โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๗)

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ

 

 

          ภายหลังจากทรงประกาศเลิกการพระราชพิธีหมั้นไปแล้วไม่นาน ต่อมาวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีคำนำพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และต่อมาวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ ซึ่งมีความตอนหนึ่ง ดังนี้

 

 

          “...ทรงพระราชดำริว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณเปนที่พอพระราชหฤทัย ดังมีความแจ้งอยู่ในประกาศพระบรมราชโองการ วันที่ ๔ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชวินิจฉัยแล้วว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเศกสมรส ณ เบื้องน่า จึงเป็นการสมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น

 

          จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอพระองค์นั้น มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ...”

 

 

          แต่ในการที่ทรงหมั้นกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณนั้น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ใน “พระราชวงศ์จักรี ตอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖” ว่า

 

 

          “ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับความศุขจริง ๆ ในครั้งนี้อยู่เป็นพักใหญ่ราว ๓ เดือน แต่แล้วก็ค่อยๆ กลายไปเป็นความไม่สำเร็จอีก จึงเกิดความท้อพระราชหฤทัยในเรื่องผู้หญิง ยังคงเหลือสิ่งที่มีพระราชปรารถนาอยู่อีกอย่างเดียวคือ พระราชโอรสซึ่งได้ทรงร่ำร้องอยากมีมาช้านานแล้ว ด้วยเหตุนี้แหละ จึงทรงมุ่งแต่เรื่อง Incubator ยิ่งกว่าตัวผู้หญิงจริงๆ และจะเป็นใครๆ ก็ไม่แปลกเสียแล้ว จึงสนุกในการแย่งชิงกันไปไม่มีเวลาจบดังนี้

 

          พระองค์วัลภาฯ เป็นคู่หมั้นอยู่ได้ ๕ เดือน พระองค์ลักษมีฯ รับต่อมาอีก ๖ เดือน ในระหว่าง ๖ เดือนนี้พระองค์ลักษมีฯ ทำทุกอย่างที่จะไม่ให้เหมือนกับพระองค์วัลภาฯ ผู้ผิดมาแล้ว กล่าวคือ ไม่หึงหวง, ไม่รู้มาก แต่ในไม่ช้าในหลวงก็ทรงเบื่อ , ทั้งนี้เพราะไม่มีเชื้อมาแล้วตั้งแต่แรก ที่ทรงรับไว้ก็เพราะจะเอาชนะพระองค์วัลภาฯ และต้องมีผู้หญิงเพื่อหาพระราชโอรส ผู้ชายบางคนอธิบายว่า ทรงเบื่อเพราะผู้หญิง Flirt มากเกินไป ! จะจริงเท็จอย่างไรรู้ไม่ได้... แต่พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “คนหนึ่งก็รู้เสียหมดจนจะเป็นแม่, อีกคนหนึ่งก็ไม่รู้อะไรเสียเลย จะพูดด้วยไม่ได้, เข็ดจนตายพวกนี้ !” พระยาอนิรุธฯ ก็เกิดสงสารในหลวง คิดถวายว่าทรงมีแต่เจ้าจอมก็แล้วกัน ถ้ามีลูกเมื่อไรจึงค่อยยกย่องขึ้น แล้วพระยาอนิรุธฯ ก็มองไปเจอะเอาแม่เปรื่อง สุจริตกุล ผู้เป็นนางพระกำนัลอยู่กับพระองค์ลักษมีต่อมา คิดจะเอาแม่เปรื่องนั้นถวาย เพราะนับทางสมเด็จพระอัยิกา (ยาย)  [] ของพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็เป็นพระญาติ์สนิท ด้วยปู่   [] ของแม่เปรื่องเป็นน้องชายแท้ๆ ของพระอัยิกา”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพร้อมด้วยพระสุจริตสุดา

ในวันราชาภิเษกสมรส วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

 

 

          ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) นำคุณเปรื่อง สุจริตกุล ธิดาคนโตถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาแล้ว ก็ทรงราชาภิเษกสมรสด้วยคุณเปรื่อง สุจริตกุล เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วทรงตั้งให้เป็น “พระสุจริตสุดา” ตำแหน่งพระสนมเอก นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสแทนการทรงอยู่ด้วยกันเฉยๆ ดังที่ทรงปฏิบัติต่อๆ กันมาทุกรัชกาล []

 

          แต่ภายหลังจากที่ทรงราชาภิเษกสมรสด้วยพระสุจริตสุดา เพียง ๒ เดือน เจ้าพระยารามราฆพ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

 

 

          “เจ้าคุณพระประยูรวงษ์  [] อยากจะถวายแม่ฉวี บุนนาค  [] (นักเรียนนอก) เป็นเจ้าจอม เพราะพวกบุนนาคเคยได้เป็นเจ้าจอมมาแล้วทุกรัชกาลจึงไม่อยากขาดความจงรักภักดีอันมีเกียรตินี้ พระสุจริตสุดากราบทูลว่า จะไปเอาคนอื่นเขามาทำไม น้องๆ ของพระสุจริตมีเท่าไรก็ขอถวายหมด ไม่รังเกียจเลย จะโปรดคนไหนก็ได้ทั้งนั้น แล้วพระสุจริตก็ใช้ให้แม่ประไพน้องสาวไปรับใช้บ่อยๆ ด้วยกลัวคนนอกจะเข้ามาปะปน ในไม่ช้าก็เป็นผล ในหลวงทรงขอแม่ประไพจากพี่สาวในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงฉายพร้อมด้วยสมเด็จพระเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

ที่ร้านหลวงในงานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๖๖

 

 

          ต่อมาวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงราชาภิเษกสมรสอีกครั้งกับคุณประไพ สุจริตกุล แล้วทรงตั้งให้เป็น “พระอินทราณี” ตำแหน่งพระสนมเอก แต่เนื่องจากในเวลานั้นยังทรงหมั้นอยู่กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ โดยที่ยังมิได้ทรงราชาภิเษกสมรสด้วย

 

 

          “ในตอนนี้ เจ้าพระยารามฯ กราบทูลขอให้ทรงแต่งตั้งและรับพระองค์ลักษมีมาเสียให้แล้วๆ กันไป เพราะอย่างไรก็เลยมาเสียแล้ว ก็โปรดให้ไปถามตัวพระองค์ลักษมีว่า จะกลับไปเป็นพระองค์เจ้าธรรมดาอยู่ที่บ้าน, หรือจะเป็นพระนางเธอ จะได้กะเงินเลี้ยงชีพให้ถูกต้อง พระองค์ลักษมีปฤกษาหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร  [] ผู้เป็นพี่ชายและเป็นลูกของน้าสาวด้วย ท่านที่ปฤกษาบอกว่า ให้รับเป็นพระนางเธอ เพราะจะได้ปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท จะได้พอเป็นที่พึ่งของวงษ์ญาติ์ต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นถึงวันดีพระองค์ลักษมีก็นำธูปเทียนดอกไม้ไปยังพระราชวังพญาไท เปิดกระทงดอกไม้หมอบกราบพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็เป็นเสร็จพิธี มีประกาศตั้งเป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณในราชกิจจาฯ แล้วก็เลยอยู่ในพระราชวังพญาไทนั้นด้วยเป็นสามนาง... งานทุกงานในเวลานั้นพระองค์ลักษมีเป็นผู้นำและนั่งคู่กับในหลวง มีพระสุจริตสุดากับพระอินทรานีพี่น้องเป็นผู้เดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนิสสัยที่ชอบมีเมียคนเดียว จึงไม่โปรดที่จะอยู่พร้อมๆ กันหลายๆ คน แม้จะถวายการฝึกหัดท่านเท่าไร ท่านก็ย้ายที่ประทับไปอยู่เสียแต่ลำพังกับคนเดียว เช่นที่พระปฐมเจดีย์เสด็จไปประทับกับพระอินทรานีที่พระตำหนักย่าเหล-มารี   [] ปล่อยให้พระองค์ลักษมีกับพระสุจริตสุดาอยู่บนพระที่นั่งใหญ่ ย้ายเรื่อยๆ ไปจนลงท้ายพระองค์ลักษมี out of place ก็เท่ากับถูกลอยกระทง จึงเลยต้องเข้าไปอยู่เสียที่ตำหนักหนึ่งในพระราชวังสวนดุสิต”  [๑๐]

 

 

          ฝ่ายพระอินทราณีนั้น “พอเป็นเจ้าจอมได้ ๓ เดือนก็ตั้งต้นจะมีลูก เป็นเหตุให้พระราชประสงค์ชิ้นหลังอันยอดเยี่ยมมีทางจะเป็นจริงได้ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัสมาก มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าอย่างวิมลกระกษัตริย์โดยสมบูรณ์เช่นพระองค์และสมเด็จพระชนกาธิราช จึงทรงยกพระอินทรานีขึ้นเป็นเจ้าด้วยเหตุนี้ ”  [๑๑]

 

           ในการที่ทรงพระมหากรุณาสถาปนาพระอินทราณีขึ้นเป็น พระวรราชชายา พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น มีความในประกาศสถาปนาตอนหนึ่งว่า

 

 

          “ทรงพระราชดำริห์ว่า พระอินทราณีได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ โดยความซื่อสัตย์กตเวทีมีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย อีกนัยหนึ่ง พระอินทราณีก็เปนราชินิกูลแลเปนภาตาป์ปุตติในพระอัยิกา อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นให้เปนเจ้า ตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้

 

          จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณีขึ้นเปนพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี”  [๑๒]

 

 

          นอกจากจะมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าอย่างวิมลกษัตริย์แล้ว การที่ทรงพระมหากรุณาสถาปนาพระอินทราณีซึ่งเป็นสามัญชนขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น คงจะเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากโบราณขัติยราชประเพณี ที่พระมหากษัตริย์จะทรงอภิเษกแต่พระมเหสีที่ทรงเป็นเจ้านายมาแต่แรกประสูติ จึงได้ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖” เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ว่า

 

 

พระเจ้ายอร์ชที่ ๖ และสมเด็จพระบรมราชินีเอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร

 

 

          “ในหนังสือพิมพ์วันที่ ๒๗ (ซึ่งมาถึงหาดเจ้าสำราญวันนี้) ลงฃ่าวโทรเลขว่า การอภิเษกสมรสระหว่างดยู๊กออฟยอร์ก  [๑๓] กับเลดีเอลิซะเบท โบว์ส - ไลออน  [๑๔] , บุตรีของเออร์ลแห่งสแตรทมอร์, ได้กระทำที่ในโบสถ์เวสมินสเตอร์เมื่อเวลาเที่ยง ณ วันที่ ๒๖ เดือนนี้, และสมเด็จพระเจ้ายอร์ชได้ทรงตั้งเลดีเอลิซะเบทเปนเจ้าหญิง. นี่ก็เปนของที่ได้ทำนายล่วงหน้าไว้แล้ว จึ่งไม่รู้สึกว่าเปนของประหลาดสำหรับเรา, แต่อาจจะประหลาดสำหรับผู้ที่ “รู้มากยากนาน”, หรือถ้าจะว่าอีกอย่าง ๑ ก็ได้ว่า “รู้การเกินกว่าเรียน”, คือบุคคลชนิดที่ทักท้วงว่าเราประพฤติผิดประเพณีเมื่อยกประไพขึ้นเปนเจ้า. ผู้พูดนั้นรู้อยู่ดีว่าสำหรับประเพณีไทยจะว่าผิดไม่ถนัด, จึ่งไพล่ไปพูดว่า “ในยุโรปเฃาไม่ทำกัน”. เดี๋ยวมามีตัวอย่างขึ้นจังๆ ในปัตยุบันนี้ละ, อยากดูหน้าผู้รู้เกินกว่าเรียนนั้นนัก”  [๑๕]

 

 

          อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้ตรา “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสของเจ้านายในพระราชวงศ์” [๑๖] ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว ครั้นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) นำคุณเปรื่อง สุจริตกุล ธิดาคนโตถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับคุณเปรื่อง สุจริตกุล เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วทรงตั้งให้เป็น “พระสุจริตสุดา” ตำแหน่งพระสนมเอก นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส ต่อจาก นั้นเมื่อทรงรับคุณประไพ สุจริตกุล ธิดาคนรองของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเข้ารับราชการในพระองค์ ก็ได้ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสอีกครั้งหนึ่งกับคุณประไพ สุจริตกุล ซึ่งโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น “พระอินทราณี” ตำแหน่งพระสนมเอกในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ดังมีความในประกาศสถาปนาตอนหนึ่งว่า

 

 

          “...ทรงพระราชดำริห์ว่า พระอินทราณีได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ โดยความซื่อสัตย์กตเวทีมีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย อีกนัยหนึ่ง พระอินทราณีก็เปนราชินิกูลแลเปนภาตาป์ปุตติในพระอัยิกา อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นให้เปนเจ้า ตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้

 

          จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณีขึ้นเปนพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี...”   [๑๗]

 

 

          และได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ [๑๘]

 

          สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระองค์มาเป็นลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในพระราชหฤทัยแล้วว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ไม่อาจจะถวายพระราชกุมารได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรงรับคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค เป็นบาทบริจาริกา และเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก

 

          ครั้นเจ้าจอมสุวัทนาทรงครรภ์ใกล้จะถวายพระประสูติการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี” เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ “...เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่ง พระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า...”  [๑๙] ในขณะเดียวกันก็ได้ทรงปรับปรุงบทพระราชนิพนธ์ละครรำเรื่อง “พระเกียรติรถ” ตอนกำเนิดพระเกียรติรถเป็นบทละครร้อง และทรงนำบทกล่อมที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มามาบรรจุไว้ในตอนนี้ด้วย สันนิษฐานกันว่าน่าจะมีพระราชประสงค์ให้ใช้บทพระราชนิพนธ์นี้เป็นบทเห่กล่อมในการพระราชพิธีสมโภชเดือนพระราชกุมาร

 

          พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้ถวายพระประสูติการสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” เมื่อวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในพระบรมมหาราชวัง

 

          ต่อมาวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ ได้ประกาศเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อให้สอดล้องกับพระเกียรติยศที่เปลี่ยนไปตามรัชกาล

 

 

 


[ ]  คือ เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔ ) พระชนนีในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

[ ]  คือ พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) ผู้เป็นน้องชายของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๗๐ - ๒๗๑.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ว่า “ธรรมเนียมแต่งงาน เจ้านายในเมืองไทยนี้ไม่มี เมื่อว่ากันตามความเห็นตรงๆ อย่าว่าแต่พระเจ้าแผ่นดินเลย ถึงเจ้าฟ้าพระองค์เจ้า ก็ไม่ได้แต่งงานสักครั้งหนึ่งเลย”

[ ]  พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕ เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์ไวยวัฒน์ รับราชการเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น "เจ้าคุณจอมมารดาแพ" และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษให้ออกนามว่า "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์"

[ ]  เป็นธิดาของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาประภากรวงษ์ (ว่อง บุนนาค) อดีตอัครราชทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๗๒.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

[ ]  คือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ ในพระราชวังสนามจันทร์

[ ๑๐ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๗๒.

[ ๑๑ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๗๒ - ๒๗๓.

[ ๑๒ ]  “ประกาศสถาปนาพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๑๒ มิถุนายน ๒๔๖๕), หน้า ๕๗ - ๕๘.

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้ทรงรับสิริราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (ดยุคออฟวินเซอร์) ที่ทรงสละราชสมบัติ และได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระเจ้ายอร์ชที่ ๖

[ ๑๔ ]  ต่อมาได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ และทรงเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒

[ ๑๕ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ (สำเนาลายพระราชหัตถ์), หน้า ๒๘.

[ ๑๖ ]  “ประกาศสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เปนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๘ (๘ กันยายน ๒๔๖๔), หน้า ๒๐๖ - ๒๐๗.

[ ๑๗ ]  “ประกาศสถาปนาพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๑๒ มิถุนายน ๒๔๖๕), หน้า ๕๗ - ๕๘.

[ ๑๘ ]  ต่อมาวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา”

[ ๑๙ ]  “ประกาศสถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๘), หน้า ๑๙๒.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |