โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๒. ทรัพย์สินและเงินผลประโยชน์วชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

โฉนดที่ดินสวนกระจังซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งมีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์ทรงได้มาเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติแล้วตกเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นโดยผลของกฎหมายฉบับนี้จึงทำให้ที่ดินสวนกระจังซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่แรกเสด็จเสวยสิริราชสมบัติในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่เพราะเมื่อมีการออกโฉนดที่ดินสวนกระจังที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น กระทรวงนครบาลในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินได้ระบุพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ที่ดินผืนนี้จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์โดยผลแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

          ซ้ำร้ายในสมัยผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มารังวัดสอบเขตที่ดินสวนกระจังที่เป็นที่ตั้งวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ผู้เขียนซึ่งเวลานั้นเป็นครูวชิราวุธวิทยาลัยเห็นผิดสังเกต จึงเริ่มสืบเสาะและทราบความจากแหล่งข่าวในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีดำริที่จะเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินจากโรงเรียน เมื่อทราบความดังกล่าวแล้วผู้เขียนได้นำความเรียนปฏิบัติท่านผู้บังคับการ เมื่อท่านผู้บังคับการทราบความตลอดแล้วได้มีบัญชาให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่า ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวชิราวุธวิทยาลัยนี้เป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์ ซึ่งพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ มาก็ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกโรงเรียนตลอดมา หากสำนักงานทรัพย์สินฯ จะมาเก็บค่าเช่าที่ดินจากโรงเรียนซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนก็ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติกำหนดเงินค่าเช่านี้ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของโรงเรียน ดังนี้จึงเสมือนสำนักงานทรัพย์สินฯ เรียกเก็บเงินจากพระราชทรัพย์ไปเข้าบัญชีสำนักงานทรัพย์สินฯ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เก็บเงินจากกระเป๋าซ้ายไปใส่กระเป๋าขวา ซึ่งคงจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ หลังจากที่โรงเรียนมีหนังสือตอบกลับไปดังว่า ก็ปรากฏว่า เจ้าพนักงานที่มารังวัดสอบเขตที่ดินก็เลิกรังวัดสอบเขตที่ดินไปทั้งที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และไม่ปรากฏว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มาเรียกเก็บเงินค่าที่ดินจากโรงเรียนอีกเลย

 

          นอกจากที่ดินที่สวนกระจังที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ต่อมาวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางตรี พระยาสราชสาสนโสภณ (สอาด ชูโต) ราชเลขานุการในพระองค์เชิญกระแสพระราชดำรัสแจ้งไปยังจางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ความว่า

 

          "มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า ที่ดินริมถนนราชดำริห์ ตำบลประทุมวัน แปลง ๑ ดังปรากฏในแผนที่ซึ่งกระผมได้ส่งมานี้ เปนของกระทรวงธรรมการคือ เดิมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาล เปนเจ้าน่าที่จัดซื้อจากราษฎรหลายราย และส่วนของพระคลังข้างที่ด้วย มอบให้แก่กระทรวงธรรมการเพื่อจัดการปลูกสร้างโรงเรียนราชวิทยาลัย แต่บัดนี้โรงเรียนนั้นก็หาได้ปลูกสร้างขึ้นในที่นี้ไม่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่รายนี้ให้เปนที่ผลประโยชน์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงสืบไปแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใต้เท้าส่งโฉนดสำหรับที่รายนี้ไปยังกรมราชเลขานุการในพระองค์"  []

 

 

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๗๔

แสดงที่ตั้งที่ดินพระราชทานริมถนนราชดำริพร้อมตึกเช่า ๘ หลัง

 

 

          เมื่อกระทรวงธรรมการส่งโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปยังกรมราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวแก่กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้มอบหมายให้กรมพระคลังข้างที่ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนดังกล่าวจากกระทรวงธรรมการมาเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และได้มอบหมายให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ในนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่ดินผืนนี้จึงมิได้ถูกโอนไปเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ทั้งที่กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้รักษาโฉนดที่ดินผืนนี้เช่นเดียวกับที่ดินสวนกระจัง

 

          อนึ่ง เมื่อเงินทุนพระราชทาน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ใกล้จะครบกำหนดฝาก ๑๐ ปีตามที่ตกลงกันไว้ เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ไปยังพระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ว่า

 

          "เงินที่พระราชทานให้ฝากแบงก์เปนรายปีตั้งไว้เปนทุนบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อแรกตั้งเปนจำนวนทุน ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินจำนวนนั้น ซึ่งกรมพระคลังข้างที่เก็บรักษาและนำฝากไว้ที่ธนาคารเวลานี้นั้น กรมมหาดเล็กเห็นว่า จะนำฝากไว้ที่ธนาคารเป็นทุนนอนอยู่เช่นนี้ ผลประโยชน์ที่ได้จากการฝากก็จะมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ถ้าแม้ว่าได้โอนเงินรายที่กล่าวนี้ไปหาประโยชน์โดยทางอื่น เช่น จัดการปลูกตึกให้คนเช่าเก็บผลประโยชน์เป็นค่าบำรุงโรงเรียน ปีหนึ่งคงจะได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นจำนวนมากกว่าฝากธนาคารหลายเท่า

 

          เพราะฉนั้น จึงขอประทานเรียนหาฤามายังเจ้าคุณเพื่อดำริห์ ถ้าเห็นเป็นการสมควรแล้ว ขอเจ้าคุณได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต โอนเงินทุนและเงินดอกเบี้ยของโรงเรียนไปจัดการปลูกสร้างตึกให้เช่าหาประโยชน์ต่อไป"

 

 

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

 

 

          เมื่ออธิบดีกรมพระคลังข้างที่นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กจึงได้มอบหมายให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้างตึก ๓ หลังขึ้นในที่ดินริมถนนราชดำริขึ้นก่อน

 

          ในการก่อสร้างก่อสร้างตึกที่ริมถนนราชดำรินั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัย เรือเอก โรจน์ ไกรฤกษ์ ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เจ้าคุณพ่อของท่านได้เลือกบ้านตุ๊กตาพอร์ซเลนที่ท่านสะสมไว้มาเป็นต้นแบบ ตึกทั้ง ๓ หลังนั้นจึงมีลักษณะเป็นตึกทรงยุโรปที่มีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามแบบบ้านตุ๊กตาที่ท่านสะสมไว้

 

          ในประวัติพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ได้กล่าวไว้ว่า "เริ่มลงมือจัดทำแบบแปลนและได้ทำสัญญาให้ช่างก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ กิจการแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้เสด็จทอดพระเนตรและประทับเสวยน้ำชาเวลาบ่ายเป็นที่พอพระราชหฤทัย"

 

          ตึกทั้ง ๓ หลังนี้มีผู้เช่าเป็นชาวต่างประเทศเช่าครบทั้ง ๓ หลัง และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงเรียนมีรายได้จากค่าเช่าตึกทั้ง ๓ หลังนี้เป็นเงินถึง ๙,๓๕๕ บาท และถึงแม้จะหักค่าภาษีโรงร้าน ค่าซ่อมบำรุงอาคารและค่าประกันอัคคีภัยแล้ว โรงเรียนก็ยังคงมีรายได้เหลือจากค่าเช่าบ้านทั้งสามหลังนั้นเป็นจำนวนเงินกว่า ๖,๐๐๐ บาท ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยที่เคยได้รับจากแบงก์สยามกัมมาจลหลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจัดการสร้างตึกเพิ่มเติมในที่ดินริมถนนราชดำริอีก ๕ หลัง "เริ่มสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๖ สร้างสำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ค่าก่อสร้างทั้ง ๒ คราว รวม ๘ หลัง รวมทั้งค่าไฟฟ้า ประปา เขื่อน ถนน สนามและรั้วเป็นเงิน ๓๔๕,๘๗๔ บาท ๙ สตางค์"

 

 
 
 

 
[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศธ. ๕๖/๖๘ เรื่อง โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ของกระทรวงธรรมการ ตำบลปทุมวันให้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๕ กรกฎาคม - ๑๖ สิงหาคม ๒๔๖๒)
 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |