ประวัติวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งในเวลานั้นคือพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อรับกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทเป็นทุนรอนของโรงเรียน โดยนำไปฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากเป็นสถานที่ทรงทดลองการจัดการศึกษาของชาติ ในลักษณะเดียวกับการที่ทรงตั้งดุสิตธานีสำหรับทดลองการปกครองในระบอบประชาธิไตยแล้ว ยังมีพระราชดำริอย่างใหม่ในการสร้างโรงเรียนแทนวัดด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์มีพระอารามหลวงอยู่มากแล้ว หากสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีก ก็จะเป็นพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นในขณะนั้นคือการให้การศึกษาแก่ราษฎร อันจะนำพามาซึ่งความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองในอนาคต ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยทรงให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้ไปตรวจพิจารณาหาสถานที่อันเหมาะสม ซึ่งได้พิจารณาเลือกที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ ‘สวนกระจัง’ บริเวณริมคลองเปรมประชากร ส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต เป็นสถานที่ตั้งถาวรของโรงเรียน
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ (Edward Healey) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์เป็นผู้วางผังโรงเรียนให้สอดรับกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากที่สวนกระจังแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนจากโรงเรียนชั่วคราวในพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ สวนกระจัง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำบุญขึ้นโรงเรียนใหม่เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔
เมื่อเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ พร้อมด้วยพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตะศิลปิน) นายช่างออกแบบของกรมศิลปากรจัดการออกแบบก่อสร้างหอสวดและหอนอนของนักเรียนแล้วเสร็จ ได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรียนถาวรด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตร
สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาไปในแนวทางแบบพับบลิคสกูลของอังกฤษแล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมสั่งสอนนักเรียนมหาดเล็กหลวงไว้เป็นพิเศษ ดังปรากฏในพระราชบันทึกที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ความว่า
ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่า ๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน ‘ชั้นมัธยม’ ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนน เท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่าง ๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุก ๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน ‘คนฉลาด’ บ่นอีกว่า ‘ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่าง ๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือจะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม
ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ด้วยในช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบให้สภาวะเศรษฐกิจไทยฝืดเคือง รัฐบาลจึงต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง รวมทั้งพระราชทรัพย์รายปีที่ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถูกตัดทอนลงด้วย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า ‘วชิราวุธวิทยาลัย’