โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๔. จากดุสิตธานีสู่โฮเต็ลพญาไท (๒)

 

 

          นอกจากเรื่องที่พักอาศัยแล้ว ทวยนาครในดุสิตธานีทุกคนยังต้องประกอบการงานอาชีพเป็นการมั่นคง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นทวยนาครคนหนึ่งของดุสิตธานี ทรงเลือกที่จะเป็น "นายราม ณ กรุงเทพ" เนติบัณฑิต อาชีพทนายความ และทรงเป็นพระรามราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย ที่สำคัญคือ นับแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาดุสิตธานีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ตราบจนเสด็จสวรรคตนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินเหยียบดุสิตธานีในฐานะพระมหากษัตริย์เพียง ๒ ครั้ง คือ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารอาสาในดุสิตธานีครั้งหนึ่ง กับในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานีที่ได้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

 

 

นายกองเอก พระยามหามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์ - ชูโต)

 

 

          การจัดการปกครองภายในดุสิตธานีนั้น มีรายละเอียดปรากฏใน "แบบเรียนจังหวัดดุสิตธานี ของพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์ - ชูโต) [] พ.ศ. ๒๔๖๑" ว่า
 

 

          "จังหวัดดุสิตธานีนี้มีพระมหากษัตริย์เปนผู้ปกครองเปนประธาน แล้วและทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจบางอย่างให้แก่ทวยนาครปกครองกันเอง ทวยนาครสมมตตั้งหัวน่าขึ้นคนหนึ่ง คือ นคราภิบาล ซึ่งเปนผู้รับอำนาจนั้นมาปฏิบัติให้เปนไป ส่วนอำนาจอันใดที่มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ก็ยังมีอยู่ในพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉนั้นอำนาจอันใดที่ได้พระราชทานแล้วนั้น หากมีเหตุผลซึ่งไม่เหมาะแก่ความเจริญ จะทรงเลิกถอนเสียก็ได้"  []

 

 

หม่อมเจ้าปราณีนวบุตร นวรัตน

สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิตราชธานี

 

 

          ความในแบบเรียนจังหวัดดุสิตธานีดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดว่า หากจะทรงนำการทดลองการปกครองที่ให้ประชาชนปกครองกันเองในสภาวะที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งทั้งข้าราชการและประชาชนในพื้นที่จริง คงจะสร้างความสับสนและวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข จึงได้มีพระราชดำริให้สร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลอง แล้วโปรดให้จัดการการปกครองเมืองจำลองดุสิตธานีเป็นจังหวัดดุสิตธานี ในมณฑลดุสิตราชธานี เฉกเช่นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลที่ใช้เป็นหลักในการปกครองหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรในเวลานั้น โปรดให้หม่อมเจ้าปราณีนวบุตร นวรัตน เจ้ากรมพระราชมณเฑียรพระราชวังดุสิตซึ่งเคยเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิต ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการทั้งปวงในมณฑลดุสิต มีจังหวัดดุสิตธานีเป็นหน่วยปกครองระดับจังหวัด นอกจากนั้นยังทรงกำหนดให้มีส่วนราชการในระดับมณฑล ทั้งศาลมณฑล อัยการมณฑล สรรพากรมณฑล เกษตรมณฑล ธรรมการมณฑล พระคลังมณฑล กรมทหาร และกองตำรวจภูธรประจำมณฑล มีการแบ่งส่วนราชการระดับรองลงเป็นอำเภอ และสถานีตำรวจภูธรประจำทุกอำเภอ ในส่วนสาธารณูปการก็มี โรงพยาบาล ธนาคาร โรงเรียน สวนสาธารณะ ไปรษณีย์ บริษัทไฟฟ้า บริษัทประปา และกองดับเพลิง เหมือนกับที่มีอยู่ในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทุกประการ

 

          นอกจากนั้นยังทรงกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยภาษีที่ดินเรียกเก็บในอัตราตารางเมตรละ ๑๐ สตางค์/ปี ภาษีโรงเรือนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของค่าเช่า ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการจำหน่ายสุราปีละ ๑.๖๐ บาท ใบอนุญาตยานพาหนะ เรือลำละ ๑๐ สตางค์ ล้อเลื่อนคันละ ๒๐ สตางค์ เงินภาษีและค่าใบอนุญาตต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งเงินค่าเช่าบ้านของพระคลังข้างที่และรายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นๆ ล้วนโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงสาธารณกุศลทั้งสิ้น

 

          ในส่วนการการปกครองท้องที่ในระดับอำเภอ ซึ่งเป็นส่วนการปกครองในระดับรองลงไปจากจังหวัดนั้น ก็มีนายอำเภอซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่เช่นเดียวกับนายอำเภอในหัวเมืองทั่วไป ทั้งนี้ ดุสิตธานีมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๖ อำเภอ คือ

 

 

มุมหนึ่งของพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ พระบรมมหาราชวังแห่งดุสิตธานี

 

 

               ๑) อำเภอดุสิต เป็นที่ตั้งพระราชวังวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระบรมมหาราชวังของดุสิตธานี มีสวนคนธรรพอุทยาน สวนนันทอุทยานเป็นสวนสาธารณะ มีโรงทหารบก สโมสรเสือป่า ดุสิตธนาคาร โรงเรียนศรเกตุศึกษาสถาน และวัดธรรมาธิปไตย กับบ้านทวยนาครอีกจำนวนหนึ่ง

               ๒) อำเภอปากน้ำ มีแม่น้ำดุสิตไหลผ่านไปออกทะเล (อ่างหยก) และเป็นที่ตั้งพระวรุณราชนิเวศ วัดพระพุทธบาท โรงเรียนปากน้ำ โรงทหารราชนาวี และบ้านทวยนาคร

               ๓) อำเภอดอนพระราม มีบ้านทวยนาครและสวนสาธารณะชื่อ สวนพระรามประทาน

               ๔) อำเภอบึงพระราม เป็นที่ตั้งพระราชวังอังกฤษ ในอำเภอนี้มีน่านน้ำ เกาะแก่ง มีน้ำพุออกมาจากใต้ดินเป็นลำนำไหลไปรวมกับแม่น้ำดุสิต มีวัดศุขสมาวาส โรงพยาบาลสุนทรเวช โรงเรียนศรีวรรธนาลัย โรงเรียนชมเสวี และบึงพระรามภัตตาคารซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสโมสรแข่งเรือ

               ๕) อำเภอบางไทร เป็นอำเภอศูนย์กลางการค้า มีผู้คนอาศัยหนาแน่น มีวัชรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของดุสิตธานี มีวัดพระบรมธาตุ ดุสิตหรือคนธรรพนาฏศาลาเป็นโรงละครหลวง มีโรงภาพยนตร์ และโรงเรียนพึ่งบุญพิทยาคาร

               ๖) อำเภอเขาหลวง มีภูเขาซึ่งเป็นต้นแม่น้ำดุสิต เป็นที่ตั้งพระราชวังมหาคีรีราชปุระ มีบ้านคหบดีใหญ่ๆ จำนวนมาก กับเป็นที่ตั้งน้ำตกสนานสร้อยฟ้าและโรงอาบน้ำร้อน

 

          การปกครองอีกรูปแบบหนึ่งที่ทรงริเริ่มให้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในดุสิตธานี คือ การจัดการปกครองโดยให้ทวยนาครปกครองเลือกกันเองขึ้นเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ซึ่งทรงนำต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ โปรดพระราชทานพระราชอำนาจให้ทวยนาครของดุสิตธานีเลือกทวยนาครคนหนึ่งขึ้นเป็น "นคราภิบาล" และเลือกทวยนาครอีกอำเภอละ ๒ คนเป็น "เชษฐบุรุษ" เพื่อทำหน้าที่บริหารงานเป็นเสมือนนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล

 

 

นายกองตรี พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล)

นคราภิบาลคนแรกของดุสิตธานี

 

 

ภาพล้อฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

"นคราภิบาลผู้มีสัก"

ซึ่งทรงล้อ พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) ว่าเป็นนคราภิบาลผู้มี "สัก" แทน "ศักดิ์"

 

 

          ในการเลือกตั้งครั้งแรกของดุสิตธานีนั้น เนื่องจากไม่มีใครรู้จักหรือเคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมาก่อน หม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร นวรัตน สมุหเทศาภิบาลฯ จึงได้เชิญท่านราม ณ กรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศและเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องระบอบการปกครองมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ท่านรามฯ ได้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลและเชษฐบุรุษจนสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) [] เป็นนคราภิบาลเป็นคนแรก แต่เนื่องจากยังมิได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ "ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ จึงมีการล้อเลียนท่านนคราภิบาลผู้นั้นเป็น "นคราภิบาลผู้มีสัก"

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุชิตชาญชัย

[ ]  พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์ - ชูโต). แบบเรียนจังหวัดดุสิตธานี พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๑๑.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุดมราชภักดี

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |