โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๙. สถานภาพวชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          วันหนึ่งในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งผมจบไปจากโรงเรียนกว่า ๒ ปีแล้ว แต่จู่ๆ ก็ได้รับการติดต่อจากบุคลากรของโรงเรียน จะเป็นคุณทองหล่อ ใจดี หรือคุณสุชาติ แก่นจันทร์ คนใดคนหนึ่งจำไม่ได้ ท่านว่า ครูจิต พึ่งประดิษฐ์ ให้เชิญไปพบที่คณะพญาไท
เมื่อตอบรับคำเชิญไปแล้ว ก็ให้รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงไม่น้อย เพราะในยุคผมเป็นนักเรียนนั้นการถูกเรียกไปพบ “สี่มหาอำนาจ” คือ ท่านผู้บังคับการและผู้กำกับคณะอีก ๓ ท่าน คือ ครูจิต ครูรุณ และครูแม นั้น มักจะต้องมีเรื่องมีราวถึงขั้นคอขาดบาดตายเลยทีเดียว ยิ่งเวลานั้นครูจิต ท่านเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการแทนท่านผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ยังคงรับราชการเป็นเลขาธิการพระราชวังด้วยแล้ว ยิ่งชวนให้ครั่นเนื้อครั่นตัวไม่น้อย

 

          แต่เมื่อเข้าไปพบท่านในค่ำวันนั้น ความประหวั่นพรั่นพรึงพลอยมลายหายไปสิ้น เริ่มจากท่านชวนรับประทานอาหารเย็น เสร็จแล้วท่านส่งเอกสารปึกใหญ่ให้อ่าน ที่แผ่นหน้าของเอกสารนั้นมีคำว่า “ลับ” สีแดงประทับอยู่ด้วย ในวันนั้นท่านยังได้กำชับให้เก็บรักษาเอกสารนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของโรงเรียนเลยทีเดียว

 

          เอกสารที่ครูจิตส่งให้ในวันนั้นเป็นสำเนาหนังสือราชเลขาธิการตอบคำกราบบังคมทูลของนายภิญโญ สาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

          ครูจิตเล่าว่า เมื่อนายภิญโญ สาธร มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยโดยตำแหน่งแล้ว ได้นำบทวิเคราะห์สถานภาพปัจจุบันของ “วชิราวุธวิทยาลัย” มาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ที่ห้องประชุมภายในกองบังคับการ (ที่ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ พร้อมชี้แจงให้ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯทราบรายละเอียดของบทวิเคราะห์นั้น โดยให้ถือว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นความลัย กับมอบหมายให้ครูจิตในตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการทำรายงานชี้แจงให้คณะกรรมการอำนวยการฯ ทราบภายในเจ็ดวัน

 

          ต่อมาวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้รับหนังสือตอบจากสำนักราชเลขาธิการ อัญเชิญพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาให้ทราบ คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงมาทราบในภายหลังว่า นอกจากจะนำบทวิเคราะห์สถานภาพปัจจุบันของวชิราวุธวิทยาลัยมาสร้างความงุนงงให้คณะกรรมการอำนวยการฯ แล้ว นายกกรรมการอำนวยการฯ ยังได้นำบทวิเคราะห์ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

 

          ถัดมาวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๐ นายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้เดินทางมาพบครูจิต พึ่งประดิษฐ์ ที่โรงเรียน และวันนั้นดูเหมือนนายกกรรมการอำนวยการฯ จะได้ขึ้นหอประชุมพบกับครูและนักเรียนเพื่อปรับความเข้าใจเรื่องบทวิเคราะห์สถานภาพปัจจุบันของวชิราวุธวิทยาลัยด้วย

 

          เนื่องจากเหตุการณ์นี้ได้ล่วงเลยมาเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว อีกทั้งตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว จึงขอถือโอกาสนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดมาบันทึกไว้ในจดหมายเหตุวชิราวุธ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ต้องสูญหายไปตามกาลเวลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |