...มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ แม้จะมีวิชาความรู้เฉลียวฉลาดปานใดก็ไม่สามารถจะรู้การงานได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เรามีชีวิตอยู่นานวันเราก็มีโอกาสเล่าเรียนวิชาความรู้มากขึ้น ประชาชนผู้มีสติปัญญามากย่อมมิได้มีความเบื่อหน่ายเกียจคร้านหรือหยุดการเล่าเรียนแม้แต่ลักขณะจิตเดียวในชั่วชีวิตของเขา คนโง่เขลาเบาปัญญาเท่านั้น จึงจะสำคัญว่าตนมีวิชาความรู้ซึ่งสูงสุด พอจะหยุดการเล่าเรียนวิชาต่อไปได้แล้ว
พระราชดำริเรื่องการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความตอนหนึ่งจากหนังสือ
"วิถีแห่งจอมปราชญ์ ตามรอยพระยุคลบาทพระมหาธีรราชเจ้า"
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ประการแรกแห่งรัชสมัย ด้วยการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ซึ่งต่อมาคือ วชิราวุธวิทยาลัย ทรงประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ต่อมาได้ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ บังคับให้เด็กทุกคนตั้งแต่อายุ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเรียนหนังสือ และทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์เพื่อควบคุมมาตรฐานการศึกษาของเอกชน นับได้ว่าทรงวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ไว้ตั้งแต่ประถมศึกษากระทั่งอุดมศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงส่งเสริมการอาชีวศึกษาและการศึกษาของสตรี โดยได้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี เป็นต้น
หลักการศึกษาที่พระราชทานไว้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นับเป็นแนวพระราชดำริที่สอดคล้องต่อปรัชญาการศึกษาที่รณรงค์กันมากในปัจจุบัน นั่นคือการเรียนรู้คู่กับการอบรมคุณธรรมและอุปนิสัย ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางการศึกษาให้เป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับเด็ก ดังพระราชปรารภตอนหนึ่งที่ว่า
"ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ข้าอยากได้ยุวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี ข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่าเด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่า ความเป็นผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร
ข้าไม่อยากได้ยิน 'คนฉลาด' บ่นอีกว่า 'ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด' สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมดโดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป
ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้ว หวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ"