top of page

ประวัติวชิราวุธวิทยาลัย

“ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ ที่จะเป็นปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริง ก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเป็นรากเหง้าเค้ามูล จึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น”

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสยามมกุฏราชกุมาร นิวัติพระมหานคร ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช เจ้านาย ข้าราชการ ได้นำโอรสและบุตรหลานที่ยังเยาว์ มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้และ รับเป็นพระราชธุระอบรมด้วยพระองค์เอง มหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงไว้ อาทิ ม.จ.ชัชวลิต เกษมสันต์ ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ (เจ้าพระยารามราฆพ) ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ (พระยาอนิรุทธเทวา) นายเชย มัฆวิบูลย์ (พระยาสุนทรพิพิธ) นายโถ สุจริตกุล (พระยาอุดมราชภักดี) เป็นต้น

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระราชวังสราญรมย์ ให้พระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล) ราชเลขานุการในพระองค์เป็นอาจารย์ใหญ่ ให้หม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการเป็นนักเรียน วิชาที่สอนมีทั้งวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ และวิชาพิเศษเช่น กฎหมาย การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์สากล นอกจากเรียนหนังสือแล้วยังหัดแถวแบบทหาร จำลองการซ้อมรบ และหัดโขน ทรงสอนด้วยพระองค์เองในบางครั้ง โรงเรียนในพระราชวังนี้ดำเนินมาจนได้เสวยราชสมบัติ

ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไป พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อธิบดีกรมศึกษาธิการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับกระแสพระราชดำริและเรียนพระราชปฏิบัติเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติในชั้นต้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยการจัดการศึกษาของชาติ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์ มีสถานะเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ฝากการบังคับบัญชาไว้กับสภาจางวางมหาดเล็ก ส่วนวิธีการตลอดจนแนวทางในการฝึกอบรมนักเรียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการจัดการโรงเรียนรับพระราชดำริมาปฏิบัติให้เป็นไปตามพระบรมราชประสงค์ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในโรงเรียนนี้ทั้งสิ้น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทำการเปิดการสอนการเรียนเป็นวันแรกขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2453 ที่ตึกเรียนโรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวังเป็นการชั่วคราว เมื่อสถานที่พร้อมจึงได้ย้ายการเรียนการสอนไปอยู่ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน

ภายหลังรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 7 ทรงรวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน และพระราชทานนามโรงเรียนที่รวมกันใหม่นี้ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” ในปี พ.ศ.2469 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน

bottom of page