โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๑. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๓)

 

        ๔) ธงไตรรงค์

 

               มูลเหตุสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นกล่าวกันว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากธงช้างซึ่งเป็นมีภาพพิมพ์รูปช้างบนผืนธงสีแดงนั้นเป็นของที่ต้องสั่งทำจากต่างประเทศ ทั้งมีราคาสูง นอกจากนั้นยังปรากฏอีกว่า “...ธงสำหรับชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลสาธารณชน [] บรรดาที่เปนชาติชาวสยามยังไม่เหมาะ โดยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้แม้แลแต่ไกลแล้ว เห็นผิดแผกกับธงราชการน้อยนัก แลทั้งรูปช้างที่ใช้กันอยู่ก็ไม่งดงาม จนเกือบไม่ทราบว่าช้างหรืออะไร เปนเพราะวาดรูปช้างนั้นเปนการลำบากนั่นเอง...”  []

 

 

ภาพเขียนที่จิตรกรชาวอังกฤษเขียนขึ้นดมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงสมัครไปรบในสงครามบัวร์ร่วมกับนายทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัมของอังกฤษ

โดยเขียนรูปธงช้างไว้ที่มุมซ้ายบนของภาพ

 

 

               แต่มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์นั้น “...เพราะทรงพระราชดำริห์ว่า ธงช้างทำยาก และไม่คร่ได้ทำแพร่หลายในประเทศ ที่มีขายอยู่ดาษดื่นในตลาดมักจะเปนธงที่ทำมาจากต่างประเทศ ประเทศที่ทำไม่รู้จักช้าง ทำรูปร่างไม่น่าดู ทั้งคนใช้ถ้าไม่ระวังก็มักจะชักธงกลับ...”  [] ดังเช่นที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรราษฎรประดับธงช้างกลับหัว “...ในลักษณะช้างนอนหงาย, เอาสี่เท้าชี้ฟ้า...”  [] เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ คราวเสด็จพระราชดำเนินไปวัดเขาสะแกกรัง เมืองอุทัยธานีว่า “...เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นธงผืนที่กล่าวนั้น, ..ฉับพลันสายพระเนตรก็แปรไปเมินมองทางอื่น, เสมือนมิได้มีสิ่งใดเป็นที่พึงสังเกตผิดปกติเกิดขึ้น, แต่ทว่าสีพระพักตร์นั่นสิ, ...ดูประหนึ่งจะทรงมีความสะเทือนพระราชหฤทัยไปในทางสลดสังเวชมากกว่าทรงพระพิโรธ, หรือไม่พอพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง,...”  [] อาจจะเป็นเพราะทรงตระหนักในพระราชหฤทัยถึงความรีบร้อนของราษฎรที่มุ่งหมายจะแสดงความจงรักภักดีให้ปรากฏ แต่การชักธงชาติกลับหัวนี้มีแบบธรรมเนียมสากลทางทหารที่ถือกันว่า การชักธงกลับหัวนั้นเป็นเครื่องหมายของการยอมแพ้ หรือสถานที่นั้นถูกยึดครองโดยอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ฉะนั้นการที่มีพระราชดำริให้เปลี่ยนธงช้างมาเป็นธงริ้วแดงสลับขาวรวมกันเป็นห้าแถบเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น จึงน่าจะมาจากสาเหตุดังกล่าว เพราะธงริ้วแดงสลับขาวห้าแถบที่โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นไม่ว่าจะประดับหรือชักขึ้นเสาอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะกลับหัวไปได้

 

 

ธงริ้วแดงขาว ซึ่งใช้เป็นธงสำหรับเรือค้าขาย

 

 

               อนึ่ง ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงริ้วแดงสลับขาวรวมห้าแถบเป็นธงค้าขายสำหรับชักในเรือของพ่อค้าและสาธารณชนแทนธงช้างเดิมมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงค้าขายนี้ขึ้นที่เสาธงในบริเวณสนามเสือป่าเพื่อให้ผู้ที่ได้พบเห็นได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเมื่อผู้ใช้นามแฝงว่า “อะแควเรียส” ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ฉบับวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยได้เสนอความห็นไว้ว่า

 

 

                “...ริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเปนสีน้ำเงิน ดังนี้ริ้วขาวที่กระหนาบสงข้างประกอบกับริ้วน้ำเงินกลางก็จะรวมกันเปนสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสีแดงกับขาวที่ริมประกอบกันก็จะเปนสีสำหรับชาติ และด้วยประการฉะนี้กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง, ฃาว, กับน้ำเงิน อันเปนสีธงสามสี (ฝรั่งเศส), ยูเนียนแย๊ก (อังกฤษ), และธงดาวและริ้ว (อะเมริกัน)

 

                ดังนี้ ถ้ามีธงใหม่ขึ้นเช่นว่านี้ ก็จะได้เปนเครื่องหมายกิจการสำคัญยิ่งอัน ๑ ในตำนานประเทศนี้ และการที่ใช้สามสีนี้สัมพันธมิตร์สำคัญๆ ของกรุงสยามก็จะรู้สึกว่าเปนการยกย่องเฃาเปนแน่แท้ ทั้งการที่มีสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วยนั้น ก็จะเปนเครื่องเคือนให้ระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในสมัยเมื่อประเทศนี้ได้ดำเนินไปในขั้นสำคัญอย่างยิ่ง...”  []

 

 

                จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนลองเขียนรูปธง โดยเปลี่ยนแถบสีแดงที่กลางผืนธงมาเป็นสีน้ำเงินแก่อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ครั้นได้ทอดพระเนตรแบบธงใหม่นั้นแล้ว ทรง “...ยอมรับว่า ฃองเขาขำขึ้นกว่าธงที่ใช้อยู่บัดนี้...”  [] จึงได้ทรงนำเรื่องการเปลี่ยนธงชาตินี้เข้าปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐” เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ให้เปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่โปรดให้ใช้แทนธงช้างเดิมมาแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มาเป็นธงไตรรงค์ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ทั้งนี้ทรงมุ่งหมายให้ธงไตรรงค์นี้ “...เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตร์หมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบ ปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกย์ ให้ประลัยไป...”  []

 

                ธงไตรรงค์ที่ทรงพระราชดำริขึ้นใหม่นั้น มีรูปลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ คือ “...รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่าธงไตรรงค์...”  []

 

                นอกจากนั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์คำอธิบายความหมายของแถบสีทั้งสามที่ประกอบกันเป็นธงไตรรงค์นั้นว่า

 

 

 

 

        “ขอร่ำรำพรรณบรรยาย

ความคิดเครื่องหมาย

แห่งสีทั้งสามงามถนัด

 

        ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
ที่พึ่งคุ้มจิตไทย  
        แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา  
        น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา
ธ โปรดเป็นของส่วนองค์  
        จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย  
        ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยาม ฯ”   [๑๐]  

 

 

        ๕. ไชโย ไชโย ไชโย

                สืบเนื่องจากการที่ทรงนำเสือป่ากองพลหลวงรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เดินทางไกลจากพระราชวังสนามจันทร์ไปบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์พระนเรศวรที่ริมหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ในระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ได้ทรงเริ่มธรรมเนียมประชุมสวดมนต์เย็นขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างประทับแรมที่กำแพงแสน เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยได้เสด็จลงที่หน้าพลับพลาเวลา ๒ ทุ่มครึ่ง ทรงนำสวดมนต์ เริ่มด้วย “อรห สัมมา ฯลฯ แล้วสวดอิติปิโสกับคำนมัสการคุณานุคุณ คำไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ร้องสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรยาวตำนับเป็นจบการนมัสการ

 

 

พระเจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

                แต่โดยที่บทร้องสรรเสริญพระบารมีนั้นต่างเหล่าต่างมีคำร้องต่างๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งคำสุดท้ายที่ส่งว่า “ฉนี้” มักจะร้องเพี้ยนเป็น “ชนี” จนยากที่แก้ให้หายได้นอกจากแปลงคำเสียใหม่ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทร้องสรรเสริญพระบารมี เป็นดังนี้

 

 

               “ฃ้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาลบุณอะดิเรก เอกบรมจักริน พระสยามินทร์พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเปนศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย ดุจะถวายไชย ชะโย ฯ”  [๑๑]

 

 

          อนึ่ง เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว ได้เสด็จประทับบนเกย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและทหารกับตำรวจภูธรที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้น เดินแถวถวายตัว ทรงประน้ำมนต์ให้ และเมื่อเดินผ่านที่ประทับนั้นต่างคนร้อง “ไชโย” เป็นคำอวยไชย จากนั้นมาจึงนิยมกล่าวคำอวยไชยว่า “ไชโย ไชโย ไชโย” แทนการโห่แล้วรับฮิ้วสามลาดังที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ

 

 

 


[ ]  พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ข้อ ๑๙ บัญญัติไว้ว่า “ธงชาติ พื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลของสาธารณชนบรรดาที่เปนชาติชาวสยาม”

[ ]  “ประกาศเพิ่มเติมแลแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๙), หน้า ๒๓๘.

[ ]  “บรรทึกเรื่องธงชาติ”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๔ (๑ พฤษภาคม ๒๔๗๐), หน้า ๒๗๕.

[ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). “เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนธงชาติไทย”, พระราชกรณียกิจสำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๖, หน้า ๒๔.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๙๔ - ๑๙๕.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๔ (๓๐ กันยายน ๒๔๖๐), หน้า ๔๓๗.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๘.

[ ๑๐ ]  วรรณะสมิต (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว). “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์”, ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ (๒๔๖๑), หน้า ๔๒.

[ ๑๑ ]  จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๑๙.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |