โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๒. กฎมณเฑียรบาล

ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก (๒)

 

          การที่กฎหมายไทยในสมัยนั้นเปิดช่องให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน ทั้งที่เป็น "เมียแต่ง เมียน้อย หรือเมียลับ" นั้น ทรงพระราชดำริว่า อาจนำมาซึ่งปัญหาและข้อยุ่งยากต่างๆ ดังกรณี “พญาระกา” ซึ่งบานปลายกลายเป็นความวุ่นวายในกระทรวงยุติธรรมในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราชเสด็จไปทรงกำกับราชการในกระทรวงนั้นจนเหตุวุ่นวายนั้นจนความวุ่นวายนั้นสงบลง

 

          นอกจากนั้นการที่ชายไทยในสมัยนั้นนิยมสมจรด้วยหญิงเป็นครั้งคราว โดยอาการที่เรียกว่าเป็น "เมียลับ" คือไม่ออกหน้า และมิได้ร่วมอยู่เคหะสถานกันนั้น ไม่เป็นที่ต้องด้วยพระราชนิยม เพราะหญิงที่ประพฤติตนเช่นนั้นมักจะเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า "หญิงนครโสเภณี" หรือ หญิงที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าน่าที่ปกครองท้องที่ ตมพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค และ "หญิงแพศยา" ซึ่งเป็นหญิงที่มิใช่หญิงนครโสเภณี แต่มักสมจรกับชายหลายคนโอยอาการอันสำส่อนไม่เป็นระเบียบ ในกฎมณเฑียรบาลนี้จึงมีบทบัญญัติให้ข้าราชการในพระราชสำนักที่มีภรรยาแล้วต้องไปลงทะเบียนระบุนามภรรยาทุกคนทั้งที่ยังอยู่ด้วยกัน หย่าขาดจากกันแล้ว รวมทั้งนามภรรยาที่ถึงแก่กรรมแล้วทุกคน ไว้กับนายทะเบียนครอบครัวแห่งพระราชสำนัก โดยห้ามจดทะเบียนหญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงนครโสเภณีหรือหญิงแพศยาเป็นภรรยาของข้าราชสำนักโดยเด็ดขาด

 

          ส่วนข้าราชสำนักที่ประสงค์จะมีภรรยาภายหลังจากกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว หรือยังไม่เคยมีภรรยาแต่ประสงค์จะทำการสมรสกับหญิงใด ท่านให้ทำหนังสือขออนุญาตมีภรรยา ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยในหนังสือขออนุญาตนั้นให้แสดงความดังต่อไปนี้

 

          ๑. ยศ บรรดาศักดิ์ และนามเดิม นามสกุล กับตำแหน่งราชการ

          ๒. อายุ ปีเกิด

          ๓. รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละเท่าใด

          ๔. ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง

          ๕. ได้มีภรรยาอยู่แล้วหรือไม่ ถ้ามีชื่อไร

          ๖. ผู้ที่จะตกแต่งหรือเป็นภรรยาใหม่นั้น ชื่อไร

          ๗. นามบิดามารดาของหญิง และชาติใด ในบังคับรัฐบาลใด

          ๘. หลักฐาน คือบิดามารดาหรือตัวหญิงนั้นมีทางทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไรอยู่หรือไม่ มีทรัพย์สมบัติอย่างไรบ้าง

          ๙. หญิงนั้นมีอายุเท่าไร เกิดปีอะไร

          ๑๐. หญิงนั้นเคยมีผัวแล้วหรือยัง ถ้าเคยมีแล้ ให้ชี้แจงด้วยว่า ผัวหย่าหรือเป็นม่ายโดยมรณภาพแห่งผัว

          ๑๑. ความประพฤติของหญิงนั้น เท่าที่รู้เห็นอยู่เป็นอย่างไร

 

          เมื่อผู้บังคับชาของผู้ขออนุญาตมีภรรยาได้รับหนังสือขออนุญาตนั้นแล้ว ท่านให้สอบสวนดูให้ได้ความแน่นอน ว่าตามรายการที่มีอยู่ในหนังสือนั้นเป็นการถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ถูกต้องให้พูดจาว่ากล่าวให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขข้อความเสียให้ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงนั้นตรวจสอบว่า

 

          ๑. ผู้ขอมีภรรยาเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงพอควรแก่ยศบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง

          ๒. ได้รับพระราชทานเงินเดือนพอสมควรจะเลี้ยงครอบครัวได้

          ๓. มีอายุเกินกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ ๑๙ แล้ว

          ๔. เป็นผู้ที่รู้จักผิดและชอบ ไม่เหลวไหลลังเล

          ๕. เป็นผู้มีเคหะสถานเป็นหลักแหล่งหรือจะได้มี เมื่อมีภรรยา

          ๖. เป็นผู้ที่ไม่มีกามโรคเรื้อรังประจำตัวอยู่ยังไม่หาย

          ๗. หญิงที่จะเป็นภรรยาเป็นผู้มีหลักฐาน ไม่ใช่หญิงนครโสเภณีหรือหญิงแพศยา หรือหญิงที่มักสมจรสำส่อน

          ๘. หญิงนั้นมีอายุเกินกว่า ๑๖ ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปี่ที่แล้ว

          ๙. หญิงนั้นมิใช่ภรรยาผู้อื่นอยู่ในขณะที่ขออนุญาต

          ๑๐. หญิงนั้นมิใช่ผู้ที่หย่ากับสามีเพราะมีชู้

 

          เมื่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงได้ตรวจสอบตลอดแล้ว ท่านให้ลงความเห็นของตนกำกับลงในหนังสือนั้น ว่า "เห็นสมควร" หรือ "ไม่เห็นสมควร" สุดแท้แต่ความเห็น ถ้าไม่เห็นสมควรต้องอธิบายด้วยว่าเพราะเหตุใด เมื่อได้ตรวจและลงความเห็นแล้ว จึงให้ส่งหนังสือพร้อมด้วยความเห็นขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชาโดยตรงเหนือตนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และให้ปฏิบัติเช่นนี้เป็นลำดับไปจนถึงผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดในกรมแห่งผู้ขออนุญาต เว้นแต่ผู้ขออนุญาตเป็นข้าราชการตั้งแต่ชั้นยศเสวกเอก หรือนายพันเอก และหัวหมื่นขึ้นไป รวมทั้งมหาดเล็กห้องพระบรรทมทุกชั้นยศต้องนำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตด้วย

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือผู้บังคับบัญชาสูงสุดแห่งกรมของผู้อนุญาตได้พิจารณาเห็นสมควรให้ผู้ขอมีภรรยาได้แล้ว ท่านให้ทำใบอนุญาต ลงนามและประทับตราตำแหน่งผู้อนุญาตให้ไว้เป็นสำคัญ

 

          อนึ่ง ข้าราชสำนักที่ประสงค์จะทำการสมรสกับหญิงชาวต่างประเทศหรือคนในบังคับรัฐบาลต่างประเทศ ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะทำการสมรสได้

 

 

ใบอนุญาตให้มีภรรยาของ จ่า นายจ่ารง (แจ่ม สุนทรเวช) กับนางสาวอุทุมพร วีระไวทยะ

 

 

          นอกจากข้อกำหนดเรื่องการขออนุญาตมีภรรยาแล้ว ในกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ยังได้มีบทบัญญัติในเรื่องขออนุญาตมีเคหะสถาน ซึ่งผู้ขออนุญาตต้องยื่นหนังสือแสดงข้อความดังต่อไปนี้

 

          ๑. ผู้ขอมีภรรยาเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงพอควรแก่ยศบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง

          ๒. ได้รับพระราชทานเงินเดือนพอสมควรจะเลี้ยงครอบครัวได้

          ๓. มีอายุเกินกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ ๑๙ แล้ว

          ๔. เป็นผู้ที่รู้จักผิดและชอบ ไม่เหลวไหลลังเล

          ๕. เป็นคนโสดหรือมีครอบครัว

          ๖. ในขณะนี้อยู่ที่ไหน คืออยู่ประจำในสถานที่ภายในพระราชฐาน หรือเรือนหลวงแห่งใด หรือเช่าอยู่ หรืออยุ่กับบิดามารดา หรืออาศัยผู้ใด และที่อยู่นั้นอยู่แห่งใด

          ๗. บ้านที่จะไปอยู่ใหม่นี้ สร้างขึ้นใหม่ด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง หรือซื้อ หรือเช่า หรือใครให้ หรือจะอาศัยอยู่กับผู้ใด

          ๘. บ้านใหม่นี้อยู่แห่งหนตำบลใด ต้องบอกนามถนน ลั้ลข (ถ้ามี)

          ๙. เมื่อย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่แล้ว บ้านเก่าจะยังเป็นบ้านของตนหรือจะไม่ใช้เป็นที่สำนักอีกต่อไป

 

          สำหรับข้าราชสำนักที่ยังไม่เคยมีภรรยาหรือได้หย่าร้าร้าง หรือได้ตกลงแยกกันอยู่กับภรรยานั้นท่านให้ถือว่าเป็นคนโสด ส่วนผู้ที่มีภรรยาแล้วแต่แต่ภรรยาถึงแก่กรรม และยังมิได้มีภรรยาใหม่ท่านให้ถือว่าเป็นคนม่าย และผู้ซึ่งมิได้บ้านเรือนอันตนเป็นเจ้าของ คือมิได้เป็นผู้ถือหนังสือสำคัญสำหรับเป็นเจ้าของที่ หรือมิได้เป็นผู้เช่าที่หรือเรือน หากอาศัยผู้อื่นเขาอยู่ ท่านว่าเป็นคนไม่มีเคหะสถาน รวมทั้งผู้ที่ยังมิได้จดทะเบียนเคหะสถาน ท่านก็ให้ถือเอาเป็นไม่มีคหะสถาน

 

          คนโสดและคนไม่มีเคหะสถานนี้ ถ้าผู้บังคับบัญชาสูงสุดเห็นสมควรจะกำหนดให้อยู่ประจำในสถนที่ราชการแห่งใดๆ เพื่อสะดวกแก่หน้าที่ราชการแห่งผู้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจำจะต้องอยู่ประจำเฉพาะแต่ในที่ซึ่งผู้บังคับบัญชากำหนดให้อยู่ จะเลือกไปอยู่แห่งอื่นไม่ได้ นอกจากที่จะได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ และหากจะไปนอนค้างยู่แห่งใดนอกจากที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสำนักนั้น แม้จะไปเพียงคืนเดียวก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงก่อนจึงจะไปได้ ส่วนคนหม้ายที่มีอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีบริบูรณ์ลงมา ถ้าผู้บังคับบัญชาสงสุดเห็นสมควรจพกำหนดให้อยู่ประจำในสถานที่ราชการเพื่อสะดวกแก่หน้าที่ราชการก็กำหนดได้ และต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคนโสดทุกประการ

 

          อนึ่ง เนื่องจากข้าราชสำนักที่อยู่บังคับแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ อาจประพฤติผิดมากและน้อยต่างสถานกัน ในกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้จึงได้กำหนดชั้นความผิดของผู้ละเมิดกฎนี้ไว้เป็น ๓ ชั้น คือ

 

          ๑. ชั้นคุรุกรรม คือเป็นความผิดอย่างหนัก

          ๒. ชั้นมัธยมกรรม คือเป็นเป็นความผิดอย่างกลาง

          ๓. ชั้นลหุกรรม คือเป็นความผิดอย่างเบา

 

          ทั้งนี้การลงทัณฑ์แก่ผู้ละเมิดกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านกำหนดไว้เป็น ๑๐ สถานตามลำดับหนักเบาแห่งฐานความผิด ดังนี้

 

          ๑. ภาคทัณฑ์ คือการงดการลงโทษไว้ครั้ง ๑ ก่อน โดยฐานกรุณา ผู้ที่สมควรจะได้รับภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดแต่เพียงเล็กน้อยโดยความโง่เขลา มิได้มีเจตนาชั่วร้าย หรือจงใจจะฝ่าฝืนกฎนี้ และผู้ที่ได้รับภาคทัณฑ์แล้ว นับว่าเหมือนได้ล้างบาป หาโทษติดตัวต่อไปมิได้

          ๒. ติโทษ คือชี้แจงให้ผู้ผิดเข้าใจชัดเจนว่า ตนได้กระทำความผิดเช่นนั้นๆ ควรได้รับโทษเช่นนั้นๆ แต่หากมีข้อควรกรุณาอยู่บ้าง อย่างนั้นๆ จึงรอการลงโทษไว้ครั้ง ๑ แต่ถ้าต่อไปกระทำความผิดอีก จะต้องเอาโทษเดิมนั้นบวกเข้ากับโทษที่จะพึงต้องรับใหม่

 

          ๓. กัก คือให้ผู้ต้องโทษอยู่ภายในจังหวัดใดจังหวัด ๑ อันเป็นจังหวัดสถานที่ราชการ และต้องรายงานตนต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงทุกวัน

          ๔. กักเงินเดือน คือจ่ายให้เพียงส่วน ๑ ใน ๔ หรือกึ่ง ๑ เป็นอย่างมาก นอกนั้นให้เจ้าพนักงานแผนกบัญชีจ่ายให้เมื่อพ้นกำหนดโทษ แต่โทษนี้ให้ลงแต่เฉพาะคนโสดซึ่งไม่ต้องเลี้ยงครอบครัว เพื่อป้องกันการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือในการเที่ยวเตรเป็นต้น

          ๕. ทัณฑกรรม คือให้ทำการงานอันต้องออกกำลังกายผิดกว่าปกติ แต่ทัณฑกรรมต้องเลือกให้กระทำการอันเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เปลืองแรงเปล่า ทัณฑกรรมในวัน ๑ ห้ามมิให้กระทำเกินกว่า ๓ ชั่วโมง และห้ามมิให้กระทำเกินกว่า ๗ วัน

          ๖. ขัง คือขังไว้ในห้องแห่งใดแห่ง ๑ อันเป็นที่มั่นคง เช่นที่กรมสนมพลเรือนเป็นตัวอย่าง หรือจะขังไว้ในที่ขังของกรมเองก็ได ในที่ห้องขังนั้นต้องให้มีแสงสว่างและมีทางอากาศเดินได้สะดวก กับต้องให้ผู้ถูกขังมีเวลาได้ออกมาเดินนอกห้องขังวันละ ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย กับต้องให้ได้กินอาหารอิ่มหนำทุกวัน วันละ ๒ มื้อเป็นอย่างน้อย

          ๗. จำขัง คือขังด้วย และลงเครื่องพันธนาการด้วย

          ๘. พักราชการ คือต้องออกจากตำแหน่งหน้าที่ประจำโดยไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือนเบี้ยหวัดอย่างใดๆ แต่ยังมีหนทางที่จะกลับเข้ารับราชการได้อีกในกาลเบื้องหน้า

          ๙. คัดออกจากราชการ คือให้ออกจากหน้าที่ประจำการโดยไม่ได้รับเบี้ยหวัดหรือเบี้ยบำนาญ

          ๑๐. ถอดจากยศบรรดาศักดิ์

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |