โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๕. เงินพระบรมราชโองการ (๒)

 

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนักต่อจากที่เริ่มมาแล้วในรัชกาลก่อนหน้าลงอีก ประกอบกับในรัชกาลนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับลดเงินที่รัฐบาลเคยจัดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายรัชกาลปีละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเคยจัดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อแรกเสด็จสิริราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓

 

          ด้วยเหตุที่มีการปรับลดเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายลงดังกล่าว และเพื่อให้การเงินเข้าสูดุลยภาพ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับลดส่วนราชการกรมมหาดเล็กจากเดิมที่มีฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง ลงเป็นเพียงกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงวัง ทำให้ส่วนราชการในสังกัดกรมมหาดเล็กเดิมต้องถูกยุบเลิกไปในคราวนั้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ถูกยุบเลิกไปในคราวเดียวกันนั้น ทำให้โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ยังเหลืออยู่ ๓ โรง คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวงพลอยถูกยุบเลิกไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย

 

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

 

 

          แต่เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาขึ้นแทนการสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลตามพระราชประเพณี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นผู้ที่สนองพระราชกระแสในการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาแต่เริ่มแรก จึงได้ถวายฎีกาคัดค้านว่า หากจะโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ก็จะเป็นการยุบพระอารามหลวงประจำรัชกาลลง ซึ่งเป็นการขัดต่อพระราชประเพณีที่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงบำเพ็ญต่อเนื่องกันมาทุกรัชกาล

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทราบความในฎีกาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ระงับการยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เนื่องจากในรัชสมัยพระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

 

          "ทรงพระราชศรัทธาที่จะบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญรุ่งเรืองเท่าทันกับประเทศอื่นฅ จึงทรงสละพระราชทรัพย์เปนจำนวนมากในการใช้จ่ายของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เปนการประจำแลการจรต่างๆ...

 

          โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เปนเงินเดือนอาจารย์, ครู, แลค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น, ตลอดจนการก่อสร้างในบริเวณโรงเรียนด้วย."  []

 

          แต่เพราะการปรับลดเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายลงเหลือเพียงปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้ไม่ทรงมีเงินเหลือพอที่จะพระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดังเช่นในรัชกาลก่อน แต่ถึงแม้ว่าจะมีพระราชดำริให้ยุบเลิกโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมกับการจัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก แต่ยังมีเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดถวายโรงเรียนราชวิทยาลัยปีละ ๙๐,๐๐๐ บาทมาตลอดทุกปีนั้นเป็นเงินที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีข้อผูกพันที่จะต้องจัดถวายนั้นมิได้ถูกตัดทอนไปด้วย ฉะนั้นเพื่อให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงสามารถเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วพระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนเงินรัฐบาลอุดหนุนจำนวน ๙๐,๐๐๐ บาทนั้นมาเป็นเงินอุดหนุนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแทน

 

          ต่อมาในการประชุมสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปก-เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับทรงเป็นประธานในที่ประชุม ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ มีบันทึกในรายงานการประชุมตอนหนึ่งว่า

 

"พระราชดำรัส  []

...ชั้นต้นขอเล่าพงศาวดารสาเหตุที่จะตั้งโรงเรียนวชิราวุธนั้น ก็คือโรงเรียนที่ตั้งอย่างเดิมเปลืองเงิน จ่ายเงินพระคลังข้างที่ตั้งแสนกว่า เปลืองเงินมากเหลือเกิน พระคลังข้างที่ไม่สามารถจ่ายเงินนั้นได้ จำเป็นต้องแก้ไขให้ใช้เงินพระคลังข้างที่น้อยลง แต่แรกก็เห็นว่าโรงเรียนนี้ ควรให้กระทรวงธรรมการจัดการต่อไป จะไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นต้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้วางสกีมเอาโรงเรียนราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงรวมกัน เอาเงินรัฐบาลอุดหนุนมาเจือจาน รายได้ของโรงเรียนไม่มีพอจ่าย ระหว่างนี้ได้รับหนังสือของพระราชธรรม  [] ฉบับหนึ่ง ร้องขอให้ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยอย่างเดิม เพราะเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยที่คิดว่าจะเลิกโรงเรียนนี้เสียก็น่าเสียดาย เพราะเป็นโรงเรียนที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตั้ง ดูไม่เป็นที่น่าจะเลิก ครั้นไม่เลิกก็ไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้จะเอาเงินมาจากไหน ต่อมาฉันได้รับหนังสือเจ้าพระยาราม  [] ฉบับหนึ่ง ส่งความเห็นพระยาบรมบาท [] ขอให้จัดโรงเรียนนี้เป็น Public School มีกรรมการอย่างเดิม ตามพระราชประสงค์ของพระมงกุฎเกล้าฯ ฉันจึงได้ เรียกพระยาบรมบาทมาถามว่าจะจัดเป็น Public School ได้อย่างไร ได้พูดจากันอยู่นาน พระยาบรมบาทเห็นด้วย และรับจะจัดอย่างที่ฉันว่าเหมือนกัน อย่างนั้น...

 

ฯ ล ฯ

 

 

พระยาราชนกูล วิบุลยภักดี (รื่น ศยามานนท์)

เมื่อครั้งยังเป็นพระยาไพศาลศิลปสาตร์

 

 

พระยาไพศาล []

ตามสกีมที่กระทรวงธรรมการกะไว้ ต้องการเงินเพิ่มสามหมื่นบาท สำหรับจัดโรงเรียนราชวิทยาลัย โดยยกโรงเรียนบ้านสมเด็จไปรวม

   
พระราชดำรัส จะแบ่งให้จัดเดี๋ยวนี้จะได้ไหม
   
พระยาไพศาล ถ้าจะแบ่งจะต้องเลิกครูฝรั่งที่โรงเรียนนี้เสียบ้าง
   
พระราชดำรัส ฉันจะเพิ่มเงินพระคลังข้างที่ให้บ้างก็ได้
   
หม่อมเจ้าบวรเดช  [] ครูฝรั่งที่นี่ไม่มากเกินไปหรือ
   
พระยาไพศาล มาก แต่ก็แล้วแต่วิธีสอน เดี๋ยวนี้ใช้ครูฝรั่งสอนวิชาเป็นภาษาฝรั่ง
   
พระราชดำรัส

ถ้าสามารถจะจัดโรงเรียนราชวิทยาลัยโดยแบ่งเงินไปจากที่นี่บ้าง ถ้าขาดเหลือทางนี้ฉันจะให้ จะสามารถจัดหรือไม่ ถ้านักเรียนเก่าเข้าที่นี่ไม่ได้ก็เข้าราชวิทยาลัย

   
พระยาไพศาล คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เดี๋ยวนี้นักเรียนเก่าคงไปเข้าโรงเรียนอื่นหมดแล้ว มีไปเข้าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนบ้านสมเด็จ  []
   
พระราชดำรัส

เดี๋ยวนี้มีคนบ่นมากที่เลิกโรงเรียนราชวิทยาลัย ถ้าตั้งขึ้นใหม่ก็จะดี แต่คลังไม่ยอมให้เงิน ลองคิดดูว่าในเก้าหมื่นบาทจะแบ่งคืนให้บ้างได้เท่าใด

 

ฯ ล ฯ

   
พระราชดำรัส ...ฉันจะยอมเพิ่มเงินให้โรงเรียนนี้อีก ถ้าตกลงตามความเห็นของฉัน
   
พระยาไพศาล

เรื่องการแยกเงินไปตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย จะได้รับพระราช-ทานไว้พิจารณาจัดการ

   
พระราชดำรัส

ถ้าตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ ตัดเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท คืนให้เขาบ้างได้จะดี

   
หม่อมเจ้าบวรเดช

ตามที่คิดเงินค่าเล่าเรียนเดี๋ยวนี้ ถึงนักเรียนจะมีมากขึ้น เงินก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

 

ฯ ล ฯ

   
พระราชดำรัส เดี๋ยวนี้เงินพระคลังข้างที่ให้ ๑๐,๐๐๐ บาท หรือ
   
พระยาบรินูรณ์  [] ให้ ๑๐,๐๐๐ บาท
   
พระราชดำรัส ฉันจะให้ได้อีก ๑๐,๐๐๐ บาท
   
พระยาไพศาล เช่นนั้นควรตัดได้ ๒๘,๐๐๐ บาท คือถ้าเลิกครูฝรั่งเสียอีกคนหนึ่ง
   
พระราชดำรัส องคิดดูว่าขาดเท่าไร ฉันจะให้ได้ทางพระคลังข้างที่ บางทีจะ ให้เงินสำหรับปีนี้ยาก ปีหน้าง่าย เมื่อตั้งแล้วจะมีนักเรียนเก่ากลับเข้ามาไหม โรงเรียนราชวิทยาลัยที่จะตั้งขึ้น ตั้งอย่างโรงเรียนบางขวางเดิม ถ้าจะตั้ง ตั้งศกใหม่
   
หม่อมเจ้าบวรเดช ควรจะตั้งปลายปี
   
พระยาไพศาล ปลายปีตั้งได้ เทอมใหม่
   
หม่อมเจ้าบวรเดช การสอบไล่ของกระทรวงธรรมการราวเดือนธันวาคม เพราะฉะนั้นการตั้งต้นของโรงเรียนอย่างของเราควรตั้งต้นราวนั้น"

 

 

          แต่ภายหลังจากการประชุมสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยคราวนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทานใช้อาคารโรงเรียนราชวิทยาลัยที่ตำบลบางขวางเป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี แนวคิดที่จะตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นมาใหม่จึงเป็นอันระงับไป และวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้รับเงินรัฐบาลอุดหนุนปีละ ๙๐,๐๐๐ บาทตลอดมา จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง.

 

 
 
 

 

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗, หน้า ๖๖.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) อดีตผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย

[ ]  เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

[ ]  พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และเป็นอดีตผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

[ ]  พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ต่อมาย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชนกูล วิบุลยภักดี

[ ]  หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

[ ]  โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงเรียนของกระทรวงธรรมการที่มีทั้งนักเรียนไปกลับและนักเรียนอยู่ประจำ มัการจำลองรูปแบบการจัดการปกครองนักเรียนคล้ายวชิราวุธวิทยาลัย ต่อมากระทรวงศึกษาธิการแปรสภาพโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเป็นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปัจุบันเป็นมหาวืยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[ ]  พระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ (ม.ร.ว.มูล ดารากร) อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |