โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๔. เงินพระบรมราชโองการ (๑)

 

          ในงบประมาณประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น มีการแสดงงบประมาณรายรับในแต่ละปีไว้ ๓ หมวด คือ

          ๑) เงินค่าเล่าเรียน

          ๒) เงินผลประโยชน์

          ๓) เงินรัฐบาลอุดหนุน

 

          เงินค่าเล่าเรียนนั้น คือ เงินค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียนตามอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

 

          เงินผลประโยชน์ คือ เงินผลประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ โดยให้พระคลังข้างที่เป็นผู้จัดหาประโยชน์อุดหนุนโรงเรียน รวมทั้งส่วนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเพิ่มเติมในกรณีที่เงินผลประโยชน์จากพระคลังข้างที่จัดเก็บในปีนั้นๆ ไม่พอแก่ค่าใช้จ่ายของโรงเรียน

 

          ส่วนเงินรัฐบาลอุดหนุนนั้น เป็นเงินที่โรงเรียนมีปัญหากับกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด แม้จนปัจจุบันนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งกันมามิได้ขาด ทั้งนี้เพราะเงินอุดหนุนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องอุดหนุนโรงเรียนเป็นประจำทุกปีมานั้น ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์หรือปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนรองรับ

 

          ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินอุดหนุนแก่วชิราวุธวิทยาลัย แต่กระทรวงศึกษาธิการได้จ่ายเงินอุดหนุนนี้ให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีนับตาปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาที่มาของเงินจำนวนนี้

 

 

 

 

          ในรายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ได้กล่าวถึงเรื่อง "การเงิน เงินการกุศลแลเงินรายได้เบ็ดเตล็ด" ไว้ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาที่จะบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญรุ่งเรืองเท่าทันกับประเทศอื่น, จึงทรงสละพระราชทรัพย์เปนจำนวนมากในการใช้จ่ายของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เปนการประจำแลการจรต่างๆ นอกจากเงินรัฐบาลอุดหนุนในบางโรงเรียน"  []

 

          "เงินรัฐบาลอุดหนุนในบางโรงเรียน" นั้น มีที่มาจากในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "กระทรวงยุติธรรมมีความต้องที่จะให้ผู้ที่มีน่าที่เปนผู้พิพากษาตุลาการ, ได้มีความรู้ทางภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้กว้างขวางในการที่จะเทียบเคียงวินิจฉัยอรรถคดี, จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงศึกษาธิการ มาอยู่ในความปกครองของกระทรวงยุติธรรม"  []

 

 

ครูและนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยที่ตำบลบางขวาง ครั้งยังสังกัดกระทรวงยุติธรรม

 

 

          เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยไปให้อยู่ในความปกครองของกระทรวงยุติธรรมแล้ว กระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็ได้ตัดจ่ายงบประมาณปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ไปให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเงินอุดหนุนโรงเรียนราชวิทยาลัย มาตั้งแต่ครั้งที่โรงเรียนราชวิทยาลัยยังตั้งอยู่ที่สายสวลี-สัณฐาคาร (โรงเลี้ยงเด็ก) ถนนบำรุงเมือง

 

          ต่อมาในสมัยที่ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลบ สุทัศน์) ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้ว ได้พิจารณาเห็นว่า กระทรวงยุติธรรมไม่มีหน้าที่จัดการศึกษา แต่โรงเรียนราชวิทยาลัยมาสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่เหมาะสม จึงได้นำความราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานถวายโรงเรียนราชวิทยาลัยมาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ มีสภากรรมการกลางมหาดเล็กเป็นสภากรรมการจัดการปกครองโรงเรียนตามพระบรมราโชบาย

 

          เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในชั้นต้นมีพระราชกระแสว่า "ขอคิดดูก่อน" แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือโรงเรียนราชวิทยาลัยแต่งกายอย่างลูกเสือหลวง (โรงเรียนมหาดเล็กหลวง) เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ลูกเสือราชวิทยาลัยเปลี่ยนมาเป็นนักเรียนเสือป่าหลวงเช่นเดียวกับนักเรียนเสือป่าหลวงมหาดเล็กหลวง และนักเรียนทหารกระบี่หลวง (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็นนักเรียนเสือป่าพรานหลวง) ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนราชวิทยาลัยเปลี่ยนมาแต่งกายอย่างนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นสีดำเครื่องทองตามเครื่องแต่งกายของข้าราชการกระทรวงยุติธรรม คือหมวกสีดำผ้าพันสีขาว ตราหน้าหมวกโลหะสีทอง แผ่นคอสีขาวทาบแถบทอง ดุมทอง และกางเกงสีดำแถบทอง

 

          ภายหลังจากที่มีพระราชดำริที่จะให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) กรรมการสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) เดินทางขึ้นไปหาสถานที่เพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เมื่อเดือนมิภุนายน ฑ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ต่อมาวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ขาดจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นส่วนราชการสังกัดกรมมหาดเล็กเช่นเดียวกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          "โรงเรียนราชวิทยาลัย, ขณะเมื่อย้ายมาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท, เพราะโรงเรียนนี้มีข้าราชการต่างประเทศหลายนาย, แลประกอบด้วยสถานที่กว้างขวางมีโรงทำไฟฟ้ามีเครื่องจักร์สำหรับสูบน้ำที่ต้องจ่ายค่าใช้สรอยเพิ่มขึ้น จึงได้รับเงินอุดหนุนเปนจำนวนมาก ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ขอให้กรมบัญชาการกลางมหาดเล็กโอนเงินอุดหนุนของโรงเรียนนี้เสีย ๓๐,๐๐๐ บาท ไปจ่ายให้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนนี้จึงได้รับเงินอุดหนุนแต่เพียงปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท แต่เวลานั้นมาจนกาลบัดนี้ ในระหว่างที่โรงเรียนต้องลดเงินอุดหนุนลงจากจำนวนเดิมเช่นนี้ ปรากฏว่าการใช้จ่ายของโรงเรียนได้บกพร่องลงถึงกับมีณี่สินเกิดขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่โรงเรียน ๑๕,๖๒๕ บาท ๙๙ สตางค์ เพื่อใช้ณี่แลพระราชทานอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีกปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท, นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๓ เปนต้นมา, โรงเรียนจึงได้ดำเนินกิจการเปนที่เรียบร้อยปราศจากอุปสัคทั้งปวง."  []

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นแก่สภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนราชวิทยาลัยเปลี่ยนมาใช้เครื่องแบบสีขาวน้ำเงินเครื่องหมายเงินเช่นเดียวกับนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ติดอักษรหมายนามโรงเรียนที่แผ่นคอต่างกันคือ

          มหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ ติดอักษร ม

          ราชวิทยาลัย ติดอักษร ร

          มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ติดอักษร ช

 

 

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ)

ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

ฉายภาพร่วมกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

 

 

          ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนัก และได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เสียตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ยุบเลิกไปแล้ว กระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็ถือโอกาสตัดเงินรัฐบาลอุดหนุนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาทไปเสียด้วยเลย.

 

 
 
 

 

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗, หน้า ๖๖.

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗, หน้า ๑๔ - ๑๕.

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗, หน้า ๖๖ - ๖๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |