รางวัลพระราชนิพนธ์ รางวัลการเรียนวิทยาศาสตร์ รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์ Shrewsbury School รางวัลท่านผู้หญิง
ดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา
 ทุน Vajiravudh College ‐ Cranbrook Schools ทุน Vajiravudh College -
King’s College Scholarship
   
 

ประกาศ
พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ผู้แสดงความสามารถเรียนรู้ในพระราชนิพนธ์
รัชกาลที่ ๖

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงพระราชคุณูปการอันอเนกอนันต์แห่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสถาปนาและทะนุบำรุงโรงเรียน ซึ่งบัดนี้เรียกว่าวชิราวุธวิทยาลัย จนได้วัฒนาถาวรเป็นที่เพาะการศึกษาให้แก่กุลบุตรแพร่หลายในสถานที่อันงดงามเป็นศรีแก่พระนคร เป็นการช่วยชาติบ้านเมืองอย่างพึงสรรเสริญแท้ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติสืบสันติวงศ์จึ่งได้ทรงรับอุปถัมภ์บำรุงสืบมา

 

          บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชใช่แต่ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกอันประเสริฐเท่านั้น แต่ทรงมีพระปรีชาในเชิงประพันธ์วรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่จะให้มีอนุสสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศในทางนี้ในสถานที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดสืบไปเมื่อหน้า จึ่งทรงพระราชศรัทธาบริจจาคพระราชทรัพย์นับเป็นจำนวน ๘๐๐ บาท พระราชทานให้เป็นทุนสำหรับใช้จ่ายเป็นรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยผู้ที่ได้แสดงความสามารถเรียนรู้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ปีละครั้งตามระเบียบที่จะได้กำหนดต่อไปข้างล่าง

 

          โดยเหตุที่ทรงพระตระหนักพระราชหฤทัยอยู่ว่า มีพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาทและท่านผู้อื่น ซึ่งเห็นดีในการที่จะสนับสนุนวิชชาความรู้หนังสือไทย หรือมีความจงรักภักดีต่อพระองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตสุดแต่ท่านพระองค์ใดหรือผู้ใดจะโดยเสด็จในการพระราชกุศลนี้ แล้วให้นายกกรรมการรวบรวมบัญชีขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท การรับเงินให้เปิดรับที่วชิราวุธวิทยาลัย กรมบัญชีกระทรวงธรรมการ หรือกรมพระคลังข้างที่

 

          ส่วนระเบียบการแห่งรางวัลให้ทำดั่งต่อไปนี้

 

          ๑. ให้เชิญผู้สามารถเป็นกรรมการตัดสินปีละชุด จะเป็นจำนวนกี่คนแล้วแต่สะดวก แต่จะต้องตั้งล่วงหน้าให้มีเวลาพอที่จะพิจารณากำหนดหนังสือตามข้อ ๒. ต่อไปนี้

 

          ๒. หนังสือที่จะสอบให้เปลี่ยนทุกปี และให้ประกาศล่วงหน้าก่อนเวลาสอบไม่น้อยกว่า ๑๒ เดือน

 

          ๓. การที่จะเลือกกำหนดว่าเป็นหนังสือใดนั้น ให้ถือเกณฑ์ดั่งต่อไปนี้

                    ก. เป็นพระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๖

                    ข. เป็นหนังสือที่กรรมการเห็นว่า จะเป็นเยี่ยงอย่างแห่งวรรณคดีได้ เพราะเหตุแห่งเนื้อความดีก็ดี, โวหารก็ดี, เป็นคติในทางที่จะเพาะจรรยางดงามหรือเพาะพลเมืองดี

 

          ๔. การสอบไล่ควรกำหนดในปลายเดือนตุลาคม เพื่อจะได้ตรวจตัดสินทันรับรางวัลในงานที่ระลึกผู้ทรงสถาปนาโรงเรียน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีประจำปีที่โรงเรียนในวันเถลิงราชสมบัติ
รัชชกาลที่ ๖ คือ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน

 

 

          ประกาศมา วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๐

 
 

  รางวัลพระราชนิพนธ์

 

          ภายหลังการประกาศพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยผู้แสดงความสามาารถเรียนรู้ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๐ ได้มีประกาศพระนามและนามกรรมการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ตัดสินให้รางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยผู้แสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๐ มีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นประธานกรรมการ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต นายกกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย และ มหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทราชา เป็นกรรมการ มีอำมาตย์เอก พระราชธรรมนิเทศ เป็นเลขานุการ

 

          ในประกาศดังกล่าวได้กำหนดพระราชนิพนธ์ที่จะใช้สอบไว้ล่วงหน้า ๓ ปี ได้แก่ พ.ศ.๒๔๗๑ เรื่องรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๖ ชุดพิเภษณ์ถูกขับ และ ประชุมนิทานรัชกาลที่ ๖ ฉบับพระโสภณอักษรกิจ พ.ศ. ๒๔๗๒ บทละคร เรื่อง เสียสละ และ เรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และพ.ศ. ๒๔๗๓ เรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม และบทละครเรื่อง หัวใจนักรบ โดยได้กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน ได้แก่ ความรู้ในเรื่อง ความรู้ในข้อความสาขาที่อ้างถึงในเรื่อง และความรู้ในเชิงโวหารและสำนวน ทั้งนี้ผู้ที่สอบได้ที่ ๑ จะได้รับพระราชทานรางวัลเป็นหนังสือ ราคารวมประมาณ ๕๐ บาท

 

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๗๐ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต นายกกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ได้ทรงแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการดังกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ ๘๐๐ บาท ให้เป็นทุนสำหรับใช้จ่ายรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ผู้ที่ได้แสดงความสามารถเรียนรู้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาและทำนุบำรุงโรงเรียนตั้งแต่เริ่มมา และมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลนี้ช่วยเหลือเงินรวมอีกราว ๓,๓๐๐ บาทกว่าๆ ซึ่งควรจะได้ดอกเบี้ยพอกับรางวัลซึ่งจะให้เป็นหนังสือหรือสิ่งของราคาไม่เกิน ๕๐ บาท กับถ้ามีผู้อื่นสอบได้ดี กรรมการในการนี้มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาความชอบ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจ่ายรางวัลพิเศษเพิ่มเติมให้อีกได้ แต่คาดว่าปีหนึ่งจะจ่ายไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท”

 

          สำหรับกรรมการรางวัลนั้น กรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้มีการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิทางอักษรศาสตร์โดยเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลไปตามความเหมาะสม อาทิในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการเสนอชื่อพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ พระยาสุนทรพิพิธ โดยมี พระวรเวทย์พิสิษฐ์ เป็นเลขานุการ ปีพ.ศ. ๒๔๘๖ กรรมการประกอบด้วยอธิบดีกรมสามัญศึกษา ข้าราชการในกระทรวงศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนหนึ่งคน โดยนายกกรรมการฯ เป็นผู้แต่งตั้ง

 

          นอกจากจัดสอบแข่งขันแล้ว ยังได้มีการจัดพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ปีพ.ศ. ๒๔๘๒ หนังสือพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ไม่มีจำหน่ายหรือมีแต่ราคาแพง กรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ให้โรงพิมพ์ช่างพิมพ์วัดสังเวช ของกระทรวงธรรมการจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่นักเรียนและประชาชนทั่วไปในราคาถูก

 

          การจัดสอบแข่งขันผู้แสดงความสามารถเรียนรู้ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ได้หยุดลงในห้วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย (พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๕๐) ได้มอบหมายให้หมวดภาษาไทยฟื้นฟูการจัดสอบแข่งขันผู้แสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ขึ้นอีกครั้ง โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้หลักสูตร “วชิราวุธศึกษา” ด้วยตระหนักในพระปรีชาญาณ และพระสุตาญาณอันล้ำเลิศในด้านอักษรศาสตร์ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ซึ่งมีครบทุกประเภท และกอปรด้วยแนวคิด จินตนาการ พระราชปณิธานในการอนุรักษ์พัฒนาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสภาพสังคมและคุณภาพของคนไทย พระราชนิพนธ์ทุกเรื่องเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าสมควรที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจะได้อ่านและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป ในการนี้หมวดภาษาไทยได้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ให้นักเรียนได้ศึกษาเป็นการภายในดังนี้

 

ปีการศึกษา ๒๕๔๐ เรื่อง โคลนติดล้อ เมืองไทยจงตื่นเถิด และ ลัทธิเอาอย่าง
ปีการศึกษา ๒๕๔๑ เรื่อง หัวใจนักรบ ปลุกใจเสือป่า ซ้อมรบเสือป่า และ ฉวยอำนาจ
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ เรื่อง มัทนะพาธา และ เวนิสวานิช
ปีการศึกษา ๒๕๔๓ เรื่อง มิตรแท้ และ นิทานทองอิน
ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เรื่อง สาวิตรี พระหันอากาศ และ มนุษย์สรวยหรือไม่สรวย?
ปีการศึกษา ๒๕๔๕ เรื่อง วิวาหพระสมุท ล่ามดี และ ต้นหมาปลายหมา
ปีการศึกษา ๒๕๔๖ เรื่อง ตามใจท่าน
ปีการศึกษา ๒๕๔๗ เรื่อง ปริยทรรศิกา
ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เรื่อง หนามยอกเอาหนามบ่ง
ปีการศึกษา ๒๕๔๙ เรื่อง กุศโลบาย และ โม่โกรธ
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ เรื่อง หัวใจชายหนุ่ม และ โพงพาง
ปีการศึกษา ๒๕๕๑ เรื่อง โคลนติดล้อ และ ตบตา
ปีการศึกษา ๒๕๕๒ เรื่อง หลวงจำเนียรเดินทาง และ จัดการรับเสด็จ
ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เรื่อง กันป่วย และ เสียสละ
ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง กลแตก และ เจ้าข้า สารวัด
ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เรื่อง ชิงนาง และ ลัทธิเอาอย่าง
ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง และ เบ็ดเตล็ดห้าเรื่อง
ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เรื่อง มหาตมะ และ งดการสมรส
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เรื่อง เพื่อนตาย และ คดีสำคัญ
ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เรื่อง ความดีมีไชย และ สร้อยคอไข่มุกด์
ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เรื่อง พระร่วง และ เนตรพระอิศวร
ปีการศึกษา ๒๕๖๑ เรื่อง โรเมโอและจูเลียต และ ตั้วกอวิลสัน
ปีการศึกษา ๒๕๖๒ เรื่อง น้อยอินทเสน และ วิลสันปลอม
   

 

          นอกจากนี้ หมวดภาษาไทยยังได้นำพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ที่วชิราวุธวิทยาลัยเคยจัดพิมพ์ให้นักเรียนได้ศึกษาเป็นการภายในมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ มาจัดพิมพ์ซ้ำเป็นชุดจำนวน ๑๔ เล่ม รวม ๓๐ เรื่อง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ของวชิราวุธวิทยาลัย

 

          สำหรับการสอบแข่งขันรางวัลพระราชทานการแสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ภายในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ในระยะแรกไม่ได้กำหนดระดับชั้น ต่อมาแบ่งการแข่งขันเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ขยายการแข่งขันไปในระดับประถมศึกษา โดยจัดการแข่งขันเป็นสองรอบ รอบแรกเป็นการสอบข้อเขียน เพื่อคัดเลือกนักเรียนไปสอบในรอบชิงชนะเลิศ โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการสัมภาษณ์ อาทิ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รองศาสตราจารย์ทิพย์สุเนตร อนัมบุตร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองศาสตราจารย์กันยารัตน์ เวชศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้ทรงคุณวุฒิประจำหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดีนาร์ บุญธรรม และรองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจะเข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลเฉพาะผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นต้นมา ได้จัดให้ผู้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นได้เข้ารับพระราชทานรางวัลด้วย

 
 
 
 

  รายนามนักเรียนที่ได้รับรางวัลการแสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

 

  ปีการศึกษา ๒๕๔๐ - ๒๕๔๗

          จัดการแข่งขันระดับมัธยมศึกษาโดยไม่แยกระดับชั้น

 

ปีการศึกษา ๒๕๔๐ นายบุญฤทธิ์ ศรีเจริญ
ปีการศึกษา ๒๕๔๑ งดจัดการแข่งขัน
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ นายรณดิศ ธนานุศักดิ์
ปีการศึกษา ๒๕๔๓ นายรณดิศ ธนานุศักดิ์
ปีการศึกษา ๒๕๔๔ นายธนกร จ๋วงพานิช
ปีการศึกษา ๒๕๔๕ นายศตวรรษ ธีรอัครวิภาส
ปีการศึกษา ๒๕๔๖ นายศุภกร จูฑะพล
ปีการศึกษา ๒๕๔๗

นายธนกร จ๋วงพานิช

 

 

  ปีการศึกษา ๒๕๔๘ - ๒๕๕๑

          จัดการแข่งขันโดยแยกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

ปีการศึกษา ๒๕๔๘ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายขุนเขา เขจรบุตร
  มัธยมศึกษาตอนต้น นายสรณ์ เยาวพงศศิริ
     
ปีการศึกษา ๒๕๔๙ มัธยมศึกษาตอนปลาย  นายชชานนท์ ลิ่มทอง
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายพฤกษ์ เลิศศรีมงคล
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายศภกร จูฑะพล
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายรชต ศิริยกุล
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๑ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายพลช มีสัตย์
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายวงศธร สี่หิรัญวงศ์

 

 

  ปีการศึกษา ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

          จัดการแข่งขันโดยแยกเป็นระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

ปีการศึกษา ๒๕๕๒ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายลัทธพล เจริญวงษา
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายวงศธร สี่หิรัญวงศ์
  ประถมศึกษา เด็กชายพศวีร์ สันติวิสุทธิ์
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๓ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายวงศธร สี่หิรัญวงศ์
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายเอกราช มอเซอร์
  ประถมศึกษา เด็กชายพชร วัฒนภิรมย์
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๔ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายธรรมรินทร์ ญาณสุธี
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายกล้าเกิด ตรีวัฒนสุวรรณ
  ประถมศึกษา เด็กชาย ล. ผณินทร์กฤษฎิ์ ภูมิธาดาเดช
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๕ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายกล้าเกิด ตรีวัฒนสุวรรณ
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายนาวิน งามภูพันธ์
  ประถมศึกษา เด็กชายฐิติ ชิวชรัตน์
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๖ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายปิ่นภพ เสวิกุล
  มัธยมศึกษาตอนต้น นายธนภัทร ชีวอารี
  ประถมศึกษา เด็กชายกัณห์ปกรณ์ จาวยนต์
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๗ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายเอกราช  มอเซอร์
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายโมกข์  เลิศศรีมงคล
  ประถมศึกษา เด็กชายไตรภูมิ  ปาตัก
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายธนภัทร  ปัญญาธีระ
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายพจน์  โกสีย์ไกรนิรมล
  ประถมศึกษา เด็กชายตนุภัทร  ตระกูลธงชัย
     
ปีการศึกษา ๒๕๕๙ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายจิร  จารุศังข์
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายไกร  สาตรักษ์
  ประถมศึกษา เด็กชายฤ.กษมคามิน  ภูมิธาดาเดช
     
ปีการศึกษา ๒๕๖๐ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายโมกข์  เลิศศรีมงคล
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายพีรวุฒิ  ฉิมบ้านไร่
  ประถมศึกษา เด็กชายเขมทัต  สมคะเน
     
ปีการศึกษา ๒๕๖๑ มัธยมศึกษาตอนปลาย นายโมกข์  เลิศศรีมงคล
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายพลภัทร  แก้วพวงงาม
  ประถมศึกษา เด็กชายเสฏฐพันธ์  ศรีพานิชกิจ
     
ปีการศึกษา ๒๕๖๒ มัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กชายกฤติน  โพธิ์กิ่ง
  มัธยมศึกษาตอนต้น เด็กชายฤ.กษมคามิน  ภูมิธาดาเดช
  ประถมศึกษา เด็กชายกุญช์  ศรีวรกุล
     
ปีการศึกษา ๒๕๖๓ มัธยมศึกษาตอนปลาย  
  มัธยมศึกษาตอนต้น  
  ประถมศึกษา