โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐. รับ-ส่งเสด็จ (๒)

 

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์

 

 

          นอกจากการรับส่งเสด็จในวาระต่างๆ ดังได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จไปในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า

 

          นอกจากการรับส่งเสด็จในวาระต่างๆ ดังได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จไปในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า

 

          “เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เวลานั้นผมอายุ ๑๔ ขวบ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสภูเก็ต ท่านมีพระราชประสงค์จะเสด็จทางบก วันหนึ่งผมได้รับคำสั่งว่า ท่านเจ้าพระยารามราฆพท่านอยากพบผม ผมก็ไปกันหลายคนนักเรียนมหาดเล็กทั้งนั้น ท่านบอกว่าโปรดเกล้าฯ ให้พวกผมตามเสด็จไปด้วยเพื่อจะได้พบพ่อของตัว เพราะพ่อของคุณๆ นี่อยู่ตามรายทางที่จะเสด็จไป เวลานั้นพ่อผม  [] เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต สมัยที่ท่านเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตผมก็ไม่มีโอกาสจะไป เพราะไกลเหลือเกินไปทางบกก็ไปไม่ได้ รถไฟไปถึงชุมพรเท่านั้น ถ้าจะไปต้องลงเรืออ้อมสิงคโปร์


          พอเสด็จไปถึงชุมพร นักเรียนมหาดเล็กที่ตามเสด็จไปตอนนั้นมีหลายท่าน แต่ที่ยังเหลืออยู่เวลานี้
 
[] ก็มี ๒ คนเท่านั้น คือท่าน ม.ล.ปิ่น มาลากุล กับผม พวกเราดีใจกันใหญ่ อยู่ดีๆ ก็ได้ตามเสด็จฯ ทั้งๆ ที่เป็นนักเรียนอยู่ ไม่ต้องเรียนหนังสือ เรามารู้ทีหลังว่า ที่ท่านโปรดเกล้าฯ ให้เราตามเสด็จนั้น เป็นนโยบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือให้ลูกไปเห็นพ่อที่เป็นเจ้าเมืองอยู่ตามรายทางที่เสด็จพระราชดำเนินไป พ่อแม่ใครที่เห็นลูกได้ตามเสด็จก็ดีใจด้วยกันทุกคน

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จโดยขบวนช้างจากชุมพร ตัดไปทางตะวันตกไปลงที่ทับหลีเป็นสุดทาง แล้วเรือพระที่นั่งก็อ้อมไปรับเสด็จจากทับหลีไปภูเก็ต ผมจำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระกรุณาแก่พวกเราที่ตามเสด็จอย่างที่สุดที่ผมจะคิดได้ด้วยสติกำลังของผม คือเมื่อเราไปถึงทับหลี เจ้าเมืองหุงข้าวให้พวกเรากิน จะอย่างไรไม่ทราบ วันนั้นข้าวดิบเป็นเม็ดๆ ม.จ.ดิศานุวัต  [] บอกกับผมว่า “ข้าวดิบอย่างนี้กินท้องขึ้นตาย” ผมก็ทูลท่านว่า “กินปลาเถอะท่าน มีอย่างอื่นๆ อีกเยอะ เราอย่ากินข้าว กินกับเปล่าๆก็ได้” ก็เป็นเรื่องหัวเราะสนุกกัน พอเรากินข้าวเสร็จแล้ว เรานั่งคุยกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมา ท่านรับสั่งถามท่านดิศานุวัตว่า “กินข้าวเย็นหรือยัง?” ท่านดิศฯ ไม่กล้าจะกราบทูลอย่างไร ก็อึกอักว่า “รับพระราชทานแล้วพะย่ะค่ะ” ท่านหันมาถามพวกเราที่นั่งอยู่ว่า “อิ่มหรือเปล่า?” พวกเราก็กราบทูลว่า “ไม่อิ่มพะย่ะค่ะเพราะข้าวมันดิบ” ท่านกริ้วแปร๊ดขึ้นมาทันที ซึ่งผมไม่เคยเห็นเลย เท่าที่เคยตามเสด็จมา หรืออยู่ที่โรงเรียน ไม่เคยเห็นท่านกริ้วอย่างนั้นเลย ทรงพระพิโรธอย่างรุนแรง รับสั่งว่า “อะไรฉันมาด้วยยังหุงข้าวให้ลูกน้องฉันกินไม่เข้าอีกหรือ? เอาข้าวมาดูซิ” ท่านจับดูข้าว จับยังไงๆ มันก็แข็งเพราะมันดิบ ก็ยิ่งทรงพระพิโรธใหญ่ ก็มีคนคอยทัดทานเหมือนกัน ที่จะคอนช่วยให้ข้าหลวงฯ ไม่ให้ถูกลงโทษ ท่านรับสั่งว่า “ข้าหลวงไม่ดูแลเลย พาลูกเต้าเขามาอดข้าวอดปลา”

 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ท่านกรุณามาก ท่านกราบทูลว่า “การหุงข้าวนี่อาจจะดิบได้ เพราะเขาหุงด้วยกระทะ” ก็เป็นการอธิบายให้ท่านโกรธน้อยลง อันนี้เป็นคุณงามความดี และผมระลึกถึงท่านเจ้าคุณรามฯ อยู่จนกระทั่งผมโตแล้ว มาทำราชการร่วมกับท่านบางเวลา ก็รู้สึกว่า นิสัยใจคอท่านดีจริงๆ เป็นอันว่าเราไปถึงทับหลี แล้วก็ไม่ได้กินข้าวเย็น ท่าน ม.ล.ปิ่น ท่านรับประทานหรือเปล่า ผมไม่ได้ถามท่าน แต่ก็คงไม่ได้รับประทานเหมือนกัน เพราะข้าวมันดิบ

 

 

พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์)
เมื่อครั้งเป็น พระยาราชพินิจจัย ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          เสร็จแล้วพวกเราก็ลงเรือสำหรับออกทะเลตามเสด็จกันไปเป็นพรวน แต่งตัวนักเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งนั้น พวกเราต้องแต่งตัวเรียบร้อย เพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านคอยดูว่าใครแต่งตัวอย่างไรบ้าง พอไปถึงก็ขึ้นเรือพระที่นั่ง แล่นออกจากทับหลี เช้าก็ไปถึงภูเก็ต พ่อผมท่านเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตเขาเรียกว่าข้าหลวง แล้วก็มีพลโทเจ้าคุณวิชิตวงศ์วุฒิไกร [] ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาล ท่านก็ออกมากับเรือยนต์ที่จะออกมาเฝ้าเชิญเสด็จขึ้นประทับบนฝั่ง เวลานั้นพวกเรานักเรียนมหาดเล็กหลวงก็ไปนั่งอยู่ใกล้ๆ กับในหลวง ผมก็มองๆ ดู พ่อเราเป็นข้าหลวง แต่ไม่เห็นออกมาเลย เอ๊ะ ท่านไปไหน ที่เล่านี้ก็เพราะมันลืมไม่ได้ เป็นเรื่องขันมาก มีคนยืนอยู่หน้าเรือ ๒ คน คนหนึ่งมองดูเห็นว่าเป็นเจ้าคุณวิชิตฯ แต่ไม่เห็นพ่อผม แล้วในหลวงท่านก็หันมารับสั่งกับผมวา “วิลาศเจ้าคุณพ่อไม่ได้มาเรอะ?” ผมก็กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่เห็น” คือพ่อผมท่านมีหนวดครึ้ม แต่วันนั้นคนที่ยืนมาไม่เห็นมีหนวด เพราะมันยังไกลอยู่ แต่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทราบแล้วว่าคุณพ่อผมท่านโกนหนวด ท่านรับสั่งว่า “จำพ่อไม่ได้หรือ” ผมกราบทูลว่า “คุณพ่อเคยมีหนวด นี่ไม่เห็นมีหนวดซักคน” ท่านเลยรับสั่งว่า “ก็โกนไม่ได้หรือ?” อันนี้แหละที่ผมลืมไม่ได้ เพราะท่านรับสั่งอย่างสนุกสนานของท่าน แล้วพอคุณพ่อของผมขึ้นมา ก็ไม่มีหนวดจริงๆ พระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งว่า “นี่ไงไม่มีหนวดแล้ว””  []

 

 

 

เรือพระที่นั่งมหาจักรี ลำแรก (บน) และ ลำที่สอง (ล่าง) ที่เป็นพระราชพาหนะ

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินในงานประจำปีของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๑

 
 

          แต่การรับ - ส่งเสด็จ ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การไปส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ คราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระองค์


          ในการไปส่งเสด็จคราวนั้นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย หม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล และ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยกรุ่ม สุรนันทน์ ทรงเล่าและเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในเวลานั้นบรรดาข้าราชการและนักเรียนทั่วไปต่างก็เกรงอำนาจของรัฐบาลในยุคประชาธิปไตย แม้แต่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งเคยเป็นทหารรักษาพระองค์ที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคิดคดทรยศต่อเบื้องพระยุคลบาท คงมีแต่ทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ที่ยังคงทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทต่อมา นอกจากนั้นก็มีแต่คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่ไปตั้งแถวรอส่งเสด็จคู้กับแถวทหารรักษาวัง ว.ป.ร.ที่จัดเป็นกองเกียรติยศตามพระราชประเพณีแทนทหารมหาดเล็ก เมื่อรถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านแถวนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในบรรยากาศที่เงียบสงัดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชะโงกพระพักตร์ออกมานอกรถยนต์พระที่นั่ง ทรงโบกพระหัตถ์ลานักเรียน ในขณะที่นักเรียนเก่าอาวุโสทั้งสองท่านต่างก็ยืนยันว่าได้ทอดพระเนตรและเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งพระอัสสุชลนองพระพักตร์ เหมือนกับจะทรงรู้พระองค์ว่าจะมิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาพบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยอีกแล้ว เพราะในระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่ประเทศอังกฤษนั้น ทรงขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎรอย่างรุนแรง จนถึงกับทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อจากนั้นไม่นาน พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนที่นำครูและนักเรียนไปส่งเสด็จก็ถูกปลดจากตำแหน่งเพราะเป็นพวก “เจ้า” ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครอีกเลยตราบจนเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔.

 

 

 


 

[ ]  คือ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) เวลานั้นรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทวีปธุระประสาสน์บรมนาถภักดี

[ ]  คือ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

[ ]  หม่อมเจ้าดิศศานุวัต ดิศกุล

[ ]  นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็น พระยาสุรินทราชา

[ ]  พันตรี วิลาศ ดอสถานนท์. “อดีตรำลึก”, มานวสาร ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๔ (เมษายน ๒๕๒๗), หน้า ๗๗ - ๘๒.

 

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |