โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๕. ตำนานวชิราวุธ ()

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทรงคิดผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นใหม่

 

          ในการทรงคิดผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คราวนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ร.ซ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ความตอนหนึ่งว่า

 

 

วัชระแบบอินเดีย

 

 

          "ที่จะใช้รูปวชิราวุธอย่างอินเดียนั้นถูกดี ที่เดี๋ยวนี้ใช้รูปเพชรบริลเลี่ยนอย่างประดับเครื่องแต่งตัวนั้นผิด ด้วยไม่เปนอาวุธ

 

          จะเอาอะไรช้อนวชิราวุธให้เปนยอด ตราของท่านที่ใช้อยู่แล้ว มีอุณาโลมซ้อนบนเพชร อุณาโลมเปนตาที่สามของพระอิศวร ควรใช้เปนที่หมายเฉพาะแต่มหาราช อุปราชเอาไปใช้นั้นผิด ใช้ไม่ได้ ตราตำแหน่งมกุฎราชกุมารได้ตั้งแบบขึ้นไว้ เปนพระเกี้ยวมีขนนกการเวกแซมหลัง จะเอาพระเกี้ยวมาใช้จะเปนอย่างไร จะได้จะดีฤาไม่ ต้องแปลตรามกุฎราชกุมารเสียก่อน

 

          พระเกี้ยวแปลว่าอะไร เดิมทีบัญญัติขึ้นใช้เปนเครื่องหมายฉเพาะพระองค์ใต้ฝ่าลอองฯ ออกจากพระนามซึ่งแปลได้ความว่า เครื่องประดับจุก ก็เหตุไฉนจึงเอามาใช้เปนตรามกุฎราชกุมารด้วย จะแปลว่าพระเกียรติยศของท่านควรทรงพระเกี้ยวยอดก็ไม่ตรง เจ้าฟ้าทุกพระองค์ได้ทรงทั้งสิ้น ตลอดถึงพระองค์เจ้าที่แห่นอกก็ได้ทรงทุกองค์ จะแปลว่าเปน พระโอรสในใต้ฝ่าลอองฯ ก็ไม่สมกับที่จะเปนตราตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ซึ่งไม่จำต้อง เปนพระโอรสก็ได้ ยังมีเหลือที่จะแปลได้อีกอย่างเดียวแต่ว่าหลงมาจากคำที่เรียกว่าจุลมงกุฎ จึงเอามายกให้จุลราช แท้จริงคำที่เรียกพระเกี้ยว ควรจะเรียกว่าพระจุฬาลงกรณ์ จะเปนตรงด้วยพระนามแลตรงด้วยพระเกี้ยวดีทั้งสองข้าง แต่ที่ใช้คำว่าจุลมงกุฎนั้น เห็นจะให้ความว่าใต้ฝ่าลอองฯ เปนพระโอรสทูลกระหม่อมสืบสันตติวงษ์ได้ด้วย เอามาใช้เปน เครื่องหมายตำแหน่งมกุฎราชกุมารก็ผิดเท่านั้น ขนนกการเวกที่แซมไว้หลังเกี้ยวนั้นจะแปลได้ว่าอะไร ขนนกการเวกเห็นที่ใช้สองอย่าง อย่างหนึ่งนำแห่โสกันต์เจ้าฟ้า อย่างหนึ่งปักยี่ก่ามาลาต่างกรม จะเปนที่หมายตรงฉเพาะมกุฎราชกุมารอย่างใดก็หาไม่ คิดไปคิดมาก็ไม่เห็นมีอไร นอกจากผู้ผูกตราตำแหน่งมกุฎราชกุมารเก็บอะไรต่ออะไรมาประกอบกันเข้า ด้วยความตั้งใจแต่จะให้เหมือนตราปรินส์ออฟเวลเท่านั้น

 

 

ตรามงกุฎขนนกประจำพระองค์ปรินส์ออฟะวลส์ (Prince of Wales)

มกุฎราชกุมารอังกฤษ

 

 

          ถ้าดังนั้นตรามกุฎราชกุมารที่ตั้งแบบขึ้นไว้แต่ก่อนก็ตาย จะแก้เปนอย่างไรดี คิดถึงแบบฝรั่งก็มืดแปดด้าน ต้องดันไปไทๆ ลองดูเครื่องหมายตำแหน่งอุปราชจะมีอไรบ้าง เคยได้ยินชื่ออนุราชมงกุฎ แต่ไม่เคยเห็นตัว ฤาบางทีจะเห็น ถ้ามีเดี๋ยวนี้คงอยู่ห้องภูษามาลา แต่หากไม่รู้จักด้วยไม่มีผู้ชี้ แต่อย่างใดก็ดี รูปก็คงเปนมงกุฎ ที่จะปรากฏเห็นผิดกับพระมหามงกุฎนั้นเปนอันยาก ไม่ควรคำนึงเอามาใช้ เอาฉัตรเจ็ดชั้นใช้ดีกว่าอื่นหมด ตรงตำแหน่งอุปราชซึ่งเทียบเปนมกุฎราชกุมาร จะเปนเครื่องหมายที่เห็นง่ายแลไม่ซ้ำกับใคร

 

          ถ้าเอาฉัตรกับวชิราวุธเปนหลัก จะผูกตราได้สามอย่าง คือ

 

          ๑ ตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร ทำเปนรูปฉัตรเจ็ดชั้น (อย่างแขวนไม่มีคัน)

 

          ๒ ถ้าทำตราผสม คือตราสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ควรทำรูปวชิราวุธมีคมสองข้างนอนไว้ข้างล่าง มีฉัตรเจ็ดชั้นกั้นเบื้องบน

 

          ๓ ถ้าทำตราฉเพาะพระองค์เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ควรใช้รูปวชิราวุธคมข้างเดียวตั้งขึ้น (แบบข้างอินเดียเขาทำคมข้างเดียวมีเหมือนกัน) มีรัศมีหว่านล้อมเปนรูปทรงเข้าบิณฑ์ ตรารูปนี้จะเห็นเหมือนตราตรี ซึ่งได้ตีเงินในชั้นแรกรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าตราซ่อม

 

          ความเห็นไปไกลเช่นนี้ จะเปนที่ใช้ได้ฤาไม่ แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ถ้าตกลงจะใช้อย่างนี้ น่าที่โทษจะถึงต้องแก้พระราชบัญญัติ เข้าใจว่าในพระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน จะมีกล่าวด้วยตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วย แต่ไม่แน่" []

 

          เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงขะมีพระราชดำริเห็นด้วยกับคำกราบบังคมทูลของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราวัติวงศ์ จึงได้พบตะเกียงรถม้าพระที่นั่งมีตราแกะสลักเป็นรูปสัปตปฎลเศวตรฉัตรอยู่เหนือวชิราวุธแนวนอน

 

 

ตะเกียงรถม้าพระที่นั่ง กระจกแกะสลักเป็นพระลัญจกรวชิราวุธมีสัปตปฎลเศวตฉัตรอยู่เหนือ

 

 

          นอกจากนั้นยังพบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้สัปตปฎลเศวตฉัตรเหนืออักษรพระนามาภิไธย ม.ว. ในเข็มอักษรพระนามามาภิไธยและเสมาที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร

 

 

เสมาและเหรียญอักษรพระนามาภิไธย ม.ว. สัปตปฏลเศวตฉัตร

 

 

เข็มอักษรพระนามาภิไธย ม.ว. สัปตปฎลเศวตรฉัตร

 

 

แหนบสายนาฬิกาอักษรพระนามาภิไธย ม.ว. สัปตปฎลเศวตฉัตร

 

 

พัดรองที่ระลึกงานฉลองพระชันษา

 

 

 

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ๑/๑๔ เรื่องตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสฯ (๒๗ มิถุนายน ๑๒๗).

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |