โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๖๐. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๒)

 

สิ่งสำคัญที่ทรงริเริ่ม

 

        นอกจากพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสรรสร้างไว้แก่ประเทศชาติดังได้กล่าวมาแล้ว ยังคงปรากฏพระราชกรณียกิจสำคัญที่ได้ทรงริเริ่มไว้ และยังคงยั่งยืนคู่ชาติไทยและคนไทยสืบมาถึงทุกวันนี้ ดังนี้

 

        ๑) โปรดให้เก็บภาษีอากรจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

                สืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์แผ่นดิน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลจัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระราชดำริว่า

 

 

          “...ด้วยแต่ก่อนๆ มาการเก็บภาษีที่ดินและโรงร้าน กรมพระคลังข้างที่ยังไม่ได้เคยเสียภาษีให้เจ้าพนักงานสรรพกรเลย บัดนี้ฉันมาไตรตรองดูเห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัวก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบคนทั่วไปซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะไปเก็บเอากับเขา ของๆ ตัวเองจะเกียจกันเอาไว้ เพราะคนธรรมดาทั่วไปใครที่มีทรัพย์สมบัติเป็นที่ดินหรือโรงร้าน เมื่อถึงคราวที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษีเขาก็ต้องเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานตามส่วนมากแลน้อยของทรัพย์สินที่เขามีอยู่ ตัวฉันเองถ้านอกจากในทางราชการแล้วฉันก็ถืออยู่ว่าฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันที่มีอยู่ก็นับเป็นว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของฉันที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติแลบ้านเมืองอย่างคนธรรมดาสามัญด้วยเช่นกัน เพราะฉนั้นตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไปขอให้เจ้าพระยายมราชเก็บภาษีในที่ดินและโรงร้าน ซึ่งนับว่าเป็นสมบัติส่วนตัวฉันเองอย่างเช่นที่ได้เคยเก็บมาจากคนอื่นๆ ทั่วไปนั้น...”  []

 

 

                กระทรวงนครบาลจึงได้เริ่มเก็บภาษีที่ดินและโรงร้านจาก พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และอาจจะกล่าวได้ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่พระราชทานความเสมอภาคทางภาษีอากร เพราะถึงปัจจุบันนี้ยังคงพบว่ามีพระมหากษัตริย์อีกหลายประเทศที่ยังคงสงวนพระราชอำนาจในการที่จะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่

 

                นอกจากนั้นเมื่อคราวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังได้โปรดพระราชทานแนวพระราชดำริให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไปยกร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีจากบุคคลที่ร่ำรวย ทั้งภาษีกำไรจากการค้าขายและภาษีมรดก แต่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไม่อาจสนองกระแสพระราชดำรินั้นได้ตราบจนสิ้นรัชสมัย แม้กระนั้นก็ยังอาจกล่าวได้ว่า การตราพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการเรียกเก็บภาษีเงินได้ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ล้วนเกิดจากแนวระราชดำริที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๒

 

 

        ๒) การใช้พุทธศักราช

                เนื่องมาแต่การใช้ศักราชในราชการ ซึ่งแต่เดิมมาเคยใช้จุลศักราชมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เปลี่ยนมาใช้ รัตนโกสินทรศก แทน แต่ในฝ่าย คณะสงฆ์นั้นยังคงใช้พุทธศักราชตามแบบธรรมเนียมที่ใช้กันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ทรงพระราชดำริว่า

 

          “...ศักราชรัตนโกสินทร ซึ่งใช้อยู่ในราชการเดี๋ยวนี้ มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือเปนศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณใดๆ ในอดีตภาคก็ขีดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึงเรื่องราวที่ก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้วก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง และในฃ้างวัดใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยใหม่ที่อยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มักหันไปใคฤสตศักราช ซึ่งดูเปนการเสียรัศมีอยู่ จึ่งเห็นว่าควรใช้พุทธศักราช จะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวง เปนศักราชที่คนไทยเรารู้จักซึมทราบดีอยู่แล้ว ทั้งในประกาศใช้พุทธศักราชอยู่แล้ว และอีกประการ ๑ ในเวลานี้ก็มีแต่เมืองไทยเมืองเดียวที่มีพระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนา ดูเปนการชอบมาพากลอยู่มาก ...ในส่วนทางพุทธจักรเสด็จ  [] ก็ทรงยอมรับแล้วว่าให้เริ่มปีวันที่ ๑ เมษายน เพราะกรมเทววงษ์  [] ได้ทรงคำนวณดูตามทางปักขคณ ได้ความว่า วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น อันที่จริงตกในกลางเดือนเมษายน ที่คลาศเคลื่อนเลื่อนเลยไปนั้น เปนโทษแห่งประดิทินที่เทียบผิดคลาศมาทีละน้อยๆ เท่านั้น...”  []

 

 

                จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มใช้พุทธศักราชเป็นศักราชในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

        ๓) ขนานนามสกุล

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยมีบัญญัติให้คนไทยทุกคนใช้นามสกุล เพื่อสะดวกแก่การจดทะเบียนคนเกิด คนตาย และทำงานสมรส นอกจากนั้นยังได้ทรงกล่าวถึงประโยชน์ของการมีนามสกุลไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ เล่ม ๓ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม” ว่า

 

 

          “...การมีชื่อตระกูลเปนความสดวกมาก อย่างต่ำๆ ที่ใครๆ ก็ย่อมจะมองแลเห็นได้ คือชื่อคนในทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปนกัน แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญกว่านั้น คือจะทำให้เรารู้จักรำฤกถึงบรรพบุรุษของตนผู้ได้อุสาหก่อร่างสร้างตัวมา และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เปนเผ่าพันธุ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำจะต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้ และการที่จะตั้งใจเช่นนี้ ถ้ามีชื่อที่ต้องรักษามิให้เสื่อมทรามไปแล้ว ย่อมจะทำให้เปนเครื่องยึดเหนี่ยวหน่วงใจคนมิให้ตามใจตนไปฝ่ายเดียว จะถือว่า “ตัวใครก็ตัวใคร” ไม่ได้อีกต่อไป จะต้องรักษาทั้งชื่อของตัวเอง ทั้งชื่อของตระกูลด้วยอีกส่วน ๑...”  []

 

 

                ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ทรงเริ่มใช้นามสกุล “d’Ayuthya” เป็นครั้งแรก เมื่อทรงเล่นเป็นพลเมืองใน “The New Republic” คราวทรงทดลองจัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกับพระสหายชาวอเมริกันที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ต่อมาวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงลงทะเบียนเป็นสมาชิกหมายเลข ๑ แห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงลงลายพระราชหัตถ์ในช่องนามสกุลว่า “พระราชวงศ์จักรี” แต่เมื่อทรงเป็นทวยนาครคนหนึ่งของดุสิตธานีนั้น ทรงใช้นามสกุลว่า “ณ กรุงเทพ” ซึ่งหมายถึงกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ทั้งยังได้ทรงคิดนามสกุลพระราชทานแก่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน รวมทั้งลูกเสือและนักเรียน ดังที่ทรงบันทึกไว้ใน “ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป” เป็นจำนวนถึง ๖,๔๓๒ นามสกุล โดยนามสกุลชุดแรกที่โปรดพระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ คือ

 

๑) สุขุม พระราชทาน เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เสนาบดีกระทรวงนครบาล
๒) มาลากุล ณ กรุงเทพ พระราชทาน พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) []
เสนาบดีกระทรวงวัง
) พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ พระราชทาน พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ) [] จางวางมหาดเล็ก
ห้องพระบรรทม
) ณ มหาไชย พระราชทาน พระยาเทพทวาราวดี (สาย) [] อธิบดีกรมมหาดเล็ก
) ไกรฤกษ์ พระราชทาน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) อธิบดีกรมชาวที่ และ
พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ) [๑๐] กรรมการศาลฎีกา

 

                นามสกุลสุดท้ายที่พระราชทานไว้เป็นลำดับที่ ๖๔๓๒ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ คือ นามสกุล ตันตริยานนท์ พระราชทานแก่ นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวร กรมบาญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

 

 

        ๔) ธงไตรรงค์

                มูลเหตุสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นกล่าวกันว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากธงช้างซึ่งเป็นมีภาพพิมพ์รูปช้างบนผืนธงสีแดงนั้นเป็นของที่ต้องสั่งทำจากต่างประเทศ ทั้งมีราคาสูง นอกจากนั้นยังปรากฏอีกว่า “...ธงสำหรับชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลสาธารณชน  [๑๑] บรรดาที่เปนชาติชาวสยามยังไม่เหมาะ โดยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้แม้แลแต่ไกลแล้ว เห็นผิดแผกกับธงราชการน้อยนัก แลทั้งรูปช้างที่ใช้กันอยู่ก็ไม่งดงาม จนเกือบไม่ทราบว่าช้างหรืออะไร เปนเพราะวาดรูปช้างนั้นเปนการลำบากนั่นเอง...”  [๑๒]

 

                แต่มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์นั้น “...เพราะทรงพระราชดำริห์ว่า ธงช้างทำยาก และไม่คร่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ ที่มีขายอยู่ดาษดื่นในตลาดมักจะเปนธงที่ทำมาจากต่างประเทศ ประเทศที่ทำไม่รู้จักช้าง ทำรูปร่างไม่น่าดู ทั้งคนใช้ถ้าไม่ระวังก็มักจะชักธงกลับ...”  [๑๓]  ดังเช่นที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรราษฎรประดับธงช้างกลับหัว “...ในลักษณะช้างนอนหงาย, เอาสี่เท้าชี้ฟ้า...”  [๑๔] เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ คราวเสด็จพระราชดำเนินไปวัดเขาสะแกกรัง เมืองอุทัยธานีว่า “...เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นธงผืนที่กล่าวนั้น, ..ฉับพลันสายพระเนตรก็แปรไปเมินมองทางอื่น, เสมือนมิได้มีสิ่งใดเป็นที่พึงสังเกตผิดปกติเกิดขึ้น, แต่ทว่าสีพระพักตร์นั่นสิ, ...ดูประหนึ่งจะทรงมีความสะเทือนพระราชหฤทัยไปในทางสลดสังเวชมากกว่าทรงพระพิโรธ, หรือไม่พอพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง,...”  [๑๕] อาจจะเป็นเพราะทรงตระหนักในพระราชหฤทัยถึงความรีบร้อนของราษฎรที่มุ่งหมายจะแสดงความจงรักภักดีให้ปรากฏ แต่การชักธงชาติกลับหัวนี้มีแบบธรรมเนียมสากลทางทหารที่ถือกันว่า การชักธงกลับหัวนั้นเป็นเครื่องหมายของการยอมแพ้ หรือสถานที่นั้นถูกยึดครองโดยอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ฉะนั้นการที่มีพระราชดำริให้เปลี่ยนธงช้างมาเป็นธงริ้วแดงสลับขาวรวมกันเป็นห้าแถบเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น จึงน่าจะมาจากสาเหตุดังกล่าว เพราะธงริ้วแดงสลับขาวห้าแถบที่โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นไม่ว่าจะประดับหรือชักขึ้นเสาอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะกลับหัวไปได้

 

                อนึ่ง ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงริ้วแดงสลับขาวรวมห้าแถบเป็นธงค้าขายสำหรับชักในเรือของพ่อค้าและสาธารณชนแทนธงช้างเดิมมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงค้าขายนี้ขึ้นที่เสาธงในบริเวณสนามเสือป่าเพื่อให้ผู้ที่ได้พบเห็นได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเมื่อผู้ใช้นามแฝงว่า “อะแควเรียส” ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ฉบับวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยได้เสนอความห็นไว้ว่า

 

 

                “...ริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเปนสีน้ำเงิน ดังนี้ริ้วขาวที่กระหนาบสงข้างประกอบกับริ้วน้ำเงินกลางก็จะรวมกันเปนสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสีแดงกับขาวที่ริมประกอบกันก็จะเปนสีสำหรับชาติ และด้วยประการฉะนี้กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง, ฃาว, กับน้ำเงิน อันเปนสีธงสามสี (ฝรั่งเศส), ยูเนียนแย๊ก (อังกฤษ), และธงดาวและริ้ว (อะเมริกัน)

 

                ดังนี้ ถ้ามีธงใหม่ขึ้นเช่นว่านี้ ก็จะได้เปนเครื่องหมายกิจการสำคัญยิ่งอัน ๑ ในตำนานประเทศนี้ และการที่ใช้สามสีนี้สัมพันธมิตร์สำคัญๆ ของกรุงสยามก็จะรู้สึกว่าเปนการยกย่องเฃาเปนแน่แท้ ทั้งการที่มีสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วยนั้น ก็จะเปนเครื่องเคือนให้ระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในสมัยเมื่อประเทศนี้ได้ดำเนินไปในขั้นสำคัญอย่างยิ่ง...”  [๑๖]

 

 

                จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนลองเขียนรูปธง โดยเปลี่ยนแถบสีแดงที่กลางผืนธงมาเป็นสีน้ำเงินแก่อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ครั้นได้ทอดพระเนตรแบบธงใหม่นั้นแล้ว ทรง “...ยอมรับว่า ฃองเขาขำขึ้นกว่าธงที่ใช้อยู่บัดนี้...”  [๑๗] จึงได้ทรงนำเรื่องการเปลี่ยนธงชาตินี้เข้าปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐” เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ให้เปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่โปรดให้ใช้แทนธงช้างเดิมมาแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มาเป็นธงไตรรงค์ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ทั้งนี้ทรงมุ่งหมายให้ธงไตรรงค์นี้ “...เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตร์หมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบ ปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกย์ ให้ประลัยไป...”  [๑๘]

 

                ธงไตรรงค์ที่ทรงพระราชดำริขึ้นใหม่นั้น มีรูปลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ คือ “...รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่าธงไตรรงค์...”  [๑๙]

 

                นอกจากนั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์คำอธิบายความหมายของแถบสีทั้งสามที่ประกอบกันเป็นธงไตรรงค์นั้นว่า

 

        “ขอร่ำรำพรรณบรรยาย

ความคิดเครื่องหมาย

แห่งสีทั้งสามงามถนัด

 

        ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
ที่พึ่งคุ้มจิตไทย  
        แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา  
        น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา
ธ โปรดเป็นของส่วนองค์  
        จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย  
        ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยาม ฯ”   [๒๐]  

 

 

        ๕. ไชโย ไชโย ไชโย

                สืบเนื่องจากการที่ทรงนำเสือป่ากองพลหลวงรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เดินทางไกลจากพระราชวังสนามจันทร์ไปบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์พระนเรศวรที่ริมหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ในระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ได้ทรงเริ่มธรรมเนียมประชุมสวดมนต์เย็นขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างประทับแรมที่กำแพงแสน เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยได้เสด็จลงที่หน้าพลับพลาเวลา ๒ ทุ่มครึ่ง ทรงนำสวดมนต์ เริ่มด้วย “อรห สัมมา ฯลฯ แล้วสวดอิติปิโสกับคำนมัสการคุณานุคุณ คำไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ร้องสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรยาวตำนับเป็นจบการนมัสการ

 

                แต่โดยที่บทร้องสรรเสริญพระบารมีนั้นต่างเหล่าต่างมีคำร้องต่างๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งคำสุดท้ายที่ส่งว่า “ฉนี้” มักจะร้องเพี้ยนเป็น “ชนี” จนยากที่แก้ให้หายได้นอกจากแปลงคำเสียใหม่ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทร้องสรรเสริญพระบารมี เป็นดังนี้

 

 

               “ฃ้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาลบุณอะดิเรก เอกบรมจักริน พระสยามินทร์พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเปนศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย ดุจะถวายไชย ชะโย ฯ”  [๒๑]

 

 

          อนึ่ง เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว ได้เสด็จประทับบนเกย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและทหารกับตำรวจภูธรที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้น เดินแถวถวายตัว ทรงประน้ำมนต์ให้ และเมื่อเดินผ่านที่ประทับนั้นต่างคนร้อง “ไชโย” เป็นคำอวยไชย จากนั้นมาจึงนิยมกล่าวคำอวยไชยว่า “ไชโย ไชโย ไชโย” แทนการโห่แล้วรับฮิ้วสามลาดังที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ

 

 

        ๖. พระราชนิยมเรื่องสร้างโรงเรียนแทนวัด

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาลเนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาลแล้ว ต่อมาในการปลงศพ ปั้น อุปการโกษากร ภรรยาของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) และท่านผู้หญิงสุทธิ์ วิเชียรคีรี ณ วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ทายาทของปั้นได้

 

 

                “...ตกลงกันเห็นว่า สถานที่ศึกษาเปนสิ่งสำคัญอันเปนประโยชน์ให้กุลบุตร์ได้อาศรัยเล่าเรียน ซึ่งเปนเวลาต้องการของบ้านเมืองด้วย และเมื่อปั้นยังมีชีวิตอยู่ได้เปนมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามตลอดมาจนถึงแก่กรรม จึงคิดสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดนี้ ..เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ใช้สถานที่นี้กระทำการฌาปนกิจศพปั้น แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้แล้ว แลได้มอบตึกหลังนี้แก่กรมศึกษาธิการใช้เปนสถานศึกษาตามที่เจตนาไว้ กรมศึกษาธิการได้รับแลเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยม เรียกว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษวัดสุทธิวราราม” รับนักเรียนเข้าเล่าเรียนตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เปนต้นไป บรรดาผู้ที่ออกทรัพย์ก่อสร้างโรงเรียนขอพระราชทานถวายพระราชกุศล

 

 

                เมื่อกระทรวงธรรมการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลที่ทายาทของปั้น อุปการโกษากร ได้ร่วมกันบำเพ็ญแล้ว ยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กระทรวงธรรมการเชิญกระแสพระราชดำริและพระราชนิยมว่าด้วย เรื่อสร้างโรงเรียนแทนวัด ออกประกาศให้มหาชนได้ทราบทั่วกัน ดังนี้

 

 

                “แต่ก่อนมาผู้ใดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็มักจะสร้างวัดขึ้น การสร้างวัดขึ้นใหม่เช่นนั้น โดยมากก็คงอยู่ได้ชั่วคราว คือ ชั่วอายุแลกำลังของบุคคลที่ปกครองรักษา ถ้าขาดความทะนุบำรุงเมื่อใดวัดที่สร้างขึ้นไว้ก็รกร้างว่างเปล่าเปนป่าพง อันเปนที่สลดใจแห่งพุทธศาสนิกชน ใช่แต่เท่านั้น แม้วัดซึ่งยังเปนที่อาศรัยได้อยู่บ้าง แต่ขาดความปกครองอันดี ปล่อยให้ทรุดโทรมรกเรื้อเลวทราม ก็กลับจะเปนซ่องที่อาศรัยแอบแฝงของผู้ประพฤติชั่ว สถานที่ซึ่งตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้กลับเปนทางชั่วร้าย มิได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทั้งพุทธจักร์แลอาณาจักร์เลย การที่พวกบุตร์ของปั้นได้มีน้ำใจศรัทธาบำเพ็ญกุศลโดยวิธีสร้างโรงเรียนอันเปนสิ่งต้องการในสมัยนี้ขึ้น ให้เปนที่ศึกษาของประชาชน นับว่าเปนการแผ่ผลให้เปนสาธารณประโยชน์ต่อไปเช่นนี้ ทรงพระราชดำริห์เห็นมั่นในพระราชหฤทัยว่าจะมีผลดีทั้งฝ่ายพระพุทธจักร์แลอาณาจักร์ จะเปนผลานิสงษ์อันงามจริง เปนอันพอพระราชหฤทัย แลต้องด้วยพระราชนิยมยิ่งนัก จึงทรงสรรเสริญแลทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลอันนี้ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชนิยมอันนี้ให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้ใดมีจิตรศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประสงค์จะบำเพญกุศลให้เปนผลานิสงษ์อันดีจริงแล้ว ก็ควรจะถือเอาการสร้างโรงเรียนว่าเปนการกุศลที่จะพึงกระทำอันหนึ่งได้ ถ้าหากมีความประสงค์ที่จะทำการอันใดซึ่งเปนทางสร้างวัด ก็ควรที่จะช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดที่มีอยู่แล้ว ให้ดีงามแลสืบอายุให้มั่นคงถาวรต่อไป ดีกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ แล้วไม่รักษา ปล่อยให้ทรุดโทรมเปนที่น่าสังเวช อันเปนทางที่จะชักพาให้คนมีใจหมิ่นประมาทในพระพุทธศาสนากอบไปด้วยโทษดังกล่าวแล้วนั้น”  [๒๒]

 

 

                ต่อจากนั้นมาได้มีผู้เจริญรอยพระยุคลบาทจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และบางรายได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนามโรงเรียน ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนไว้ มีอาทิ

 

                “เบญจมราชูทิศ” พระราชทานให้เป็นนามโรงเรียนประจำมณฑล ปราจิณบุรี [๒๓], จันทบุรี, ราชบุรี, และปัตตานี กับเป็นนามโรงเรียนประจำจังหวัดอุทัยธานี [๒๔] มณฑลนครสวรรค์ และโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มณฑลนครศรีธรรมราช

                โรงเรียนประจำมณฑลภูเก็ต พระราชทานนามว่า “ตัณฑวณิชวิทยาคม” [๒๕]

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลปราจิณ พระราชทานนามว่า “ดัดดรุณี”

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลจันทบุรี พระราชทานนามว่า “ศรียานุสรณ์”

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “ราชินูทิศ”

                โรงเรียนประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “ห้องสอนศึกษา”

                โรงเรียนประจำจังหวัดน่าน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “สุริยานุเคราะห์” [๒๖]

                โรงเรียนประจำจังหวัดลำพูน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “จักรคำคณาธร”

                โรงเรียนประจำจังหวัดแพร่ มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “พิริยาลัย”

                โรงเรียนประจำจังหวัดหล่มสัก มณฑลเพชรบูรณ์ พระราชทานนามว่า “ศักดิ์วิทยาคาร” [๒๗]

                โรงเรียนประจำจังหวัดตรัง มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามว่า “วิเชียรมาตุ”

                โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเพชรบุรี มณฑลราชบุรี พระราชทานนามว่า “เบญจมเทพอุทิศ”

                โรงเรียนประจำอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “มุกดาลัย”

                โรงเรียนประจำอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “อุเทนวิทยาคาร”

                โรงเรียนเบญจมราชาลัย มณฑลกรุงเทพฯ

                โรงเรียนสายปัญญา มณฑลกรุงเทพฯ

                โรงเรียนมหินทรศึกษาคาร จังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี

                โรงเรียนสมัคพลผดุง จังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี

                โรงเรียนปลูกปัญญา จังหวัดภูเก็ต มณฑลภูเก็ต

                โรงเรียนเพาะปัญญา จังหวัดตรัง มณฑลภูเก็ต

 

 

 


[ ]  หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). คำอธิบายกฎหมายปกครอง, หน้า ๑๙ - ๒๐.

[ ]  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๐๖.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๗ - ๔๘.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบำเรอบริรักษ์

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิธร

[ ๑๑ ]  พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ข้อ ๑๙ บัญญัติไว้ว่า “ธงชาติ พื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติชาวสยาม”

[ ๑๒ ]  “ประกาศเพิ่มเติมแลแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๙), หน้า ๒๓๘.

[ ๑๓ ]  “บรรทึกเรื่องธงชาติ”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๔ (๑ พฤษภาคม ๒๔๗๐), หน้า ๒๗๕.

[ ๑๔ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). “เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนธงชาติไทย”, พระราชกรณียกิจสำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖, หน้า ๒๔.

[ ๑๕ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๖ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๙๔ - ๑๙๕.

[ ๑๗ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๘ ]  “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๔ (๓๐ กันยายน ๒๔๖๐), หน้า ๔๓๗.

[ ๑๙ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๘.

[ ๒๐ ]  วรรณะสมิต (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว). “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์”, ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ (๒๔๖๑), หน้า ๔๒.

[ ๒๑ ]  จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๑๙.

[ ๒๒ ]  “แจ้งความกระทรวงธรรมการ พแนกกรมธรรมการ ประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๖ สิงหาคม ๑๓๐),หน้า ๘๙๖ - ๘๙๙.

[ ๒๓ ]  ต่อมาภายหลังยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เปลี่ยนโรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชูทิศ” ต่อมาได้ยุบรวมกับ โรงเรียนวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เบญจมราชรังสฤษฏิ์”

[ ๒๔ ]  ต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนอุทัยทวีเวท แล้วเปลี่ยนนามเป็น “อุทัยวิทยาคม”

[ ๒๕ ]  ปัจจุบันคือ โรงเรียนสตรีภูเก็ต

[ ๒๖ ]  ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น “ศรีสวัสดิ์วิทยาคาร”

[ ๒๗ ]  ต่อมายุบรวมกับโรงเรียนสตรีหล่มสัก “สตรีวิทยา” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “หล่มสักวิทยาคาร”

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |