูกเสือ ๖. นายหมู่เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้กำกับลูกเสือ

 

 

 

ระเบียบการลงโทษของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

*******************

 

ว่าด้วยโทษ

          โทษแบ่งออกเปน ๒ อย่าง คือ โทษเบาอย่าง ๑ โทษหนักอย่าง ๑

 

 

 

          โทษเบาแบ่งออกเปน ๓ สถาน สถานที่ ๑ ภาคทัณฑ์ สถานที่ ๒ ทรมานซึ่งไม่ให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็ก สถานที่ ๓ หักคะแนน

 

 

 

          โทษหนักแบ่งออกเปน ๓ สถาน สถานที่ ๑ ให้ตีต้นขาด้วยไม้เรียว กำหนดการตีเปน ๒ ภาค ภาค ๑ ตีครั้งหนึ่งไม่เกินกว่า ๘ ที ภาค ๒ ตีครั้งหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๕ ที สถานที่ ๒ ให้ขัง การขังแบ่งออกเปน ๒ ภาค ภาค ๑ ขังไม่เกินกว่า ๓ วัน ภาค ๒ ขังไม่เกินกว่าวิก ๑ สถานที่ ๓ ให้ประกาศไล่ออกจากโรงเรียน ถ้าเปนความผิดร้ายแรง เพิ่มการตีต้นขาอีกโสดหนึ่งก็ได้

 

 

ว่าด้วยอำนาจ

          อำนาจที่จะลงโทษนักเรียนได้ตามอัตราโทษที่ได้ว่ามาแล้วนั้น โทษเบา สถานที่ ๑ และที่ ๒ หัวหน้านักเรียนลงโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน ครูประจำ ชั้น ครูปกครองนักเรียนประจำห้องลงโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน และโทษหนักสถานที่ ๑ ภาค ๑ สถานที่ ๒ ภาค ๑ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาและฝ่ายปกครองทำโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน โทษหนักสถานที่ ๑ และที่ ๒ อาจารย์ใหญ่ทำโทษได้ โทษหนัก สถานที่ ๓ ต้องได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนจึงจะทำโทษได้

 

         

ว่าด้วยประโยชน์ของการลงโทษ
และวิธีลงโทษ

          การลงโทษนักเรียนที่ทำผิดนั้น เพื่อประโยชน์ ๒ อย่างคือ

 

          (๑) เพื่อจะให้นักเรียนผู้ผิดเข็ดหลาบ ไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก กับ (๒) เพื่อจะให้เปนตัวอย่างแก่คนอื่น เปนการป้องกันและให้ได้ประโยชน์ทั่วกัน ผู้มีหน้าที่ลงโทษจะต้องระวังให้การลงโทษเปนไปตามความประสงค์ทั้ง ๒ ข้อนี้

 

 

 

          การลงโทษต้องไม่ห้พร่ำเพรื่อจึงจะได้ประโยชน์จริง และต้องให้เปนธรรม ปราศจากอคติทั้ง ๔ ผู้ผิดจึงจะนับถือและยำเกรง ก่อนที่จะลงโทษควรชี้แจงให้ผู้ผิดเข้าใจและทราบความผิดของตนโดยชัดเจนด้วย การลงโทษเช่นทรมานหรือขัง จะต้องระวังอย่าให้เกินสมควร ซึ่งจะเปนเหตุให้เกิดป่วยไข้หรือให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็ก

ตัวอย่างเช่น กักไม่ให้พักจนนานเกินไป หรือให้ยืนให้นั่งอยู่ท่าเดียวนานๆ จนเปนการยากที่เด็กจะทนได้ หรือกักไว้ให้ล่วงเวลากินและให้อดอาหาร หรือประจานเด็กจนเด็กนั้นหน้าด้าน เหล่านี้ยอมให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็กไม่มากก็น้อย ไม่ควรทำเปนอันขาด

   
            อนึ่งการลงโทษบางอย่างเปนที่รังเกียจของหมู่คณะ เช่น กล่าวคำหยาบมีด่าเปนต้น หรือทำด้วยกิริยาหยาบคาย มีตบหน้า ทุบ เปนต้น เหล่านี้นับว่าเปนการลงโทษทีไม่สมควรจะกระทำแก่นักเรียน ห้ามไม่ให้ใช้เปนอันขาด
   
            การลงโทษที่จะให้เปนแบบเดียวกันไปหมดไม่ได้ เพราะเหตุว่า เด็กย่อมมีนิสัยต่างๆ กัน บางคนถูกทำโทษแต่เล็กน้อยก็หลาบจำ บางคนลงโทษต่อหน้าคนมากๆ ไม่ได้ มีความละอายจนเกิดโทสะ อาจทำอะไรที่ผิดๆ ได้อีกในเวลาต่อหน้าคน เหตุฉะนั้นผู้มีหน้าที่ลงโทษจะต้องใช้สติปัญญาตรึกตรองแสวงหาอุบายและวิธีทำโทษให้ชอบและให้เหมาะแก่นิสัยของเด็กผู้กระทำผิด.

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |