โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๕๐. เครื่องหมายสามารถ (๑)

 

          เครื่องหมายสามารถปกติเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติของบุคคลที่มีความสามารถทางการกีฬา รูปแบบของเครื่องหมายสามารถในการกีฬานี้มักจะจัดทำเป็นเสื้อเบลเซอร์ (Blazer) ตัวเสื้อมีสีต่างๆ กันไปตามที่สถาบันผู้มอบเสื้อสามารถเป็นผู้กำหนด
เสื้อสามารถการกีฬานี้กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากทวีปยุโรป เมื่อมีการส่งนักเรียนไทยไปเล่าเรียนในภาคพื้นยุโรป นักเรียนไทยหลายคนได้ไปสร้างชื่อทางการกีฬาให้แก่สถาบันการศึกษาที่ตนศึกษาอยู่และได้รับมอบเสื้อสามารถเป็นเกียรติยศ เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้นำกีฬาชนิดต่างๆ ที่เล่นกันยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย กีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คือ กีฬาหมากเตะหรือแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อกีฬาฟุตบอล

 

          เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ครั้งยังเป็นหลวงไพศาลศิลปสาตร ได้แปลกฏกติกาการเล่นฟุตบอลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรหที่ท้องสนามหลวง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรต่างๆ ชิงถ้วยทองหลวงเป็นครั้งแรก และเมื่อจบการแข่งขันครั้งนั้นแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักกีฬาฟุตบอลจากสโมสรต่างๆ จัดเป็นคณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ลงแข่งขันกับชุดฟุตบอลชาติอังกฤษ (ในประเทศไทย) ณ สนามราชกรีฑาสโมสร เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

หมวกแก๊ปคณะฟุตบอลชาติสยาม

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย)

 

 

          ภายหลังการแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะฟุตบอลแห่งชาติสยามกับคณะฟุตบอลชาติอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ได้พบภาพถ่ายซึ่งแสดงว่าได้โปรดกล้าฯ ให้จัดสร้างหมวกแก๊ปสีแดงขาว (รูปทรงเหมือนหมวกลูกเสือสำรองในปัจจบัน) กระบังหน้าสีแดง หน้าหมวกปักตราพระมหามงกุฎเหนือลูกฟุตบอลซึ่งพระราชทานเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยามฯ แก่นักกีฬาที่ลงแข่งขันในนาม

 

 

คณะฟุตบอลแห่งชาติสยามที่ลงแข่งขันกับคณะฟุตบอลชาติอังกฤษ

พร้อมด้วยผู้ตัดสิน และพระปรีชานุสาสน์ (ม.ล.ทศทิศ อิสรเสนา – พระยาภะรตราชา) ผู้กำกับเส้น (นั่งขวาสุด)

ที่สโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยคณะนักฟุตบอลสโมสรกรมเสือปาม้าหลวงรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

          คณะฟุตบอลชาติไทย นอกจากนั้นยังพบภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยคณะนักฟุตบอลสโมสรกรมเสือป้าม้าหลวงรักษาพระองค์ จึงอนุมานได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีเสื้อสามารถการกีฬาในประทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          กล่าวสำหรับวชิราวุธวิทยาลัย ในยุคโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไม่พบหลักฐานว่า มีการจัดสร้างเสื้อสามารถการก๊ฬามอบให้แก่ผู้ใด แต่ในสมัยที่รวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาลพระบาท-สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว มีการจัดสร้างเสื้อสามารถมอบให้นักเรียน แต่ไม่อาจสืบค้นหลักฐานการสร้างเสื้อสามารถในยุคนี้ได้ แต่เมื่อคาวฉลองอายุโรงเรียนผ่าน ๖ รอบ ณ โรงแรมเอเซีย เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย วงศ์ สินธุพันธุ์ อดีตเลขานุการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กรุณาเรียกผู้เขียนไปพบและบอกว่า “เอ็งถามลุงเรื่องเสื้อสามารถ วันนี้ลุงเลยใส่มาให้ดู”

 

          เสื้อสามารถที่ “ลุงวงศ์” สวมมาวันนั้น เท่าที่จำได้เป็นเสื้อเบลเซอร์สีน้ำเงิน ที่อกเสื้อข้างซ้ายมีกระเป๋าปักไหมสีเป็นรูปพระมนูแลงสาร จ่อมาเมื่อคราวฉลอง ๑๐๐ ปีโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้สอบถามไปทางทายาทของลุงวงษ์ เพื่อจะขอเสื้อสามารถนั้นมาเก็บรักษาในหอประวัติให้นักเรียนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ได้รับคำตอบว่า หาไม่พบเพราะมีการย้ายบ้าน
จากนั้นก็ไม่พบหลักฐานเรื่องเสื้อสามารถอีกเลยจนถึงสมัยท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา จึงพบว่าโรงเรียนได้จัดให้มีเครื่องหมายสามารถกีฬารักบี้ฟุตบอลมอบให้แก่นักกีฬาทีมโรงเรียน โดยแบ่งเครื่องหมายสามารถนี้เป็น ๒ ชั้น คือ

 

 

เครื่องหมายกึ่งสามารถ

 

 

          เครื่องหมายกึ่งสามารถ เป็นชั้นเริ่มต้นของเครื่องหมายสามารถ มีลักษณะเป็นตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎสีฟ้าบนแผ่นผ้ารูปกระเป๋าสีน้ำเงินแก่ติดบนเสื้อกีฬา ตอนล่างดวงตราเป็นอักษรระบุชนิดกีฬาที่ได้รับปักด้วยดิ้นเงิน กับมีหมวกแก๊ปสีฟ้าสลับน้ำเงิน กระบังหน้าสีน้ำเงิน มีตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎปักด้วยดิ้นเงินที่หน้าหมวก กับกลางหมวกตอนบนมีพู่ไหมเงิน และมีผ้าพันคอพื้นสีน้ำเงินมีริ้วคู่สีฟ้าอันเป็นสีสำหรับการกีฬาของโรงเรียน

 

 

เครื่องหมายสามารถสมบูรณ์

 

 

 

          เครื่องหมายสามารถสมบูรณ์ เป็นตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎ ด้านใต้ดวงตราปักชื่อชนิดกัฬาและปี พ.ศ. ที่ได้รับเครื่องหมายสามารถด้วยดิ้นเงินบนพื้นผ้าสีน้ำเงินสำหรับติดทับบนกระเป๋าเสื้อเบสเซอร์สีน้ำเงินแก่ กับมีผ้าผูกคอ (เนคไท) พื้นสีน้ำเงินมีริ้วคู่สีฟ้า

 

          ต่อมาเมื่อคณะครูและนักรักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยได้กราบถวายังคมลาไปแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีครั้งที่ ๒ กับเดอะมาเลย์คอลเลจ (The Malay College) ที่สหพันธรัฐมลายา (ปัจจุบันคือ สหพันธ์มาเลย์เซีย) และเมื่อเดินทางกลับมาแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะครูและนักกีฬาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานการเดินทางและผลการแข่งขัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ในวโรกาสนี้ท่านผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยได้เป็นผู้แทนวชิราวุธวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายเสื้อกีฬามีลักษณะเป็นเสื้อเบลเซอร์สีขาวนวล กระเป๋าเสื้อเบื้องซ้ายมีตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎปักดิ้นทอง ที่ด้านใต้ดวงตราปักไหมทองเป็นอักษรว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยเป็นปฐม

 

          จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อกีฬาโรงเรียนนี้แก่ครูและนักเรียนเก่าที่ทำประโยชน์แก่การกีฬาของโรงเรียนโดยนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พลเอกประภาส จารุเสถียร กรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย และนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานเป็นคนแรก จากนั้นได้พระราชทานเสื้อกีฬาโรงเรียนนี้แก่ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา ครูจิต พึ่งประดิษฐ์ ครูอรุณ แสนโกศิก ครูอุดม รักตประจิตเป็นลำดับมา

 

 

 

 

นักกีฬาทีมโรงเรียนสวมเสื้อสามารถในพิธีเชิญธงโรงเรียน ธงกีฬา และธงคณะขึ้นสู่ยอดเสา

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปี

 

 

          เมื่อมีการสร้างเสื้อกีฬาโรงเรียนแล้ว ประกอบกับนักกีฬารักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนยังคงครองตำแหน่งชนะเลิศการแข่งขันประเภทโรงเรียนซึ่งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยเว้นเฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพียงหนึ่งปี ในช่วงนี้จึงจัดให้มีเครื่องสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องหมายสามารถสมบูรณ์ แต่มีเพียงตราติด

 

 

แหนบสามารถพิเศษเหนือพิเศษ

 

 

          กระเป๋าเสื้อปักดิ้นทองบนผืนผ้าสีขาวนวล สำหรับเสื้อเบลเซอร์สีขาวนวล แต่นักกีฬารักบี้ฟุตบอลที่ได้รับเครื่องหมายสามารถพิเศษไปแล้วยังคงแสดงความสามารถให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดโรงเรียนจึงต้องเพิ่มเครื่องหมายสามารถพิเศษเหนือพิเศษขึ้นอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแหนบรูปแผงคอนักเรียนซีกเดียวตอนกลางเป็นตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎ แหนบนี้ใช้เหน็บที่ปกกระเป๋าเสื้อสามารถพิเศษ

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |