โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๘. ครุยวชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ทรงฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมถกวชิราวุธวิทยาลัยเป็นปฐม

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

 

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ วชิราวุธวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวโรกาสแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเหยียบวชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาลตามพระราชประเพณี จดหมายเหตุวชิราวุธตอนนี้จึงขอนำเสนอเรื่องเสื้อครุยวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

 

          เสื้อครุยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใก้สร้างขึ้นนั้นแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

               ๑) ฉลองพระองค์อาจารย์ หรือครุยพระบรมบรมราชูปถัมภก

               ๒) เสื้ออาจารย์ หรือครุยอาจารย์

               ๓) เสื้อครู หรือครุยครู

 

          ฉลองพระองค์อาจารย์หรือครุยพระบรมราชูปถัมภกนั้น รองหัวหมื่น พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) [] อาจารย์ใหญ่ [] โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้แทนคณะโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชิญฉลองพระองค์อาจารย์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นปฐม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเหยียบโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานประจำปีของโรงเรียนครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งมีความปรากฏใน “ข่าวในพระราชสำนัก” ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาว่า

 

          “เวลาบ่ายวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรโดยรถยนต์พระที่นั่งยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในการพระราชทานรางวัลนักเรียนแลการกรีฑาระหว่างนักเรียนมหาดเล็กหลวง แลนักเรียนราชวิทยาลัย

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรถึงโรงเรียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาที่สนามของโรงเรียน ทอดพระเนตร์การกรีฑา

 

          เมื่อเสร็จการกรีฑาแล้ว พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นำนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแลนักเรียนราชวิทยาลัยมาตั้งแถวน่าพลับพลาที่ประทับ พระอภิรีกษ์ราชฤทธิ์อาจารย์ใหญ่อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณา ในนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์อาจารย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับฉลองพระองค์อาจารย์แล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้ออาจารย์แลเสื้อครูแก่กรรมการ แลครูที่เกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วจึงมีพระราชดำรัสตอบแสดงความพอพระราชหฤทัยในการที่ทรงรับฉลองพระองค์อาจารย์ แลที่ได้ทอดพระเนตร์เห็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงแลนักเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งทรงรับว่าเปนนักเรียนในโรงเรียนของพระองค์มาประชุมกัน เพื่อความคุ้นเคยสามัคคีเช่นนี้ แล้วได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่อาจารย์แลนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แลโรงเรียนราชวิทยาลัยตามสมควรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนผู้ที่สอบไล่วิชาได้ แลพระราชทานรางวัลแก่ผู้ที่ชะนะในการกรีฑา เสร็จแล้วเสด็จประทับบนโรงเรียน

 

          เวลา ๓ ทุ่ม เสด็จประทับเสวยพระกระยาหาร ผู้ที่ได้รับพระราชทานเลี้ยงที่โต๊ะเสวย คือ

               พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ  [] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               เจ้าพระยาอภัยราชา [] เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

               เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้ตรวจการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  [] เสนาบดีกระทรวงวัง

               พระยาวรพงษ์พิพัฒน์  [] อธิบดีกรมตรวจมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  [] แทนอธิบดีกรมมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระยาประสิทธิ์ศุภการ  [] รองอธิบดีกรมมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระยาไพศาลศิลปสาตร์   [๑๐] ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระยาบุรีนวราษฐ์  [๑๑] ราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระโอวาทวรกิจ  [๑๒] ผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการ เดิมเปนอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

               นาย เอ ไตรส์ มาติน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชวิทยาลัย

               นาย ซี เวล อาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          เมื่อเสร็จแล้วประทับ ณ โรงละคร ทอดพระเนตร์นักเรียนเล่นลครพูด พอได้เวลาสมควรแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ”   [๑๓]

 

          พระราชดำรัสตอบที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในวันนั้น มีความตอนหนึ่งว่า

 

 

          “เราขอบใจพระอภิรักษ และท่านทั้งหลายที่พร้อมใจให้เสื้อครุยอาจารย์แก่เราในวันนี้ การศึกษาเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นชื่อว่าอุดหนุนชาติบ้านเมืองด้วย เราตั้งใจที่จะบำรุงการศึกษาของบ้านเมืองเราอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งใดที่เราได้ทำมาแล้วในทางนี้ ได้มาเป็นผลปรากฏแก่ตาท่านทั้งหลาย จึงเป็นที่พอใจของเรายิ่งนัก แต่เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะทำการให้สำเร็จแต่ลำพังไม่ได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือของท่านทั้งหลายให้พร้อมมือกันดำเนินการตามทางที่ควร ให้เหมาะแก่ความต้องการของบ้านเมือง เราจึงบรรลุผลสำเร็จได้ตามความปรารถนา

 

          ประเทศทั้งหลายย่อมเจริญได้ด้วยการศึกษา ประเทศใดปราศจากการศึกษา ประเทศนั้นต้องเป็นป่าเถื่อน ประเทศต่างๆ ย่อมมีศิลปวิชาการต่างๆ กัน เราก็มีศิลปวิชาการของเรา เราจำจะต้องช่วยกันทะนุบำรุงให้เจริญขึ้น สิ่งใดที่เป็นที่นิยมในสมัยนี้ และจะเป็นคุณประโยชน์แก่เรา เราต้องรับเอาและปรุงแต่งของเราขึ้น ให้ได้ประโยชน์เต็มตามที่ควรจะได้ เราจำต้องก้าวไปข้างหน้าเสมอ ยิ่งก้าวไปได้ไกลเพียงใดก็ยิ่งดี เราต้องไม่ถอยหลังเลยเป็นอันขาด แม้แต่หยุดอยู่ที่ก็ไม่ได้ เพราะการหยุดก็เสมอด้วยการถอยหลัง ใครๆ เขาก้าวเลยไปแล้วเราหยุดอยู่ เราก็ต้องล้าหลังเขาไกลออกไปทุกทีนั่นเองที่เท่ากับถอยหลังไม่ใช่อื่น

 

          ท่านทั้งหลาย ที่ได้รับเสื้ออาจารย์ เสื้อครู ไปแล้วในวันนี้ และทั้งที่ยังไม่ได้รับ ขอจงตั้งใจทำคุณประโยชน์ให้แก่การศึกษาสำหรับชาติบ้านเมืองเรา ให้สมแก่ที่ได้รับความยกย่อง และสมแก่ที่เป็นผู้มีวุฒิความสามารถ เสื้อครุยอาจารย์และครูนี้ ไม่ใช่สำหรับจะมีไว้แต่งเล่นเก๋ๆ มีไว้สำหรับเป็นเครื่องแสดงวุฒิและความสามารถในทางสั่งสอน ทำคุณประโยชน์ให้แก่การศึกษา ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจทำประโยชน์เช่นนั้นให้สมแก่ที่ได้รับความยกย่องเถิด”   [๑๔]

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ กับโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้ออาจารย์และเสื้อครูแก่อาจารย์และครูโรงเรียน เช่นเดียวกับที่ได้พระราชทานแก่ กรรมการ อาจารย์และครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นลำดับตลอดมาจนสิ้นรัชกาล

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเหยียบวชิราวุธวิทยาลัยครั้งแรก

พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำพพรรณี พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

 

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเหยียบวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพันจทบุรีนฤนาถ กรรมการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและกรรมการกิตติศักดิ์วชิราวุธวิทยาลัย ก็ได้เป็นผู้แทนวชิราวุธวิทยาลัยเชิฯฉลองพระองค์อาจารย์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประเพณี

 

          อนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ มีพระราชดำริว่า เสื้ออาจารย์และเสื้อครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างและพระราชทานมาเป็นลำดับนั้น เป็นครุยตำแหน่งสำหรับผู้เป็นกรรมการ อาจารย์และครูโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีพระราชดำริให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งกรรมการกิตติมศักดิ์ กรรมการจัดการ อาจารย์และครูวชิราวุธวิทยาลัยได้รับพระราชทานและใช้เสื้ออาจารย์และเสื้อครูตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งในวชิราวุธวิทยาลัย

 

 
 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ

[ ]  ตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่ นี้ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนไปเรียกว่า ผู้บังคับการ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.เปีย มาลากุล

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์

[ ]  นามเดิม นพ ไกรฤกษ์

[ ]  นามเดิม ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ๑๐ ]  นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ๑๑ ]  นามเดิม ชวน สิงหเสนี

[ ๑๒ ]  นามเดิม แก่น โอวาทสาร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโอวาทวรกิจ

[ ๑๓ ]  “ข่าวในพระราชสำนัก”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๔ มกราคม ๒๔๕๖), หน้า ๒๒๖๕ - ๒๒๖๗.

[ ๑๔ ]  วชิราวุธวิทยาลัย. พระบรมราโชวาทกับวชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๘๙ - ๙๐.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |