โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๖)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

 

 

          ดังนั้นเมื่อทรง “ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่” ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า

 

 

          “...เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียทีเถิด, และทรงอ้างว่าทูลกระหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย. ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลกระหม่อมองค์ ๑... แต่ฉันก็ยืนยันอยู่เช่นที่ได้เคยยืนยันมาแล้วตั้งแต่กลับจากยุโรป ว่าไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียเปนอันขาด...

 

          ...ในข้อนี้ฉันต้องเถียงกับใครๆ มากมายจนเหลือที่จะจดจำ, บางคนขู่ว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะนับว่าเปนอันผิดราชประเพณี, แต่ในข้อนี้ฉันชี้แจงว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงได้น้องเปนพระชายาก็เคยมีมา ๒ พระองค์เท่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงได้เจ้าฟ้ากุณฑลเปนพระมเหสีองค์หนึ่ง กับทูลกระหม่อมของฉันอีกพระองค์ ๑.

 

          เมื่อฉันไม่ยอมเลือกน้องสาวเปนเมียแล้ว เสด็จแม่จึ่งทรงยอมว่าถ้าเช่นนั้นก็ให้เลือกหม่อมเจ้าหญิงคนใดคน ๑. ฝ่ายฉันเห็นว่าจะอิดเอื้อนหรือผัดผ่อนต่อไปก็ไม่งดงาม, จึ่งทูลว่าถ้าเช่นนั้นขอเลือกลูกสาวเสด็จลุง  [] คน ๑ ...”  []

 

 

เมื่อการที่ต้องทรง “ถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่” ตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีต้องเลิกล้มไป เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และได้ทรงรับสิริราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ และได้ทรงตั้งพระบรมราชปณิธานไว้แต่แรกว่า ในรัชสมัยของพระองค์นั้นจะต้องทรงนำสยามประเทศก้าวขึ้นสู่การยอมรับของนานาอารยประเทศ รวมทั้งสามารถนำอิสรภาพทางการศาลและยกเลิกข้อกำหนดเรื่องภาษีร้อยชักสามให้สำเร็จลงในรัชกาลของพระองค์ จึงทรงทุ่มเทเวลาให้แก่พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ จนมิได้ทรงคิดที่จะมีพระมเหสีเทวีอีกเลยตราบจนประเทศสยามเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในฐานะชาติผู้ชนะสงคราม ซึ่งนับว่าได้ทรงนำสยามประเทศบรรลุสู่จุดหมายที่ทรงมุ่งหวังไว้แล้ว แต่ถัดจากนั้นอีกเพียงไม่กี่เดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งทรงพระประชวรเรื้อรังมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็มาด่วนเสด็จสู่สวรรคาลัยไปเสียเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ทำให้ต้องมีการไว้ทุกข์ในพระราชสำนักต่อมาอีกหลายเดือน

 

          เสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดภาพ ครั้งที่ ๒ ที่ศาลาวรนาฏเวทีสถาน พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า “อยากจะให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมการประกวดภาพแบบนี้บ้าง จึงได้ทรงกำหนดให้มีการประกวดภาพครั้งที่ ๓ ที่พระราชวังพญาไท ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เปลี่ยนโฉมหน้าของพระราชสำนักไปในทางสวยสดงดงาม”   []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี วรวรรณ พร้อมด้วยหม่อมเจ้าในราชสุกวรวรรณ

ขณะทรงแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน และคุณหญิงสมุทโยธิน

ในละครพระราชนิพนธ์เรื่อง โพงพาง

สุนัขทรงเลี้ยงในภาพชื่อ นันทา และ มากาเร็ต

 

 

          ในการประกวดภาพที่พระราชวังพญาไทนั้นเอง “หม่อมเจ้าหญิงพี่น้องท่านดุลภากร  [] ก็มาชมหลายครั้ง และพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทักทายด้วย”  [] ต่อมาในตอนค่ำวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ “พอสมเด็จพะเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ คือ ทูลกระหม่อมติ๋ว  [] และทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  [] ได้เสด็จกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนากับหม่อมเจ้าวรรณวิมล เริ่มต้นด้วยพระราชทานเสมาฝังเพชรแก่ท่านหญิงวรรณพิมล และท่านหญิงพิมลวรรณ”  [] ครั้นถึงเวลาเสวยเครื่องว่าง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลไปประทับทางขวาของพระองค์ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ประทับทางซ้าย มีท่านหญิงท่านชายในราชสกุลวรวรรณ ได้นั่งโต๊ะเสวยในวันนี้อีก ๖ ท่าน นอกจากนั้นก็มีท่านเจ้าคุณต่างๆ ในพระราชสำนัก”  [] และในโอกาสเดียวกันนั้นยังได้ทรงชวนหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ทรงร่วมแสดงละครเป็นคุณหญิงสมุทโยธิน ในละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “โพงพาง” ซึ่งทรงร่วมแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน นับเป็นครั้งแรกที่การแสดงละครพูดในพระราชสำนักเริ่มเปลี่ยนเป็นการจัดแสดงในรูปแบบชายจริงหญิงแท้

 

          ต่อจากนั้นมาก็ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล หรือที่ได้พระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์จนทรงตกลง พระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมองคมนตรีสภา ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วได้มีพระราชดำรัสในที่ประชุมนั้นว่า

 

 

“ดูกร องคมนตรีทั้งหลาย

 

          ข้าพเจ้าได้เรียกท่านทั้งหลายมาประชุมครั้งนี้ เพื่อที่จะแจ้งให้ทราบความที่ข้าพเจ้าได้คิดตกลงใจแล้วอันหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับความเจริญของอาณาประชาชน และเกี่ยวกับสรรพสุขสิริสวัสด์ในส่วนข้าพเจ้าสืบไปในภายน่า

 

          ด้วยข้าพเจ้ามีประสงค์ต่อไป ว่าจะให้ทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสด้วยกับหม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์  [๑๐] ข้าพเจ้าได้ทราบอยู่ในใจอัน ฦกซื้งแล้ว ว่าการที่ข้าพเจ้าได้ตกลงใจเช่นนี้ ก็เปนไปโดยได้พิจารณามามากแล้ว และโดยที่ข้าพเจ้าไว้วางใจว่า ด้วยเดชานุภาพความเลื่อมใสในคุณแห่งพระรัตนไตรย การที่ข้าพเจ้าได้เปนไปในครั้งนี้ จะกระทำให้เกิดมีความสุขสำราญในครอบครัวของข้าพเจ้ามั่นคงขันที และทั้งจะมีคุณมีประโยชน์แก่บ้านเมืองด้วย

 

          อีกประการหนึ่ง เมื่อหม่อมเจ้าวัลภาเทวี เปนคู่มั่นของข้าพเจ้าตามเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรให้เปนพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ตั้งแต่นี้สืบไปจนถึงเวลาที่จะได้ทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในภายน่า ข้าพเจ้าเห็นสมควรว่าจะแจ้งความแก่ท่านทั้งหลายเสียแต่เริ่มแรก เพื่อให้ทราบความทั้งนี้ ที่เปนการสำคัญที่สุดทั้งในส่วนตัวกับทั้งประเทศของเรา อันเปนการที่ข้าพเจ้าไว้วางใจได้แล้ว ว่าอาณาประชาชนทั้งปวงคงจะเห็นเปนการดีการชอบด้วยทั่วกัน ฯ”   [๑๑]

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

 

 

          ภายหลังจากที่ทรงประกาศเรื่องพระราชพิธีหมั้นในที่ประชุมองคมนตรีแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ไปเฝ้าสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี  [๑๒] ณ วังสระปทุม ในวโรกาสนี้สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า ได้พระราชทานดาราปฐมจุลจอมเกล้าประดับเพชร กับกล่องเครื่องราช อิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าประดับเพชร อันเป็นเครื่องต้นของสมเด็จพระนางเจ้า แด่พระวรกัญญาปทานด้วย

 

          อนึ่งในการที่ได้ทรงมีประกาศเรื่องการพระราชพิธีหมั้นในที่ประชุมองคมนตรีนั้น พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับโทรเลขถวายพระพรชัยหลายราย อาทิ พระราชโทรเลขพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กรุงอังกฤษ ซึ่งมีความดังต่อไปนี้

 

 

"ทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม กรุงเทพฯ
     
  ลอนดอน วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน
     

          ในมงคลสมัยแห่งพระราชพิธีมั่นของพระองค์ หม่อมฉันขอรีบถวายความยินดีและความหวังดีอย่างยิ่ง

     
    (พระนามาภิธัย) ยอร์ช ป.ร.”  [๑๓]

 

 

          อีกฉบับหนึ่งมาจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีความดังนี้

 

 

  “ปารีส วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน
     
          มีความยินดีที่สุดที่ได้ทราบข่าวพระราชพิธีมั่นของพระองค์ ข้าพระองค์ขอถวายพระพรชัยในเหตุการณ์มงคลนี้ ซึ่งจะได้เปนเครื่องค้ำจุนความเจริญ และอนาคตกาลแห่งพระราชวงศ์อันมีบารมียิ่ง ด้วยประชาชนชาวสยามควรจะรู้สึกพระเดชพระคุณแห่งพระราชวงศ์นี้ ในการที่เขาได้มีความสมบูรณ์งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ และในการที่เขาได้เข้าช่วยรบข้างฝ่ายสัมพันธมิตรจนได้ถึงแก่ชัยชนะ
     
    (ลงนาม) อา. มีลเลอะรังด์”  [๑๔]

 

 

          พระราชโทรเลขถวายพระพรอีกฉบับหนึ่งมาจากพระจักรพรรดิญี่ปุ่น มีความดังนี้

 

 

"ทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม
     

          หม่อมฉันได้ทราบข่าวด้วยความพอใจอย่างยิ่งที่สุดว่า ได้ทรงมั่น ขอพระองค์จงทรงรับพรอันออกจากน้ำใจจริงของหม่อมฉัน ให้ทรงพระเจริญและทรงผาสุกทั้งพระองค์และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

     
    (พระบรมนามาภิธัย) โยชิหิโต”  [๑๕]

 

 

          แต่เมื่อทรงประกาศการพระราชพิธีหมั้น “...ด้วยเหตุที่มีพระราชประสงค์ความเปนหลักฐานมั่นคงในทางสืบพระราชสันตติวงษ์ ดำรงพระราชวงศ์ให้เจริญเปนการดีแก่บ้านเมือง...”  [๑๖] สืบมาถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็มีเหตุให้

 

 

          “...ทรงทราบตระหนักแน่ชัดขึ้นว่า การจะไม่เปนไปได้โดยเรียบร้อยสมพระราชประสงค์อันดี... เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยและพระอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมิได้ต้องกัน ซึ่งอาจจะเปนเพราะพระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมีพระโรคประจำพระองค์อันเปนไปในทาง พระเส้นประสาทไม่ปรกติ ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้าแม้จะคงให้การดำเนินไปจนถึงกระทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ก็อาจจะมีผลอันไม่พึงปรารถนาในทางสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปได้

 

          เหตุนี้จึ่งมีความเสียพระราชหฤทัยเปนอย่างยิ่ง ที่จำเปนต้องทรงคำนึงถึงผลอันอาจจะมีมาเช่นนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกข้อความตามประกาศพระราชพิธีมั่น ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พระพุทธ ศักราช ๒๔๖๓ นั้นเสีย และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาคำนำ พระนามแทนคำ “พระวรกัญญาปทาน” นั้น เปลี่ยนเปน “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี” ตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไป

 

          ส่วนการอันเนื่องด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์นั้น ก็ยังหาได้งดพระราชดำริห์ในข้อนั้นไม่ และจะได้ประกาศพระราชประสงค์ในเรื่องนี้สืบไปในกาลภายน่า...”  [๑๗]

 

 

 


[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑, หน้า ๒๗ - ๒๙.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๖.

[ ]  หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ

[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา

[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

[ ๑๑ ]  “พระราชดำรัสในที่ประชุมองคมนตรี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๗ (๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๓), หน้า ๒๘๒ - ๒๘๓.

[ ๑๒ ]  ต่อมาทรงได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

[ ๑๓ ]  “เรื่องพระราชพิธีมั่น”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๗ (๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๓), หน้า ๒๗๗๙ - ๒๗๘๐.

[ ๑๔ ]  ที่เดียวกัน

[ ๑๕ ]  ที่เดียวกัน

[ ๑๖ ]  “ประกาศเลิกการพระราชพิธีมั่น”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๗ (๑๕ มีนาคม ๒๔๖๓), หน้า ๔๓๕.

[ ๑๗ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๕ - ๔๓๖.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |