โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๗. ประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง

 

          นับแต่ประเทศสยามเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จากนั้นชาวต่างชาติก็เริ่มทยอยเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าในกรุงสยาม พร้อมกันนั้นก็มีการนำรถม้าซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของชาวตะวันตกเข้ามาใช้ในกรุงสยาม

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ประทับรถม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงวางศิลารากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัดถนนและสร้างสะพานในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อรถม้าจากยุโรปมาใช้ในราชการในพระราชสำนัก จากนั้นมารถม้าก็ได้เป็นพระราชพาหนะสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งภายในพระนครและหัวเมืองบางเมือง เช่น นครเชียงใหม่

 

          นอกจากรถม้าจะได้เข้ามามีบทบาทเป็นพระราชพาหนะสำคัญประจำราชสำนักสยามแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้มีการนำวัฒนธรรมการแสดงความจงรักภักดีด้วยการฉุดชักลากรถม้าด้วยแรงคนตามแบบตะวันตกเข้ามาในกรุงสยาม ดังมีบันทึกใน "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘" ว่า

 

          "เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาที ทรงเครื่องเสือป่ากรมม้าหลวง ทรงรถม้าพระที่นั่งเทียม ๔ เสด็จสโมสรราชกรีฑาประทุมวัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำรงค์ตำแหน่งเปนนายกพิเศษมาหลายปีแล้ว เข้าทางโรงเรียนสารวัด นาย เย.โคล ฟิลด์ เยมส์ นายกกรรมการราชกรีฑาสโมสรแลกรรมการคอยเฝ้าอยู่พร้อมกันแล้ว ประทับพลับพลายกซึ่งจัดขึ้นเปนพิเศษ ทำเปนเพิงน่าโขนเล็กๆ ตั้งพระเก้าอี้ทางน่าตะวันออกทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอลรหว่างชาติ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายเข้าแถวรับเสด็จที่น่าพลับพลาแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งลงมือเล่น...พอหมดเวลา รวมฝ่ายสยามได้ ๒, ฝ่ายยุโรปได้ ๑ จึงเปนอันว่าฝ่ายสยามชนะได้เห็นแถวเฝ้าอีกครั้ง ๑ คนดูต่างโยนหมวกตบมือโห่ร้องไชโยวิ่งตรงไปน่าพลับพลา โปรดพระราชทานถ้วยทองของราชกรีฑาแก่คณะฟุตบอลสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพรรับพระราชทานต่อพระหัดถ์ แลพระราชทานเหรียญที่ระฤกเปนรางวัลแก่ฝ่ายชนะเรียงตัว คนดูซึ่งห้อมล้อมอยู่โห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พระราชทาน ครั้นเสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง สมาชิกราชกรีฑาสโมสรปลดม้า แล้วพร้อมกันเข้าห้อมล้อมลากเข็นรถพระที่นั่ง ซึ่งกรรมการอัญเชิญเสด็จไปที่สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่"  []

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิรกฤทธิ์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเสด็จกลับจากไปทรงรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์เดมเลอร์จากยุโรปเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงใช้เป็นพระราชพาหนะ แล้วในตอนปลายรัชกาลก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแก็ซโซลีนเข้ามาใช้ราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่นับจำนวนได้หลายสิบคัน

 

          จากนั้นมารถยนต์ก็ได้เริ่มมีบทบาทเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินสถานที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนรถม้าพระที่นั่งนั้นคงใช้เป็นพระราชพาหนะในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินประจำปี ฯลฯ

 

          ล่วงมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังริมคลองเปรมประชากร และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเปิดการเรียนการสอนที่สวนกระจังเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) แล้ว พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จประพาสตามท้องถนนในพระนครในทุกเย็นวันเสาร์ และมักจะเสด็จมาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และเวลานั้นท่านผู้บังคับการยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นประจำ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไฟฟ้าเด็จประพาสตามท้องถนนในพระนครเป็นการส่วนพระองค์

โดยมี "ย่าเหล" สุนัขทรงเลี้ยงโดยเสด็จมาในรถยนต์พระที่นั่ง

 

 

          นอกจากการเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปในงานวิสาขบูชาและงานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเป็นลำดับตลอดรัชกาล

 

          อนึ่ง เนื่องจากพระราชพาหนะที่ทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นเป็นรถยนต์ ดังนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในงานประจำปีของโรงเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ตอนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับในดึกคืนวันนั้น นักเรียนจึงได้พร้อมกันห้อมล้อมเข็นรถยนต์พระที่นั่งไปจนสุดเขตโรงเรียนแทนการปลดม้าแล้วฉุดชักลากเช่นเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง

 

          การที่นักเรียนพร้อมกันเข้าห้อมล้อมเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จในคืนวันนั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าให้ฟังว่า ในเวลานั้นท่านผู้เล่ายังเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จในวันนั้น ท่านเล่าว่า วันรุ่งขึ้นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ - พระยาบริหารราชมานพ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในเวลานั้น

 

 

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกในรัชกาล

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

 

          ได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ ให้การเข็นรถยนต์พระที่นั่งของนักเรียนคงเป็นประเพณีของโรงเรียนสืบไป ด้วยมีพระราชดำริว่า นักเรียนกระทำไปด้วยความจงรักภักดี เหตุนี้วชิราวุธวิทยาลับจึงคงรักษาประเพณีการเข็นรถยนต์พระที่นั่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่จะจบการศึกษา เข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกในรัชกาล

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

 

          อนึ่ง มีคำบอกเล่าของนิสิตเก่าอาวุโสแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งแรกๆ นั้น ถึงเวลาประทับนถยนต์พระที่นั่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งกรูกันเข้าเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จ และมีการเข็นรถยนต์พระที่นั่งอยู่สัก ๒ ปีจึงเลิกไป

 

          จากคำบอกเล่าดังกล่าว เมื่อไปสอบถามนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้ไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้น ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว มักจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีร่วมกับนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จนถึงกับทรงรับเป็นผู้ฝึกสอนนักเรียนที่จะเข้าร่วมการประกวดวงดนตรีด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยหาที่สุดมิได้

 

          ต่อมานักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกวงหัสดนตรีที่ทรงฝึกสอนมานั้นได้ไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ไปรวมกันเล่นดนตรีกับนิสิตที่มาจากโรงเรียนอื่นๆ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อประทับรถยนต์พระที่นั่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่เคยเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จมาก่อน ได้ชักชวนนักดนตรีอื่นที่ร่วมในการทรงดนตรีในวันนั้น เข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จจนถึงประตูหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนบรรดานักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยนั้นสำเร็จการศึกษาไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการเข็นรถยนต์พระที่นั่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเลิกไป แต่การทรงดนตรีคงดำเนินต่อมาจนงดไปภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

 

 
 
 

 
[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |