โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๒. หอสมุดวชิราวุธวิทยาลัย

 

          ในประเทศไทยแต่เดิมมาเคยมี "หอพระสมุด" เป็นที่เก็บรวมรวมสรรพหนังสือของหลวง บางครั้งจึงเรียกหอพระสมุดว่า "หอหลวง" หนังสือที่เก็บรักษาไว้ ณ หอพระสมุดนี้นัยว่าเป็นที่หวงแหนสำหรับใช้ในราชการ ผู้ที่จะมีโอกาสเข้าอ่านและศึกษาค้นคว้าหนังสือในหอหลวงจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเท่านั้น ในเวลาต่อมาจึงมีผู้ลักลอบคัดลอกหนังสือจากหอหลวงออกเผยแพร่ ดังเช่นรายนาย ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือ นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ ที่กล่าวกันว่า ได้ลักลอบนำหนังสือออกจากหอหลวงไปคัดลอกและตีพิมพ์จำหน่ายในนามของตนเองหลายเล่ม

 

 

หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระสมุด 3 แห่งเข้าด้วยกันคือ หอพุทธสาสนะสังคหะ หอพระมณเฑียรธรรม และหอพระสมุดวชิรญาณ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีที่ตั้งอยู่ ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม) ซึ่งแม้จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปอ่านหนังสือในหอพระสมุดพระนครนี้ได้ แต่ด้วยสถานที่ตั้งซึ่งไม่สะดวกในการเข้าถึงต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกไปอยู่ที่ตึกสังคหวัตถุ (ตึกแดง) ข้างวัดมหาธาตุ พระราชทานให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าสำหรับประชาชนทั่วไป

 

          ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น นอกจากจะทรงใช้ประโยชน์จากหอสมุดในสถานศึกษาที่ทรงศึกษาอยู่แล้ว ก็ทรงซื้อและสะสมหนังสือวิชาการและบันเทิงคดีไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ก็ทรงนำหนังสือส่วนพระองค์นั้นกลับมาด้วย จึงปรากฏมีห้องบรรณาคมหรือห้องหนังสืออยู่ในพระราชฐานที่ประทับทุกแห่ง

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยสภากรรมการทวีปัญญาสโมสร ในการที่สภากรรมการทวีปัญญาสโมสรจัดการรื่นเริงส่งเสด็จ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ณ พระตำหนักจิตรลดา

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗

(แถวนั่งจากซ้าย) ๑. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) กรรมการพิเศษที่ปรึกษา ๒. หม่อมเจ้าถูกถวิล ศุขสวัสดิ์ ปฏิคม ๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา บรรณารักษ์ ๔.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สภานายก ๕. นายหยวก เตมียบุตร เหรัญญิก ๖. นายสอาด ชูโต เลขานุการ ๗. หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
(ยืนแถวหน้าจากซ้าย) ๑. ขุนวิรัชเวชกิจ (สุ่น สุนทรเวช) ๒.นายพงษ์ สวัสดิ์ – ชูโต กรรมการผู้ช่วย ๓. พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรวิสุทธิ ๔. นายกริ่ม สุรนันทน์ ๕. พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญโนภาสรัศมี ๖. หม่อมราชวงศ์โป๊ะ มาลากุล ๗. หม่อมเจ้ามรุพรพันธ์ เทวกุล ๘. หม่อมเจ้าทิณทัต ศุขสวัสดิ์ ๙. นายจ่ายง (สาย ณ มหาชัย) ๑๐. หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ กรรมการผู้ช่วย ๑๑. นายพันโท พระพิเรนทรเทพ (เย็น ยมาภัย) ๑๒. จางวางวร ๑๓. นายพันเอก หม่อมเจ้าชื่น กำภู ๑๔. หม่อมเจ้าพงศ์ทินเทพ เทวกุล
(ยืนแถวหลังจากซ้าย) ๑. หลวงบุรีนวราษฐ (จันทร์ จิตรกร) ๒. หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ๓. หม่อมเจ้าเสพโสมนัส เทวกุล ๔. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร กรรมการผู้ช่วย ๕. นายฮัก บุนนาค ๖. หม่อมเจ้าตรีพิเพทพงศ์ เทวกุล

 

 

          อนึ่ง แม้จะเสด็จนิวัตพระนครแล้ว ก็ยังโปรดที่จะสั่งศื้อหนังสือจากต่างประเทศเข้ามาเป็นประจำ รวมทั้งโปรดให้จัดพิมพ์บทพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ฯลฯ มาเป็นลำดับตลอดรัชสมัย ฉะนั้นจึงปรากฏความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภายหลังจากเสด็จสวรรคตแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนวนนับหมื่นเล่มให้แก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงเกิดมีหอพระสมุดวชิราวุธคู่กับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐบาลได้จัดสร้างหอสมุดแห่งชาติขึ้นใหม่ในพื้นที่ใหล้กับท่าวาสุกรีที่เคยเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวแล้ว รัฐบาลจึงได้จัดการรวมหอพระสมุดทั้งสองนั้นเข้าด้วยกันและเปลี่ยนนามเป็นหอสมุดแห่งชาติ โดยยังคงนามหอพระสมุดวชิรญาณไว้เป็นที่เก็บรักษาสมุดไทย ส่วนนามหอพระสมุดวชิราวุธนั้นหายไป จนถึงคราวฉลองพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี เมื่ออวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงมีการจัดตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์เป็นที่เก็บรวบรวมบทพระราชนิพนธ์และหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งหนังสือส่วนพระองค์บางส่วนที่เหลือมาจากหอพระสมุดวชิราวุธ

 

          นอกจากเรื่องของหอพระสมุดวชิราวุธดังได้กล่าวแล้ว ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังได้ทรงจัดตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นที่พระราชวังสราญรมย์ซึ่งเป็นที่ประทับ โดยทรงรับเป็นสภานายกของสโมสรนี้ร่วมกับกรรมการอื่นอีกหลายพระองค์และหลายท่าน กิจกรรมของทวีปัญญาสโมสรนั้น นอกจากจะเป็นที่ประชุมพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิก มีการละเล่นต่างๆ แล้ว ทวีปัญญาสโมสรยังมีห้องสมุดไว้บริการสมาชิก ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของห้องสมุดตลอดมา

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ก็คงจะโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนจัดให้มีหอสมุดไว้ให้นักเรียนได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และได้เสด็จพระราชดำเนินหอสมุดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ดังมีความปรากฏในข่าวในพระราชสำนักว่า

 

          "เวลาบ่ายวันนี้ ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรโดยรถยนต์พระที่นั่งยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในการพระราชทานประกาศนิยบัตร์แลรางวัลแก่นักเรียน

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรถึงโรงเรียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรยังหอสมุดของโรงเรียน ทอดพระเนตร์หนังสือแลรูปต่างๆ ซึ่งรักเรียนวาด แล้วเสด็จประทับพลับพลาที่สนามของโรงเรียนทอดพระเนตร์การดัดตนของนักเรียน

 

          เมื่อเสร็จการดัดตนแล้ว นักเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแถวน่าพลับพลาที่ประทับ พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์อาจารย์ใหญ่อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณา อัญเชิญเสด็จพระราชทานประกาศนียบัตร์แลรางวัลแก่นักเรียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบพระราชทานพระบรมราโชวาทตามสมควรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตร์แลรางวัลอก่นักเรียน เสร็จแล้วเสด็จประทับเสวยเคนื่องว่างพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ผู้ตรวจการแลกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้ปกครองนักเรียนและผู้ที่ได้รับเชิญ พอได้เวลาสมควรแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระบรมมหาราชวัง" []

 

          หอสมุดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรคราวนั้นคงจะอยู่ในหมู่เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นโรงเรียนชั่วคราวที่ด้านหลังคณะจิตรลดาในปัจจุบัน และคงอยู่คู่กับห้องเรียนที่เรือนไม้นั้นมาจนสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๗๕ ซคางต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ นักเรียนได้ย้ายขึ้นไปเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎแล้ว โงเรียนจึงได้รื้อเรือนไม้หลังคามุงจากที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมนั้นลง และย้ายสรรพหนังสือในหอสมุดไปไว้บนระเบียงหอประชุมชั้นบน

 

 

พระยาภะรตราชา วางศิลาฤกษ์อาคารหอสมุดภะรตราชา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

 

 

          หอสมุดของวชิราวุธวิทยาลัยคงอยู่บนหอประชุมมาจนการก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งใหม่ซึ่งพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยบริจาคเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จัดสร้างไว้ในโอกาสที่เจริญอายุวัฒนะมงคลครบ ๖ รอบปีนักษัตร (๗๒ ปี) โดยขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วเสร็จในตอนต้นปีการศึกษา ๒๕๐๕ หอสมุดจึงย้ายจากหอประชุมมาเปิดให้บริการที่อาคารใหม่ซึ่งเป็นตึกชั้นเดียวยกพื้นสูง ในพื้นที่ว่างฝั่งตรงข้ามสนามบาสเกตบอลข้างคณะผู้บังคับการ โดยมีสวนญี่ปุ่นฝีมือการจัดสวนของท่านผู้หญิงภะรตราชา (ขจร อิศรเสนา) แวดล้อม
ต่อมาในโอกาสฉลองชาตกาลพระยาภะรตราชาครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะศิษยานุศิษย์นำโดยนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย พล.ต.ต.จักร จักษุรักษ์ ได้พร้อมกันบริจาคทุนทรัพย์จัดสร้างอาคารหอสมุดเพิ่มเติมอีก ๑ หลังเป็นอาคารแฝดในขนาดและรูปลักษณ์เหมือนอาคารเดิม โดยอาคารที่สร้างใหม่นั้นอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของอาคารเดิม ทั้งนี้เพื่อขยายพื้นที่จัดเก็บหนังสิที่ทวีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งเพื่อรองรับการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนตามหลักสูตรการศึกษาแผนใหม่

 

          อนึ่ง ในโอกาสเดียวกันนั้น คณะศิษยานุศิษย์ยังได้มอบหมายให้นักเรียนเก่สวชิราวุธวิทยาลัยจักรพันธ์ โปษยกฤต ออกแบบปั้นหล่อรูปหล่อลอยตัวของพระยาภะรตราชาขนาดเท่าจริงตั้งไว้ ณ หอสมุดซึ่งท่านได้บริจาคเงินจัดสร้าง และดะร้อมกันขออนุญาตขนานนามหอสมุดนี้ให้เป็นเกียรติแด่ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาว่า "หอสมุดภะรตราชา"

 

 
 

 

[ ]  "ข่าวในพระราชสำนัก วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม", ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๓ มกราคม ๒๔๕๗), หน้า ๒๒๓๔ - ๒๒๓๕.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |