โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๗. ครูแม่บ้านและครูสตรี (๔)

 

          แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๘๙ กำหนดให้โรงเรียนมัธยมสามัญกลับมาเปิดการเรียนการสอนในชั้นมัธยมปลายในชื่อชั้นเตรียมอุดมศึกษา อีกครั้ง วชิราวุธวิทยาลัยจึงต้องเปิดรับครูที่มีคุณวุฒิชั้นปริญญาเข้ามาสอนนักเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาอีกครั้ง

 

 

คุณหญิงสนองนาฏ  จารุดิลก

 

 

          ในการรับสมัครครูชั้นปริญญาคราวนั้น คุณหญิงสนองนาฏ (บุณยศริริพันธ์) จารุดิลก ได้กล่าวไว้ในที่ชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงแรมรอแยล ถนนราชดำเนิน เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า

 

 

          “เมื่อจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อักษรศาสตร์บัณฑิต ไม่คิดจะเป็นครูเลย เพราะเหตุว่าคุณพ่อได้หาอาชีพไว้ให้เรียบร้อย คือคุณพ่อตั้งโรงพิมพ์พระจันทร์ ก็จะให้ลูกๆ ทำงานโรงพิมพ์กันทุกคน แต่ เผอิญดิฉันเมื่อทำงานที่โรงพิมพ์พระจันทร์ได้วันสองวันก็รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ เพราะตอนเป็นนักเรียนฝึกสอนคุรุศาสตร์ ก็ไปฝึกสอน ณ ที่ต่างๆ ออกต่างจังหวัดบ้าง เพราะขณะนั้นเป็นเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนในกรุงเทพฯ ไม่เปิดสอน เราจำเป็นต้องไปฝึกสอนที่โรงเรียนต่างๆ ที่ต่างจังหวัด ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นอธิบดี  [] เมื่อเราไปอยู่ต่างจังหวัด ครูในต่างจังหวัดเป็นครู ป.ม. [] กับ ป.ป. [] ทั้งสิ้น เมื่อ อ.บ.ออกไป เขาก็เขม่นเรา เขาหมั่นไส้ว่าปริญญาตรีจะไปข่มเขา ทั้งๆ ที่เราก็ก็อ่อนหวานอุตส่าห์ไหว้กราบเขาจะดูการสอนของเขา เขาไม่สอนให้เราดูเลย เขาบอกคำบอกไปแต่ละห้อง ถามคุณหญิงสมจิตต์  [] ดูก็ได้ เราได้ความรู้ในการที่จะเป็นครูจากอาจารย์หม่อมหลวงตุ้ย ชุมาย  [] สอนให้เราดูแต่ผู้เดียว รู้สึกว่าประสบการณ์การเป็นครูน้อยมาก แต่ดิฉันได้มาสอนที่โรงเรียนวชิราวุธ ได้รับเกียรติอย่างสูงทีเดียวเพราะเหคุว่าเจ้าคุณภะรต  [] ท่านอุตส่าห์รับเรา วันที่ท่านโทรศัพท์มาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่าขอครูปริญญา ๒ คน ดิฉันกับคุณหญิงสมจิตต์ไปเที่ยวจุฬาฯ ในวันนั้น โดยยังไม่ได้ทำงาน เมื่อเจ้าคุณภะรตท่านต้องการครู ๒ คนก็ดีใจ ชวนคุณหญิงสมจิตต์ ไปสอนด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่ชอบอาชีพครูเลย”  []

 

 

          การที่วชิราวุธวิทยาลัยตกลงรับคุณหญิงสนองนาฏ จารุดิลก และคุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ เข้าเป็นครูในวชิราวุธวิทยาลัยนั้น คงจะเนื่องมาจาก “ตอนนั้นโรงเรียนวชิราวุธกำลังจะทดลองมีครูผู้หญิงสำหรับสอนเด็กโต”  [] และคงจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่เปิดรับครูสตรีเข้าสอนนักเรียนชั้นโตในโรงเรียนชายล้วนและเป็นโรงเรียนกินนอนแบบพับลิคสกูลของอังกฤษด้วย เพราะในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ระบบการศึกษาไทยยังคงแยกเป็นโรงเรียนชายล้วนหญิงล้วน และครูในโรงเรียนชายก็ไม่มีครูสตรี ครูโรงเรียนสตรีก็ไม่มีครูชายเลย

 

          ในชั้นแรกครูสตรีทั้งสองท่านต่างก็วิตกกังวลไปต่างๆ นาๆ ดังที่คุณหญิงสนองนาฏ จารุดิลกได้เล่าไว้ในที่ประชุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า

 

 

          “จะให้เราอยู่ประจำหรือเปล่า เมื่อไปเข้าแล้วก็มีปัญหาว่า นักเรียนกับครูอยู่ห้องชิดติดกัน ตอนนั้นดิฉันอายุสัก ๒๒ - ๒๓ นักเรียนอายุประมาณ ๑๘ - ๑๙ คุณพระประทัต  [] ก็บอกว่า ครูกับนักเรียนอายุไล่เลี่ยกันอยู่ไม่ได้ ให้ดิฉันกับคุณหญิงสมจิตต์ไปอยู่คณะเด็กเล็ก เราดูสภาพคณะเด็กเล็กแล้วอยู่ไม่ไหว เราต้องรบกับเด็ก ๒๔ ชั้วโมง เราไม่เคยสอนเด็กเล็กเลย รู้สึกลำบากใจ ก็ไปกราบท่านว่า ขอไป - กลับ ท่านก็อนุญาต สมัยนั้นรถยนต์ก็ไม่ค่อยจะมี ดิฉันกับคุณหญิงสมจิตต์ต้องเช่ารถสามล้อถีบ ออกจากบ้านประมาณ ๗ โมงเช้า ไปถึงโรงเรียนประมาณ ๘ โมง ๘ โมงครึ่งก็สอน โผล่เข้าไปวันแรกตกใจแทบแย่ เพราะไม่มีคนรุ่นดิฉันเลยจนคนเดียว มีแต่ท่านเจ้าคุณภะรต คุณพระประทัต คุณหลวงธรรมสารฯ [๑๐] ซึ่งเราเรียกว่า “คุณตา” เราจะไปเข้าพวกไหนดี? ก็พอดีไปเจอคุณอ๊อด คุณกมล ชาญเลขา  [๑๑] เป็นครูวิทยาศาสตร์ รู้สึกวัยไล่เลี่ยกัน ก็ได้เป็นเพื่อน เรียกว่า “สามเกลอ” จุ๊กจิ๊กกัน ๓ คน ก็ชักจะไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์สนั่น แพทยานนท์ [๑๒]  เพราะท่านเป็นอาจารย์สมัย ร.๖ ผู้หญิงกับผู้ชายต้องแยกกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้ เราก็เหงาจะแย่ไปแล่ว เลยต้องทนยอมให้ท่านเขม่น คุณอ๊อดก็ดีเช้าขึ้นมาก็มีเรื่องเล่า เมื่อคืนนี้มีเรื่องนักเรียนทำอะไร ท่านก็เล่าให้เราฟังทุกเช้า รู้สึกสนุกเพลิดเพลิน ก็เลยมีกำลังใจสอนหนังสือต่อไปได้

 

          คุณพระประทัตท่านดีมาก ท่านเป็นผู้ควบคุมการเรียนการสอน ท่านว่าแล้วแต่อาจารย์จะสอน ผมไม่ดู เตรียมการสอนก็ไม่ต้องเตรียม ทำให้เราสองคนต้องขวนขวาย วันเสาร์ครึ่งวันต้องไปโรงเรียนเตรียมอุดม เขาสอนกันยังไง ต้องไปดูเขาสอน เตรียมตำหรับตำราอย่างดี ท่านก็เลยพอใจ ตอนหลังได้เป็นคนโปรดของเจ้าคุณภะรต เราก็พยายามที่จะเป็นมิตรกับเด็ก ที่โรงเรียนนี้ครูใหญ่ก็ไม่เรียกอาจารย์ใหญ่ก็ไม่เรียก เรียก “ผู้บังคับการ” เจ้าคุณภะรตเป็นผู้บังคับการ นักเรียนเรียกดิฉันว่า “ครู” ที่เรียกครูนี้ซาบซึ้งกว่าเรียก “อาจารย์” ท่านเจ้าคุณภะรตเรียกดิฉันว่า “อาจารย์”  [๑๓] แต่เด็กๆ เรียกว่า “ครู” ครูอ๊อดนี้ถ้ากลางคืนไปทำอะไรมา เช้าขึ้นมาก็มาเล่าให้ดิฉันฟัง เช่นเช้าวันหนึ่งเขาเล่าว่าผมไปเที่ยวงานวัดเบญขฯ สนุกมาก ผมปีนรั้วไปเที่ยว เจ้าโกฟุก  [๑๔] มันไล่ผมเสียวิ่งขาลากแต่มันก็จับผมไม่ได้ จนกระทั่งรู้ถึงคุณวิชา คุณวิชาบอกว่าคืนนี้จะจับให้เชียว แล้วนายประสงค์ สุขุม นายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์  [๑๕] ก็เอายานอนหลับใส่ในเหยือกน้ำไปตั้งไว้หน้าห้องพักครู กินน้ำก็หลับกันหมดทุกคน เลยปีนไปเที่ยวได้ จนกว่างานวัดเบญจฯ จะเลิก เป็นที่สนุกสนานทีเดียว เขามีเรื่องขำๆ มาเล่า แล้วรู้สึกเป็นกันเอง เช่น เราจะกลับบ้านเพราะสอนเสร็จเที่ยงหรือบ่ายโมง ก็ไปทานข้าวที่คณะผู้บังคับการ เด็กบอกว่าวันนี้ครูกลับไม่ได้นะ ผมเล่นรักบี้ ครูต้องอยู่ดูนะ เรากลัวเด็กเบยต้องอยู่ดู เดี๋ยวเขาเฮี้ยวเอา เราสอนหนังสือบางทีเขาก็เอาประทัดโรยไว้ พอครูผู้หญิงมาก็ดังโป้งๆ เราก็เต้นหยองแหยงเขาก็เฮกัน นี่แหละชีวิตที่สอนที่วชิราวุธทำให้ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน เป็นกันเองกับเด็ก”  [๑๖]

 

 

คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์

 

 

          ในคราวเดียวกัน คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ ก้ได้เล่าถึงประสบการณ์การเป็นครูสตรีในวชิราวุธวิทยาลัยไว้ว่า

 

 

          “ตอนนั้นโรงเรียนงชิราวุธกำลังจะทดลองมีครูผู้หญิงสำหรับสอนเด็กโต ดิฉันก็เกรงเหมือนกันว่าปัญหาที่มีนั้นอาจตะเป็นเพราะเด็กอายุใกล้เคียงกับครู อาจจะไม่เมีความกรงกลัวกันก็ได้ ตอนแรกก็ใจไม่ดี เข้าไปวันแรกก็ขาสั่นเหมือนกัน แตก็พยายามไม่ให้เด็กเห็นว่าขาสั่น พยายามระมัดระวังตัวอย่างดี แต่ดิฉันก็คิดว่าเป็นบุญ ที่เด็กในขณะนั้นเป็นระยะที่ไม่พร้อม ดิฉันก็ทราบ เพราะมีบรรดาครูบาอาจารย์หลายท่านมาเล่าให้ฟังว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนวชิราวุธขาดหลายอย่าง เพราะระยะนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมมาก แต่ก็เป็นเดชะบุญ ที่เรา ๒ คนสอนชั้น ม.๗ ก็คือมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ดิฉันสอนวิชาที่ดิฉันถนัดน้อยที่สุดเพราะว่าตอนนั้นครูที่สอนภาษาอังกฤษต้องใช้ครูฝรั่ง หรือครูที่พูดภาษาฝรั่งเป็นที่จะตอบโต้กันได้ พวกเราท่านก็ให้สอนภาษาไทย ที่จริงพูดภาษาไทยชัดแน่ แต่ความรู้ภาษาไทยยังไม่ชัดเจนนัก ก็สอน แต่ก็พยายามขวนขวาย นอกจากนั้นยังให้สอนวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม แต่ลูกศิษย์พยายามช่วยครูมาก พยายามตั้งอกตั้งใจและให้กำลังใจ เวลาสอนเขาก็พยายามปฏิบัติตัวตั้งใจฟัง จะมีสักคนหนึ่งที่นอนฟัง แต่ก็ปล่อยให้หลับไป ตื่นขึ้นมาเพื่อนก็ช่วยกันจด ดิฉันยังจำได้เวลาสอน จะมีที่เขาแหย่กันบ้างแต่ทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบร้อย เวลาสอนเขาจะไม่ทำอะไรให้เราไม่สบายใจ ก็เลยทำให้มีความมั่นใจว่าพอสอนไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีความรู้น้อย แต่ลูกศิษย์ช่วยมากทีเดียว นักเรียนทั้งหมดดิฉันรู้สึกว่าเขาซนน่ารักกว่า ดิฉันมีนักเรียนตอนนี้ไม่น่ารักเท่า ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ยังติดตามอยู่ ส่วนใหญ่ก็เรียก “ครู” ดิฉันก็มีความดีใจ ตอนนั้นเขาคิดจะแหย่ว่า จะจับครูโยนหน้าต่าง เราก็ชักใจไม่ดีเหมือนกัน นี่คือความสนุกของเด็กวชิราวุธสมัยนั้น สิ่งที่เขาไปซนไปทำอะไรมาเขาบอกกับเราซึ่งเป็นครูผู้หญิง ๒ คน เขารู้ว่าครูผู้หญิงจะไม่ไปบอกใครจะเก็บเป็นความลับ เขามีเรื่องเล่าสนุกๆ เสมอ และบางที ถ้าเขาทำอะไรที่ทำให้เราต้องยุ่งยาก เขาจะดูที่สีหน้า เขาจะบอกว่า หยุดเถอะ ดูหน้าครูสิ เท่านั้นเอง ดิฉันก็เลยรู้สึกว่า ความกลัวที่มีอยู่ทีแรกนั้นมันค่อยๆ จางไป เวลาไปทานข้าว ทีแรกเราอิดออด ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่านั่งโต๊ะซึ่งมีครูผู้ใหญ่อยู่ เรา ๒ คนก็เร่อร่ากัน ที่รับประทานอาหารก็มีคนเสิฟอาหาร มีคนดูแล รู้สึกว่าวชิราวุธหัดคนให้เป็นระเบียบและเป็นผู้ดีพร้อม เพราะฉะนั้นในตอนแรกๆ ก็อึดอัดหลีกเลี่ยงจะไม่ทานข้าว ในที่สุดท่านเจ้าคุณก็บอกให้ทาน เราก็ทาน วันเสาร์กลับบ้านครึ่งวัน มีลูกศิษย์ ๒ คนขึ้นรถรางไปด้วย แล้วเราก็แจกสตางค์คนละสตางค์นั่งไปด้วยกัน สนุกทั้งครูทั้งนักเรียน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ดิฉันก็เกิดความรู้สึกประทับใจเช่นเดียวกับคุณหญิงสนองนาฏ คือรักลูกศิษย์ รักโรงเรียน มีความซาบซึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด คติธรรมทั้งหลายที่สอนในโรงเรียนนั้นได้นำเอามาใส่ใจ ไม่เฉพาะแต่นักเรียน ครูเองก็นำเอามาใส่ใจ ในคำที่ทรงสั่งสอนนั้น ขณะนี้เราก็ยังเอามาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ง่ายๆ ไม่ยากเย็นเลย ดิฉันมีความรู้สึกว่าที่โรงเรียนวชิราวุธนี้ ถึงแม้จะอยู่ระยะสั้นท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า ทำไมเมื่อเราชอบ เรารักโรงเรียนนี้ ทำไมถึงออก? ดิฉันมีความรู้สึกว่าตอนนั้นการเดินทางไม่ค่อยสะดวกจริงๆ และเป็นระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเราทั้งสองคนบางครั้งเราต้องเดินผ่านถนนนั้นไม่มีผู้คนอยู่ตรงนั้น ที่ตรงนั้นค่อนข้างเปลี่ยว

 

          ได้ทราบว่าคุณพระประทัตท่านโกรธมาก เมื่อเราออก ลูกศิษย์มาส่งกันเป็นแถวที่หน้าประตูโรงเรียน คุณพระประทัตไม่ยอมออกมารับลาของเราทั้ง ๒ คน ท่านโกรธจนกระทั่งดิฉันจะไปต่างประเทศ ดิฉันไปกราบท่าน ท่านไม่ยอมดูหน้า แต่ในที่สุดท่านก็ใจอ่อน ดิฉันรู้สึกว่าตอนนั้นเราใจไม่สู้ ถ้าใจสู้คงจะอยู่กับนักเรียนวชิราวุธไปอีกนาน”  [๑๗]

 

 

          ถึงแม้คุณหญิงสนองนาฏ จารุดิลก และคุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ ครูสตรีสองท่านแรกจะมาสอนนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเพียงหนึ่งปีการศึกษาในปีการศึกษา ๒๔๘๙ เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ทำให้วชิราวุธวิทยาลัยตระหนักถึงคุณภาพของครูสตรีว่า สามารถสอนนักเรียนชายล้วนได้ไม่แพ้ครูชายที่มีอยู่เดืม ในเวลาต่อมาจึงได้รับครูสตรีเข้ามาสอนนักเรียนทั้งชั้นมัธยมและประถมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

[ ]  กรมสามัญศึกษา

[ ]  คือ ผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม

[ ]  คือ ผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นประกาศนียบัตรประโยคครูประถม

[ ]  คุณหญิงสมจิตต์  ศรีธัญรัตน์

[ ]  ศาสตราจารย์ ดร. ม.ล.ตุ้ย  ชุมสาย เวลานั้นเป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ ]  พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านเคยเป็นผู้บัญชาการ (อธิการบดี) และคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน

[ ]  “ชีวิตการเป็นครูในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คุณหญิงสนองนาฎ จารุดิลก บรรยาย”, มานวสาร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๑, หน้า ๖๑.

[ ]  “ชีวิตการเป็นครูในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ บรรยาย”, มานวสาร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๑, หน้า ๖๖.

[ ]  (พระประทัตสุนทรสาร (เหล่ง  บุณยัษฐล) เวลานั้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา และผู้กำกับคณะจิตรลดา

[ ๑๐ ]  หลวงธรรมสารประสาสน์ (ศิลป์  ปริญญาตร) เปรียญ เป็นครูมาตั้งแต่สมัยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เช่นเดียวกับพระประทัตสุนทรสาร เล่ากันว่า ตลอดเวลาที่คุณตามาสอนที่วชิราวุธวิทยาลัยท่านคงนุ่งโจงสวมเสื้อราชปะแตนมาโดยตลอด

[ ๑๑ ]  เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย สอบไล่ชั้นมัธยมปลายได้เป็นที่ ๑ ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อจนจบชั้นปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา สมัยเป็นนักเรียนชื่อ อ๊อด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น กมล  ตามรัฐนิยม

[ ๑๒ ]  นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงสนั่น  แพทยานนท์ เป็นครูมาตั้งแต่สมัยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เวลานั้นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองนักเรียนและผู้กำกับคณะพญาไท

[ ๑๓ ]  ในระบบการศึกษาไทยยุคก่อน อาจารย์หมายถึงผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศหรือจบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ซึ่งเทียบคุณวุฒิชั้นอนุปริญญา ส่วนครู คือ ผู้ที่จบการศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาครูจากโรงเรียนฝึกหัดครู

[ ๑๔ ]  แขกยามชาวอินเดียที่โรงเรียนจ้างไว้เป็นเวรยามประจำโรงเรียน

[ ๑๕ ]  สองคนนี้เวลานั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๗

[ ๑๖ ]  “ชีวิตการเป็นครูในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คุณหญิงสนองนาฎ จารุดิลก บรรยาย”, มานวสาร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๑, หน้า ๖๒ - ๖๓.

[ ๑๗ ]  “ชีวิตการเป็นครูในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ บรรยาย”, มานวสาร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๑, หน้า ๖๖ - ๖๗.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |