โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๗. สนามและอาคารกีฬา (๒)

 

 

 

          นอกจากสนามหน้า สนามข้าง และสนามหลังที่เป็นทั้งสนามฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอล รวมทั้งเป็นสนามกรีฑามาตรฐาน ๔๐๐ เมตรแล้ว ยังพบหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่า เมื่อการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎเป็นตึกเรียนหลังใหญ่ด้านหลังหอประชุมแส้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีการจัดพื้นที่หน้าตึกวชิรามงกุฎเป็นสนามบาสเกตบอลชนิดพื้นหญ้า ก่อนที่จะย้ายสนามบาสเกตบอลไปสร้างใหม่เป็นสนามพื้นคอนกรีตริมคูน้ำด้านทิศเหนือด้านหลังคณะพญาไท จำนวนสนาม ๓ สนาม กับอีก ๒ สนามระหว่างตึกคณะผู้บังคับการกับตึกพยาบาล

 

 

สนามเทนนิส ๒ สนาม ในพื้นที่ระหว่างตึกพยาบาล (หอประวัติ) กับคณะดุสิต

 

 

 

 

          ถัดจากตึกพยาบาลลงไปทางทิศใต้ ระหว่างตึกพยาบาลกับคณะดุสิตมีการจัดทำพื้นที่ส่วนนี้เป็นสนามเทนนิสชนิดสนามหญ้ารวม ๒ สนามมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังมีหลักฐานปรากฏในแจ้งความวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๗๑

 

          ภายในสนามเทนนิสทั้งสองแบ่งเป็นคอร์เทนนิสชนิดคอร์หญ้าหลายคอร์ท ต่อมาเมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดสรรเงินรายได้จากการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ให้วชิราวุธวิทยาลัยจัดสร้างสระว่ายน้ำขนาดความยาวสระ ๒๕ เมตรขึ้น โรงเรียนจึงได้เลือกพื้นที่สนามเทนนิสส่วนที่ติดกับตึกพยาบาลเป็นสถานที่ก่อสร้างสระว่ายน้ำ สนามเทนนิสของวชิราวุธวิทยาลัยในเวลาต่อจากนั้นจึงเหลือเพียงสนามใหญ่ด้านที่ติดกับคณะดุสิต ซึ่งภายในแบ่งเป็นคอร์ทหญ้า ๓ คอร์ท และคอร์ทกรวดอีก ๒ คอร์ท ต่อมาในสมัยผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้มีการปรับตอร์ทเทนนิสทั้ง ๕ คอร์ทนั้นเป็นตอร์ทยางตามมาตรฐานสากลทั้งหมด

 

          นอกจากสนามกีฬาต่างๆ แล้ว ยังมีกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่มีการแข่งขันในวชิราวุธวิทยาลัย คือ กีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งมีการแข่งขันกันในภาคเรียนสุดท้ายของปี และเนื่องจากกีฬาชนิดนี้ไม่ใช่กีฬาหลักใน สนามวอลเลย์บอลจึงมักจะจะถูกกำหนดขึ้นที่ริมสนามหน้าหรือสนามข้าง โดยเมื่อให้ถึงฤดูการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ก็จะมีการปักเสาตีเส้นเป็นสนามแข่งขันตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา

 

          สำหรับสะว่ายน้ำที่สร้างขึ้นแทนที่สนามเทนนิสข้างตึกพยาบาลนั้น เป็นสระว่ายน้ำที่สร้างขึ้นตามส่วนย่อของกติกาโอลิมปิค มีส่วนยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑๒.๕๐ เมตร มีเครื่องกรองน้ำ ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ห้องน้ำ ที่กระโดดน้ำ และเครื่องประกอบครบถ้วนจามกติกาของโอลิมปิค สระว่ายน้ำนี้ได้เปิดให้นักเรียนทุกคณะหมุนเวียนกันมาว่ายน้ำและจัดให้นักกีฬาว่ายน้ำทีมโรงเรียนฝึกซ้อมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้สร้างนักเรียนให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไปแล้วหลายคน

 

 

สระว่ายน้ำที่สร้างขึ้นใหม่แทนทนสระเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓

 

 

          สระว่ายน้ำที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานใน พ.ศ. ๒๕๒๐ นั้น ได้ใช้งานมาจนถึงปีการศึกษา ๒๕๓๒ โรงเรียนได้รายงานให้คณะกรรมการอำนวยการฯ ทราบว่า พื้นสระชำรุดมีรอยแตก นักเรียนได้รับบาดเจ็บจากถูกกระเบื้องพื้นสระบาดอยู่เนืองๆ คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณให้รื้อและสร้างสระว่ายน้ำขึ้นใหม่ทดแทนสระเดิม แต่ในการสร้างใหม่นี้ได้ขยายความกว้างของสระให้มีช่องว่ายเพิ่มเป็น ๘ ช่องจากเดิมที่มีอยู่เพียง ๖ ช่อง ทำให้ทุกคณะสามารถาส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้พร้อมกันคณะละ ๒ คน

 

          นอกจากสนามกีฬาและสระว่ายน้ำดังกล่าวแล้ว ในระเบียบการของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ได้กล่าวถึงการประจำวันตามเวลาปรกติของโรงเรียนไว้ว่า

 

"ย่ำรุ่ง ตื่นนอน
ย่ำรุ่ง ๓๐ นาที กินน้ำชาเช้าในห้องเลี้ยง
ย่ำรุ่งครึ่งถึงโมงครึ่ง ตรวจชื่อ หัดทหาร หรือหัดยิมนาสติกส"

 

          ดังนี้ย่อมเป็นพยานยืนยันว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้รับการฝึกหัดยิมนาสติส์ หรือในสมัยนั้นเรียกว่า "ดัดตน" มาแต่แรกตั้งโรงเรียน ต่อมาในสมัยที่รวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว จึงมีการสร้างโรงยิมนาสติกขึ้นที่ริมคูน้ำด้านทิศใต้ ในพื้นที่ระหว่างคณะดุสิตกับคณะจิตรลดา

 

 

อาคารพลศึกษา หรือ โรงยิมนาสติกส์เก่า

 

          โรงยิมนาสติกนี้เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีเหมือนหอประชุมและตึกคณะทั้งสี่ ภายในมีอุปกรณ์การเล่นยิมนาสติกส์พร้อมสรรพ แต่เนื่องจากโรงยิมนี้เป็นเรือนไม้เมื่อใช้งานไปนานๆ สภาพของโรงยิมย่อมทรุดโทรม ประกอบกับไม่สามารถดัดแปลงให้เข้ากับความต้องการตามยุคสมัยได้ โรงเรียนจึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างอาคารพลศึกษาหรือโรงยิมนาสติกส์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพลศึกษาใหม่นี้เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ส่วนโรงยิมนาสติกส์เก่านั้นโรงเรียนได้ดัดแปลงเป็นห้องนอนของนักเรียนในระหว่างซ่อมตึกคณะจิตรลดา พญาไท และผู้บังคับการ แล้วต่อมาได้ใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ กับเป็นโรงอาหารว่างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ระรื้อและก่อสร้างตึกประชาธิปกขึ้นแทยที่ในคราวฉลองวันพระบรมราชสมภพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๑๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖

 

          ส่วนอาคารพลศึกษา (โรงยิมนาสติกส์ใหม่) นั้น ต่อมาในสมัยดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้ดัดแปลงอาคารนี้เป็นโรงละครของนักเรียนแทน

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |