โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๘. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑๓)

 

          ต่อมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พบหลักฐานว่า พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นได้จัดให้นักเรียนคณะโตทั้ง ๔ คณะ คือ คณะผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา และพญาไท แข่งขันกีฬาระหว่างคณะ โดยได้นำพระราชนิยมในการจัดแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการขางขัน โดยก่อนแข่งขันกำหนดให้นักกีฬาและกองเชียรที่คณะที่จะลงแข่งขันกันเดินแถวเข้าสู่สนามโดยร้องเพลง “จรรยานักกีฬา”

 

 

นักกีฬาคณะพญาไทพร้อมกองเชียร์เดินลงสนาม พร้อมร้องเพลงจรรยานักกีฬา

 

 

          เพลงจรรยานักกีฬา เป็นบทประพันธ์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ที่ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาขอให้ท่านผู้หญิงแต่งเนื้อร้องให้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสอนนักกีฬาและกองเชียร์ให้เคารพในกฎกติกามารยาทของการแข่งขันด้วยน้ำใจสุจริต รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย [] เนื้อร้องของบทเพลงนี้จึงมีดังนี้

 

          เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด

จงใจฟัดเหวี่ยงปล้ำขม้ำหมาย

แต่พวกเรายุวชนคนผู้ชาย

กีฬารายรักเล่นให้เป็นคุณ

          ไม่ทะเลาะแว้งแย่งชนะ

ไม่เกะกะกวนยั่งให้หัวหมุน

เพราะเรามัมารยาทชาติสกุล

ไม่หุนหันหยาบคายร้ายแรง

          เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด

เพราะเป็นสัตว์ไร้คิดจิตจึงเขว

แต่คนดีมีใจไม่รวนเร

ย่อมฮาเฮเล่ยกีฬาประสามิตร

 

          ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนเมื่อทั้งสองฝ่ายเดินลงสนาม จะร้องเพลงจรรยานักกีฒาประกอบการเดิน พอเดินไปได้เกือบสุดสนามเพิ่งร้องเพลงจบไปเพียงท่อนที่สอง ก็เปล่งเสียง “ชโย” พร้อมกัน แล้วนักกีฬาทั้งสองฝ่ายก็แยกไปอบอุ่นร่างกาย ในขณะที่กองเชียร์ก็แยกย้ายกันเข้าประจำที่ที่ริมสนาม

 

          ต่อมาในสมัยผู้บังคับการ ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ท่านปรารภให้ฟังว่า เพลงนี้ร้องกันไม่เคยจบสักที ท่านเลยเปลี่ยนวิธีการก่อนแข่งขันให้นักกีฬาและกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายมาตั้งแถวที่ริมสนามหน้าที่นั่งประธาน แล้วให้ร้องเพลงจรรยานักกีฬาจนจบเพลง แล้วจึงแยกย้ายกันไปอบอุ่นร่างกายและปนะจำที่ที่ริมขอบสนาม

 

          เมื่ออบอุ่นร่างกายพร้อมแล้ว ผู้ตัดสินเรียกนักกีฬาทั้งสองฝ่ายมาเข้าแถวที่หน้าที่นั่งประธาน พร้อมกันคำนับประธานแล้ว ต่างก็แยกย้ายลงประจำตำแหน่งในสนามและเริ่มการแข่งขัน จบการแข่งขันแล้วผู้จัดสินเรียกนักกีฬาทั้งสองฝ่ายไปตั้งแถวที่หน้าที่นั่งประธาน คำนับประธานอีกครั้ง แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับคณะ แต่ในวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนั้น เมื่อจบการแข่งขันผู้ตัดสินและนักกีฬาไปตั้งแถวที่หน้าที่นั่งประธานแล้ว กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายพร้อมธงประจำคณะจะมาตั้งแถวอยูด้านหลังแถวนักกีฬาคณะของตน กรรมการสมาคมกีฬาซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกกีฬาประเภทนั้นๆ จะกล่าวรายงานผลการแข่งขันให้ประธานทราบและเชิญประธานมอบถ้วยรางวัลให้แก่หัวหน้าชุดที่ชนะการแข่งขันในวันนั้น

 

 

คณะที่ได้รับโล่รางวัล เปล่งชโยให้คณะคู่แข่งในการแข่งขันเทนนิสรอบชิงชนะเลิศ

 

 

          ครั้นรับมอบถ้วยรางวัลและกลับเข้าประจำแถวแล้ว หัวหน้าชุดที่ชนะการแข่งขันจะเปล่งเสียงนำ “ชโย” ให้แก่คณะที่เป็นคู่แข่งขัน นักกีฬาและกองเชียร์คณะที่ชนะการแข่งขันจะพร้อมกันเปล่งเสียง ชโย ให้แก่คณะคู่แข่งขัน ๓ ครั้ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็จะเปล่งชโยตอบรับ ๓ ครั้งเช่นกัน จากนั้นคณะที่เป็น

 

 

แห่ถ้วยไปรอบโรงเรียน

 

 

          ฝ่ายแพ้ก็จะแยกย้ายกันกลับไปคณะของตน ส่วนคณะที่ชนะการแข่งขันในวันนั้นก็จะตั้งแถวเดินแห่ถ้วยไปรอบโรงเรียน เวลาเดินผ่านคณะไหน ผู้เป็นหัวหน้าชุดก็จะนำเปล่งเสียงชโยให้แก่คณะนั้น ๓ ครั้ง นักเรียนที่อยู่ในคณะก็จะพร้อมกันเปล่งเสียงชโยแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะ

 

 

หัวหน้าคณะที่ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ สวมชุดสามารถกีฬาของโรงเรียน

เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล แล้วตั้งแถวรอส่งเสด็จ

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปี

 

 

          เมื่อใกล้จะจบปีการศึกษาโรงเรียนได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล ทอดพระเนตรผลงานและการกรีฑาของนักเรียนแล้ว ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัวหน้าคณะที่ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ในปีที่ผ่านมา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัล แล้วไปตั้งแถวรอส่งเสด็จที่หน้าพลับพลาที่ประทับ

 

 

ระเบียงหน้าคณะผู้บังคับการ มีโล่กีฬาประเภทต่างๆ ประดับที่ผนัง

 

 

          อนึ่ง เมื่อเปิดปีการศึกษาถัดมาจะมีการมอบโล่พื้น เป็นสีคณะ จารึกชื่อนักกีฬาที่ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาชนิดนั้นๆ ไปประดับเป็นเกียรติยศที่ระเบียงหน้าคณะ การจารึกชื่อบนโล่กีฬานี้เรียกกันติกปากว่า “ติดโล่” มาจนถึงทุกวันนี้

 

 
 
 

[ ]  บทเพลงนี้ท่านผู้หญิงดุษฑีมาลา มาลากุล กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อท่านผู้บังคับการขอให้ท่านประพันธ์บทเพลงเพื่อให้นักเรียนร้องก่อนแข่งขันกีฬา ในชั้นต้นท่านยังคิดไม่ออก จนเห็นแมวกับหมากัดกัน เพลงจรรยานักกีฬานี้จึงมีเนื้อร้องซึ่งท่านเรียกว่า “เพลงแมวหมากัดกัน”

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |