โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๗. ตึกวชิรมงกุฎ

 

          ตึกวชิรมงกุฎ หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า ตึกขาว เพราะตัวตึกเป็นสีขาวนี้ เป็นอาคารเรียนถาวรหลังใหญ่ของวชิราวุธวิทยาลัยที่สร้างขึ้นการกทดแทนเรือนไม้หลังคาจากด้านทิศเหนือของคณะจิตรลดา ที่สร้างขึ้นาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนชั่วคราวขึ้นที่สวนกระจังใน พ.ศ. ๒๔๕๓ และได้ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย คราวประชุมครั้งที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ประชุมพร้อมกัน

 

          "...มีความเห็นว่า เวลานี้โรงเรียนยังขาดที่สำคัญอยู่อย่างเดียว คือ สถานที่เล่าเรียน เพราะห้องเรียนเก่าสร้างมาตั้งแต่สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องเปลี่ยนจากมุงหลังคากันเรื่อยมาเนืองๆ เป็นการเปลืองที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ยังซ้ำตัวห้องเรียนเองก็เริ่มจะชำรุดอยู่หลายแห่ง ถ้าคงไว้น่าจะต้องซ่อมใหญ่ในไม่ช้า จึงเห็นว่าถึงเวลาที่แล้วที่จะสร้างสถานที่เล่าเรียนให้เป็นถาวรเสียที... []

 

 

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) และหลวงวิศาลซิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา)

สถาปนิกผู้ออกแบบตึกวชิรมงกุฎ

 

 

          สภากรรมการฯ จึงได้มอบหมายให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร.สุขยางค์) และหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สถาปนิกของกระทรงธรรมการ จัดการออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนถาวรขนาด ๑๖ ห้องเรียน ขึ้นที่ริมสระน้ำ ด้านหลังหอสวด (หอประชุม) กำหนดให้ตัวอาคารทอดยาวไปตามแนวทิศเหนือ - ใต้ หันหน้าออกไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับหอสวด ส่วนรูปลักษณ์ของอาคารกำหนดให้เป็นเป็นตึกทรงไทยสองชั้น ตัวอาคารมีมุขหน้าและมุขหลังที่ตอนปลายรับกับหอสวดที่ด้านหน้า หลังคาเป็นหลังคาลดสามชั้น มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์พร้อมสรรพ หน้าบันมุขหน้าเป็นลายปูนปั้นรูปพระวชิระคมประดับกระจกประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มุขหลังเป็นปูนปั้นลายใบเทศ เพื่อให้สอดรับกับหอสวดที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นไว้ตั้งแต่คราวเลิมพระชนม์พรรษา ๓ รอบ มโรงนักษัตร (๑ มกราคม ๒๔๕๙)

 

 

หอสวด (หอประชุม) มองเห็นมุขด้านทิศใต้และเหนือของตึกวชิรมงกุฎที่ด้านหลัง

 

 

          ในชั้นต้นสถาปนิกประมาณราคาค่าก่อสร้างไว้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท แต่โรงเรียนมีเงินทุนที่พอจะเบิกจ่ายมาใช้ในการก่อสร้างได้เพียง ๗๐,๐๐๐ บาท สภากรรมการจัดการฯ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณากู้ยืมเงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร กำหนดจะผ่อนใช้คืนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติปีละ ๑๖,๐๐๐ บาท โดยขอพระราชทานยกเว้นดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ

 

 

อภิรัฐมนตรีสภาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          อภิรัฐมนตรีสภาหรือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินพิจารณาแล้วไม่ให้ความเห็นชอบการกู้ยืมเงินรายนี้ สภากรรมการจัดการฯ จึงได้มีมติให้จัดสรรเงินงบประมาณเหลือจ่ายของโรงเรียนที่สะสมไว้ได้ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินทุนที่มีอยู่แล้ว ๗๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนในการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร และได้ขอให้สถาปนิกปรับลดขนาดอาคารเรียนลงตามวงเงินงบประมาณที่มีอยู่เพียง ๑๒๐,๐๐๐ บาท

 

          เมื่อสถาปนิกปรับแก้แบบก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนถาวรขนาด ๑๒ ห้องเรียน เป็นตึกก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเป็นโครงไม้มุงกระเบื้องเคลือบสี ที่มุขปลายอาคารทั้งสองข้างมีบันไดขึ้นสูตัวอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลังมุขละ ๔ บันได

 

 

ซุ้มเรือนแก้วประดิษฐานนูปหล่อพระมนูแถลงสารที่ผนังตอนกลางกลางอาคาร

 

 

          ตอนกลางอาคารมีบันไดขึ้นสู่ชั้นล่างของอาคาร เชื่อมต่อกับบันไดหินชัดขึ้นสู่ชั้นสองของอาคาร ที่ผนังเหนือชานพักบันไดตอนกลางอาคาร เป็นซุ้มเรือนแก้วประดิษฐานรูปหล่อพระมนูแถลงสาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก จัดการปั้นหล่อด้วยสัมฤทธิ์และพระราชทานไว้แก่โรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔

 

          การก่อสร้างเริ่มดำเนินมาพร้อมๆ กับการก่อสร้างตึกพยาบาล (ปัจจุบันจัดเป็นหอประวัติวชิราวุธวิทยาลัย) ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทำผาติกรรมแก่โรงเรียนมาตั้งแต่ปลาย พ.ศ. ๒๔๗๓ มาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยนายสง่า วรรณดิษฐ์ ในนามบริษัทสง่าพานิช จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในวงเงินค่าจ้างเหมา ๑๐๕,๙๐๐ บาท

 

          ในการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎนี้มีเรื่องเล่าในแวดวงช่างรับเหมาไทยว่า บริษัท สง่าพานิช จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎนี้ เป็นบริษัทรับเหมาสัญชาติไทยรายแรกที่ได้รับงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านั้นงานก่อสร้างขนาดใหญ่ล้วนตกอยู่ในมือผู้รับเหมาต่างชาติทั้งสิ้น

 

          เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนแล้วเสร็จในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ สภากรรมการจัดการฯ ได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้ไม่นาน ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริทางการเมืองแตกต่างจากคณะราษฎรซึ่งเป็นคณะรัฐบาลในเวลานั้น ในการเปิดตึก เรียนและตึกพยาบาลคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกเรียนถาวรที่ได้พระราชทานนามว่า "ตึกวชิรมงกุฎ" เพื่อให้ปรากฏเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดสถาบันการศึกษานี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องในกาพระราชพีฉัตรมงคลซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์

 

 

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

 

 

          ตึกวชิรมงกุฎนี้ ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ราชบัณฑิต อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และนายกสมาคมสถาปนิกสาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยชี้แจงให้ผู้เขียนฟังว่า เป็นตึกทรงไทยสองชั้นหลังแรกที่มีการสร้างขึ้น และได้เป็นต้นแบบของการก่อสร้างอาคารทรงไทย ๒ ชั้นในเวลาต่อมา และคงจะเป็นเพราะเหตุดังกล่าว จึงมีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะพระราชทานเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา [] แก่ หลวงวิศาลศิลปกรรม ผู้ร่วมออกแบบ แต่เนื่องจากในวันนั้นมิได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หลวงวิศาลศิลปกรรมจึงยังมิได้รับพระราชทาน และต้องรอมาอีก ๕๐ ปี จึงได้รับพระราชทานเหรียญดังกล่าวในคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕

 

 
 

 

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ ศ.๔/๑๐๐ เรื่อง โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (๑๔ เมษายน ๒๔๗๐ - ๘ สิงหาคม ๒๔๗๕)

[ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยานี้ มีความตอนหนึ่งในพระราชบัญญัติเครื่องอิสริยยศสำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา จุลศักราช ๑๒๔๔ พุทธศกราช ๒๔๒๕ ว่า

          "เข็มที่จาฤกว่าศิลปวิทธยานั้น ไว้สำหรับพระราชทานนักปราชราชกระวี นายช่างแลฝีมือช่างพิเศศต่าง ๆ ที่ได้คิดอย่างสิ่งของที่จะเปนประโยชนทั่วกัน ครั้งแรกคราวแรกฤๅชักนำสิ่งของใด ๆ เข้ามาทำมาสร้างขึ้นในแผ่นดิน เปนผลประโยชนต่อบ้านเมืองแลราชการ ฤๅผู้ที่แต่ง หนังสือตำราวิทธยการต่าง ๆ ที่เปนของเก่าของใหม่ก็ดี ที่เปนคุณต่อแผ่นดิน เปนประโยชนแก่ราชการ เปนผลแก่การค้าขาย ฤๅผู้เปนช่างอย่างฝีมือเอก ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีกว่า แล้วผู้ทำคุณประโยชนดังกล่าวมานี้ ก็จะทรงพระราชดำริหวินิจฉัย พระราชทานเข็มชนิดนี้ให้ตามฐานานุรูป"

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |